ส่งออกถุงมือยางปี 2566 หืดจับ สต๊อกเก่าล้นโลก-สหรัฐแบนลาเท็กซ์


จับตาส่งออกถุงมือยาง หลัง “สหรัฐ” งัด กม.คุมเข้มห้ามใช้ถุงมือยางลาเท็กซ์ “อิลลินอยส์” บังคับใช้เป็นรัฐที่ 8 หวั่นกระทบตลาด 2.1 หมื่นล้านบาท ฟาก STGT ยอมรับกระทบ แต่ไม่มาก เหตุยอดส่งออกส่วนใหญ่เป็นถุงมือยางสังเคราะห์ ด้านสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย เผยสถานการณ์ตลาดโดยรวมประสบปัญหา “สต๊อกบวม” ฉุดออร์เดอร์ไตรมาส 1/2566 แผ่ว ขณะที่ “โรงงานถุงมือยางหน้าใหม่” ตกสวรรค์ ดัมพ์ราคาโละสต๊อกหนีตาย

สินค้าถุงมือยางเป็นสินค้าส่งออกดาวรุ่งที่เติบโตก้าวกระโดดในช่วงโควิด-19 สร้างรายได้ให้ธุรกิจส่งออกอย่างมาก โดยสหรัฐฯเป็นตลาดหลักปี 2565 มูลค่าอยู่ที่ 21,619 ล้านบาท

สหรัฐแบนถุงมือลาเท็กซ์

แหล่งข่าวจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก เปิดเผยว่า รัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ออกกฎหมายห้ามใช้ถุงมือยางลาเท็กซ์ (latex gloves) ซึ่งผลิตจากวัสดุยางจากธรรมชาติในกลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจบริการอาหาร (food service) และกลุ่มอุตสาหกรรมการบริการทางการแพทย์ (health care)

โดยเริ่มบังคับใช้ในกลุ่มผู้ให้บริการอาหาร และกลุ่มผู้ให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน (emergency medical Services หรือ EMS) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา และจะขยายสู่กลุ่มผู้ให้บริการทางการแพทย์ทั่วไปวันที่ 1 มกราคม 2567 เนื่องจากมีการตรวจพบว่า ประชาชนสหรัฐกว่า 3 ล้านคนมีอาการแพ้สารจากผลิตภัณฑ์ลาเท็กซ์

สำหรับรัฐอิลลินอยส์ นับเป็นรัฐที่ 8 ที่ใช้กฎหมายนี้ นับตั้งแต่ปี 2562 ที่มีรัฐและเมืองในสหรัฐ 7รัฐ และ 1 เมือง พิจารณาผ่านร่างกฎหมายห้ามใช้ถุงมือยางลาเท็กซ์ในอุตสาหกรรมธุรกิจบริการอาหารและอุตสาหกรรมการบริการทางการแพทย์ ได้แก่ รัฐแอริโซนา รัฐแคลิฟอร์เนีย รัฐคอนเนกทิกัต รัฐฮาวาย รัฐโอไฮโอ รัฐโรดไอแลนด์ รัฐแมสซาชูเซตส์ และเมืองบอสตัน

นอกจากนี้ วิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้เกิดปัญหาห่วงโซ่อุปทานถุงมือยาง สหรัฐจึงมีนโยบายสนับสนุนภาคการผลิตสินค้าถุงมือยางจากวัสดุทดแทนยางธรรมชาติภายในประเทศ ทั้งประเภทที่ใช้สำหรับทางการแพทย์ และประเภทที่ใช้สำหรับอาหาร ในหลายรัฐ ได้แก่ รัฐอิลลินอยส์, รัฐจอร์เจีย, รัฐแมรีแลนด์, รัฐเซาท์แคโรไลนา และรัฐเทกซัส เป็นต้น

STGT มั่นใจไม่กระทบ-ดีมานด์ฟื้น

นางสาวจริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กฎหมายห้ามใช้ถุงมือยางลาเท็กซ์ของสหรัฐ อาจมีผลกระทบบ้าง แต่ไม่มากนัก เนื่องจากเป็นการบังคับใช้กฎหมายแค่บางรัฐ

อีกทั้งสัดส่วนการขายไปยังตลาดสหรัฐ โดยส่วนใหญ่ถุงมือยางไนไตรล์หรือยางสังเคราะห์ และเครื่องจักรในการผลิตส่วนใหญ่ของบริษัทก็สามารถผลิตได้ทั้งยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ทำให้สามารถปรับตัวได้ทัน

