กนอ. จับมือ กยท. ชูอุตสาหกรรมยางไทยตรวจสอบย้อนกลับ ดึงดูดการลงทุน


กนอ. จับมือ กยท. พัฒนาอุตสาหกรรมยางพารา ชูยางไทยตรวจสอบย้อนกลับ ดึงดูดการลงทุน ดันราคายางแตะ 3 หลัก สร้างรายได้ 2 แสนล้านบาท ชี้ราคายางพาราขึ้นแน่

วันที่ 11 มีนาคม 2567 นายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) การวิจัยพัฒนา การบริการวิชาการ และความเป็นไปได้ของการดำเนินธุรกิจยางพาราและธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่มีศักยภาพในนิคมอุตสาหกรรม ระหว่าง การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ว่า MOU ฉบับนี้ มุ่งมั่นจะพัฒนาบุคลากรและองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับยางพาราในภาคอุตสาหกรรม

ตลาดจีนแข่งยาก รถญี่ปุ่นสู้ไม่ไหว ฮอนด้า-นิสสันลดการผลิตตามมิตซูฯที่ถอนตัวแล้ว
ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด นราธร-อุรัชนา ศรีชาพันธุ์ ถูกฟ้องล้มละลาย
บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้สูงอายุรับ 900 บาท เริ่มโอนแล้ว เช็กรายละเอียด

โดยใช้ศักยภาพด้านการบริหารจัดการ นิคมอุตสาหกรรมของ กนอ. ร่วมกับความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของ กยท. เพื่อสนับสนุนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการจัดการสิ่งแวดล้อม

รวมไปถึงการดำเนินธุรกิจยางพาราและธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่มีศักยภาพในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์จากยางที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งกำเนิดของสินค้าและผลิตภัณฑ์ยางพารา รองรับการบังคับใช้กฎหมาย EU Deforestation-free Products Regulation (EUDR) ของสหภาพยุโรป ที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือน ธ.ค. 2567 เป็นการเพิ่มโอกาสในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถขยายตลาดยางพาราในสภาพยุโรปได้มากขึ้น สนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมยางพาราโดยรวมปี 2567-2568 คาดว่ายังมีทิศทางขยายตัวต่อเนื่องทั้งด้านผลผลิตและความต้องการใช้ จากภาวะฟื้นตัวของอุตสาหกรรมทั้งตลาดในและต่างประเทศ เช่น กลุ่มยานยนต์ ถุงมือยาง อุปกรณ์การแพทย์ โครงสร้างพื้นฐานที่มีแนวโน้มในการใช้ยางในการก่อสร้างเพิ่มขึ้น โดยขณะนี้มีนักลงทุนรายใหญ่จากต่างประเทศ 2 ราย ให้ความสนใจเข้ามาลงทุน ซึ่ง กนอ.มีความพร้อมด้านพื้นที่รองรับการลงทุนทั้งในนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (รับเบอร์ ซิตี้) จ.สงขลา ประมาณ 400-500 ไร่ และในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ด้วย

“การลงนาม MOU ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่ กนอ. และ กยท. จะได้ทำงานร่วมกันในการศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมยางพาราในระยะต่อไป รวมถึงการดำเนินธุรกิจยางพาราและธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่มีศักยภาพในนิคมอุตสาหกรรม ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการขับเคลื่อนการลงทุนในอุตสาหกรรมยางพารา และในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้ประสบความสำเร็จ และบรรลุเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม” นายวีริศกล่าว

ราคายางดีขึ้น
นายเพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยาง ทั้งด้านวิชาการ การเงิน การผลิต การแปรรูป การอุตสาหกรรม การตลาด และการประกอบธุรกิจ คาดว่าปีนี้จะสามารถผลักดันราคายางให้สูงขึ้นได้ถึงตัวเลข 3 หลัก ตั้งเป้าหมายสร้างรายได้เข้าประเทศ 200,000 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 85 บาท/กิโลกรัม (กก.)

สร้างรายได้แล้วกว่า 60,000-70,000 ล้านบาท นับตั้งแต่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เข้ามาดำรงตำแหน่งรมว.เกษตรและสหกรณ์ จากก่อนหน้านี้อยู่ที่ 49 บาท/กก. และนำไปสู่เป้าหมายไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพาราโลก

“นโยบายส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพารา โดยเฉพาะล้อยาง ช่วยดูดซับปริมาณผลผลิตยางออกจากตลาดได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 400,000 ตัน ซึ่งปัจจุบันผลักดันผลผลิตยางที่ได้มาตรฐานสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้แล้ว 1 ล้านตัน จากกำลังการผลิตได้ทั้งสิ้น 14 ล้านตัน ตั้งเป้าหมายปีนี้ตรวจสอบย้อนกลับได้ 2 ล้านตัน และปี 2568 ตั้งเป้าหมายเพิ่มเป็น 6 ล้านตัน”

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ ทั้ง 2 หน่วยงาน มีความตั้งใจในการผสานศักยภาพองค์ความรู้เฉพาะทาง ทั้งความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยางพาราของ กยท. และด้านการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมของ กนอ. ซึ่ง กยท. พร้อมร่วมสนับสนุน ส่งเสริมการศึกษา วิจัย พัฒนา การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ยาง โดยมุ่งเน้นการแปรรูปจากผลผลิตยางที่มาจากเกษตรกรชาวสวนยาง และสนับสนุนการลงทุนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมด้านยางพารา ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ในพื้นที่ของ กยท. และ กนอ.

รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมด้านยางพารา เพื่อให้เกิดการดำเนินธุรกิจยางพาราครบวงจรทั้งกระบวนการ ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมยางจะเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนา เพิ่มรายได้ และสร้างความยั่งยืนทางอาชีพให้กับชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกร และเพื่อประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ดียิ่งขึ้น

“หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาสร้างอุตสาหกรรมและธุรกิจยางพารา และธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่มีศักยภาพในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นต่อผู้เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนของงานยางพาราต่อไป” นายณกรณ์กล่าว

สำหรับบันทึกความเข้าใจระหว่าง กนอ. และ กยท. ครั้งนี้ มีกรอบและแนวทางการดำเนินงาน คือ 1. ส่งเสริม สนับสนุน การศึกษา วิจัย พัฒนา หรือการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยางพารา 2.สนับสนุนการลงทุนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมด้านยางพารา ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ 3. สนับสนุนการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมด้านยางพารา และอุตสาหกรรมยางพารา ผ่านการส่งเสริมการลงทุน โดย MOU ฉบับนี้มีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนาม

ที่มา https://www.prachachat.net/breaking-news/news-1519711


















11/03/2024