กยท. เยือนจีนเจรจาขายยางแบบรัฐบาลกับรัฐบาล (G2G) ดันราคายางไตรมาส 2


บิ๊กบอร์ด กยท. เยือนจีน เดินหน้าเจรจาขายยางแบบรัฐบาลกับรัฐบาล (G2G) ดันราคายางไตรมาส 2 พร้อมสร้างความเชื่อมั่นระบบข้อมูลยางไทยตรวจสอบย้อนกลับได้ จีนสนใจการสร้างมาตรฐาน EUDR
วันที่ 9 เมษายน 2567 เมื่อเร็ว ๆ นี้ การยางแห่งประเทศไทย นำโดย ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย และคณะผู้บริหารการยางแห่งประเทศไทย เข้าร่วมเจรจาความร่วมมือโครงการซื้อขายผลิตภัณฑ์ยางระหว่าง กยท. และบริษัท ชิโนเคม จำกัด ณ เมืองชิงเต่า สาธารณรัฐประชาชนจีน และเข้าร่วมการประชุมวิชาการยางพารา China Rubber Conference 2024 พร้อมพบปะเจรจาพูดคุยกับผู้ประกอบกิจการ นักธุรกิจยางพาราของประเทศจีน
ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กยท.เดินหน้าเจรจาติดตามโครงการซื้อขายยางแบบรัฐบาลกับรัฐบาล (G2G) ระหว่างรัฐบาลไทยและจีน หวังปรับแก้ปัญหา เดินหน้าความร่วมมือให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ผลิตและผู้ใช้ยางอย่างเป็นรูปธรรม โดยหลังจากนี้จะเร่งจัดทำรายละเอียดในสัญญา คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า
“มิตรภาพพี่น้องไทย-จีน มิใช่แค่ธุรกิจซื้อขายยาง แต่ทุกวิกฤตมาพร้อมกับโอกาสที่ดีเสมอ ขอให้รอลุ้นกับธุรกิจที่จะช่วยลดต้นทุน-เพิ่มรายได้ให้พี่น้องชาวสวนยาง โดยเฉพาะราคาในไตรมาส 2”
สำหรับการเจรจาเพื่อติดตามความคืบหน้าความร่วมมือโครงการซื้อขายผลิตภัณฑ์ยางของรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ มอบให้การยางแห่งประเทศไทย และบริษัท ชิโนเคม จำกัด ดำเนินการซื้อขายยางจำนวน 200,000 ตัน ซึ่งเป็นความร่วมมือเป็นระยะเวลากว่า 10 ปีแล้ว ในสมัยของอดีตรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา
แต่ปัจจุบันมีบริบทของโรงสร้างตลาดยางพาราในภาคการผลิต และความต้องการใช้ยางของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น เพื่อให้ความร่วมมือดังกล่าวเกิดประโยชน์สูงสุดกับทั้งสองฝ่าย
ทาง กยท.ขอให้บริษัทชิโนเคม ร่วมกันพิจารณาข้อตกลงซื้อขายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดย กยท.จะเร่งดำเนินการเสนอเงื่อนไขของข้อตกลงฉบับใหม่ เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายนำเสนอต่อรัฐบาลของทั้งสองประเทศโดยเร็วที่สุดต่อไป เพื่อขับเคลื่อนการเจรจาธุรกิจด้านยางพาราให้ครอบคลุมในทุกมิติ
นอกจากนี้ กยท.ยังได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและความเห็นในประเด็นกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR) ที่จะมีผลบังคับใช้กับผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ในสหภาพยุโรปในปลายปี 2567 นี้ กับบริษัทชิโนเคม และสมาคมยางพาราชิงเต่า ซึ่งประเทศจีนเป็นประเทศผู้บริโภคยางธรรมชาติรายใหญ่ของโลก และมีการนำเข้ายางธรรมชาติจากต่างประเทศมากที่สุดเช่นกัน มีหลายผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมยางล้อที่สร้างมูลค่าและมีการนำเข้าสหภาพยุโรป
ซึ่งหลาย ๆ บริษัทในประเทศจีนพยายามศึกษาและเรียนรู้ และหาแนวทางเกี่ยวกับการดำเนินการตามหลักกฎระเบียบของ EUDR ในขณะเดียวกัน กยท.ให้ความเชื่อมั่นในกระบวนการดำเนินงานในฐานะประเทศผู้ผลิตในการบริหารจัดการผลผลิตให้สามารถดำเนินการตรวจสอบย้อนกลับการบริหารจัดการความเสี่ยง ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกร สังคม และสิ่งแวดล้อมให้มีความยั่งยืน เพื่อให้ผู้ผลิตอยู่ได้ อุตสาหกรรมอยู่รอด ทั้งห่วงโซ่อุปทานยางพาราจะต้องยั่งยืน
“เป้าหมายภารกิจนี้นับว่าบรรลุวัตถุประสงค์ในระดับหนึ่ง ที่ กยท.หวังว่าการเจรจาในการเยือนประเทศจีนครั้งนี้ นอกจากจะหาแนวทางและวิธีการในการลดต้นทุนการผลิต และยกระดับรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยางให้ดียิ่งขึ้น และที่สำคัญการเยือนชิโนเคม และพบปะหลาย ๆ บริษัทในประเทศจีนยังเป็นการย้ำเจตนารมณ์ด้านมิตรภาพและความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศ”
ที่มา https://www.prachachat.net/economy/news-1539647


















09/04/2024