“เราจะมีถุงมือ non detectable protein เข้าไปทำตลาดในสหรัฐ ทดแทนถุงมือ NR ปกติด้วย จึงคาดว่ายอดการส่งออกในปีนี้จะมากขึ้น เนื่องจากเริ่มเห็นความต้องการใช้กลับมาตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน”

สำหรับผลประกอบการของ STGT ใน 3 ไตรมาส/2565 มีปริมาณการขาย 19,671 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้น 11.4% มีรายได้ 39,265 ล้านบาท ลดลง 52.8% มีกำไรจากการดำเนินงาน 23,921 ล้านบาท ลดลง 85.9% โดยมีกำลังการผลิตในปี 2565 ที่ 48,000 ล้านชิ้นต่อปี

สมาคมชี้ไทยส่งออกไนไตรล์

ด้านนายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล นายกสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การประกาศใช้กฎหมายห้ามใช้ถุงมือยางลาเท็กซ์ในสหรัฐเป็นข่าวต่อเนื่องในช่วงหลายปี แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย แม้ตลาดสหรัฐจะเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 เพราะการส่งออกส่วนใหญ่เป็นถุงมือยางไนไตรล์ถึง 90% มีการใช้ถุงมือยางลาเท็กซ์เพียง 10% ของปริมาณการส่งออก อีกทั้งผู้ผลิตในประเทศอื่น ๆ ที่ส่งไปยังอเมริกา ทั้งไทย มาเลเซีย เวียดนาม หรืออินโดนีเซีย ส่วนใหญ่ส่งออกถุงมือยางไนไตรล์เช่นกัน

“ถุงมือยางลาเท็กซ์และไนไตรล์เป็นคนละทาร์เก็ตเซกเมนต์อยู่แล้ว แต่ละชนิดมีฟังก์ชั่นชัดเจน ซึ่งตลาดอเมริกาไม่ใช่ตลาดเดียวที่แบน ในสหภาพยุโรปก็แบนถุงมือยางลาเท็กซ์เช่นเดียวกัน แต่ส่วนใหญ่ตลาดเหล่านี้ใช้ไนไตรล์เป็นหลัก เช่นกันกับผู้ส่งออกทั่วโลกก็ผลิตไนไตรล์เป็นหลัก”

จับตาตลาดอืดโอเวอร์อินเวนทอรี่

นายวีรสิทธิ์กล่าวว่า การส่งออกถุงมือยางไทยในปี 2566 จะได้รับผลกระทบจากภาวะลูกค้าต่างประเทศมีสต๊อกล้น (over Inventory) มากกว่า เนื่องจากมีการสั่งซื้อเข้าไปเป็นจำนวนมากในช่วงวิกฤตโควิดตลอด 1-2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ลูกค้า โดยเฉพาะตลาดหลักคือสหรัฐและสหภาพยุโรปต้องระบายสินค้าในสต๊อกก่อน คาดว่าจะใช้เวลา 1-3 เดือน หรือยาวไปจนถึง 12 เดือน ทำให้ภาพรวมการส่งออกในปีนี้จะไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก หากเพิ่มขึ้นก็จะเพิ่มไม่มาก เว้นแต่ลูกค้าจะเคลียร์สต๊อกได้เร็ว ซึ่งจะเห็นความชัดเจนในครึ่งปีหลัง

“ผู้ผลิตถุงมือยางในตลาดโลก ตั้งแต่ครึ่งปีหลัง 2565 ถึงปีนี้ ทั้งจากมาเลเซียและจีนต่างประกาศหยุดการลงทุน อาจมีบางส่วนที่ขยายบ้าง แต่ไม่มากนัก ที่ผ่านมาภาพรวมการผลิตของโลกเปลี่ยนแปลงจากความต้องการใช้เพิ่มขึ้นรวดเร็ว หลายโรงงานจึงเร่งขยายกำลังการผลิต บางรายยังขยายไม่เสร็จ แต่สถานการณ์ปรับตัวสู่ระดับปกติแล้วก็มี ทำให้มีการประกาศหยุดบ้าง ซึ่งน่าจะใช้เวลาสักพักในการกลับมาบาลานซ์ใหม่ รอให้เคลียร์สต๊อกกลับมาปกติ”

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มความต้องการถุงมือยางในตลาดโลก ตามข้อมูลสมาคมถุงมือยางมาเลเซียอยู่ที่ 300,000-400,000 ล้านชิ้นต่อปี เป็นอัตราทรงตัว แม้จะมีปัจจัยจากการที่จีนเปิดประเทศเร็วขึ้น ทำให้การแพร่ระบาดของโควิดมีโอกาสกลับมา ซึ่งแนวโน้มความต้องการน่าจะทรง ๆ อยู่ในระดับนี้ในอีก 1 ปีข้างหน้า

แนวโน้มราคาส่งออกลด

สำหรับแนวโน้มราคาในตลาดโลกก็ลดลง เนื่องจากลูกค้าสต๊อกล้น ซึ่งผู้ซื้อบางรายที่มีสต๊อกจากการกู้เงินมาซื้อ ก็ต้องระบายขาย เพื่อยุติความเสียหาย เช่น ยอมซื้อแพงขายถูก ทั้งยังมีโรงงานผู้ผลิตหน้าใหม่หลายแห่งทั่วโลกที่เพิ่งเริ่มสร้างโรงงานในช่วงที่ตลาดเติบโตมาก ๆ แต่สายป่านไม่ยาวมากจึงไม่สามารถอดทนต่อภาวะตลาดชะลอตัวได้ จึงเร่งระบายสต๊อกออกมาเป็นแรงกดดันให้ราคาถุงมือยางในตลาดโลกลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปีก่อน แต่คาดว่าจากนี้จะกลับสู่ภาวะสมดุล

“ไตรมาส 1/2566 ราคาที่รับออร์เดอร์ใหม่ลดลงมากน้อยแตกต่างกัน บางรายอาจขึ้นราคา บางรายคงราคาเดิม หรือบางรายต้องลดราคาลงมาแข่ง ส่วนการดัมพ์ราคาขายที่ได้ยินมา ส่วนใหญ่จะเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ในต่างประเทศ เป็นการระบายสินค้าเพื่อออกจากธุรกิจนี้ ซึ่งในภาพรวมตลาดอยู่ในช่วงปรับตัว ต้องรอดูอีก 6 เดือน หรือบ้างก็ว่านานถึง 5-6 ปี”

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าผู้ผลิตรายเก่าที่ทำมานาน 20-30 ปี ไม่น่ามีปัญหา เพราะส่วนใหญ่คืนทุนหมดแล้ว แต่ถ้าเป็นรายใหม่ที่เพิ่งเข้ามาทำถุงมือยางในช่วงโควิดในระยะ 2-3 ปีนี้ คงจะมีปัญหาต้องออกจากธุรกิจไปในที่สุด เพราะโอกาสคืนทุนเป็นไปได้ยาก เว้นแต่สายป่านจะยาว รอได้ 15-20 ปี เพราะช่วงนี้เป็นไซเคิลของการปรับตัว

อัพเกรดนวัตกรรมต้องไม่แพง

ปัจจุบันไทยมีกำลังการผลิตประมาณ 60,000-70,000 ล้านชิ้น เป็นอัตราที่เติบโตจากก่อนโควิดที่อยู่ที่ 30,000-40,000 ล้านชิ้นต่อปี โดยมีตลาดส่งออกหลักคือสหรัฐและยุโรป แต่ยังมีตลาดรอง ๆ เช่น จีน เกาหลี อาเซียน และอินเดีย แต่รวมแล้วยังมีสัดส่วนน้อยกว่าตลาดหลัก ซึ่งผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกแต่ละรายจะมีการพัฒนานวัตกรรมถุงมือยางตลอดเวลา

ทั้งองค์ประกอบ สารเคมี น้ำหนักวัสดุที่ใช้ สามารถปรับเปลี่ยนได้ ขณะที่ลูกค้าส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มเดิม ทั้งโรงพยาบาล ธุรกิจบริการร้านอาหาร และสายการบิน ดังนั้น การพัฒนาสินค้านวัตกรรม หากราคาแพงมากตลาดอาจไม่ยอมรับ จึงควรปรับให้ตรงจุดมากกว่า

“เรากับมาเลเซียเป็นผู้ผลิตถุงมือยางที่เริ่มต้นพร้อมกัน แต่ของไทยอาจไม่โดดเด่นเท่า แต่ก็พัฒนาจนกระทั่งอุตสาหกรรมนี้กลายเป็นหนึ่งในเสาหลักของประเทศ ทำให้ต้องมีมาตรการส่งเสริมแต่ถึงอย่างไรอุตสาหกรรมนี้ยังใช้วัตถุดิบในประเทศ รัฐมีโครงการส่งเสริมผู้ผลิตสินค้ายางปลายน้ำที่ใช้ยางกี่ตัน ๆ ก็จะได้รับการชดเชยดอกเบี้ยมาช่วย ซึ่งตอนนี้ราคาตลาดยังทรงตัว”

ที่มา https://www.prachachat.net/economy/news-1189109


















29/01/2023