โรงรม-แปรรูป-สวนยางภาคใต้ ขาดแคลนแรงงานนับหมื่น


ความต้องการแรงงานต่างด้าวนับหมื่นคนในพื้นที่ภาคใต้ยังคงเป็นปัญหาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในธุรกิจโรงงานยางรมควัน โรงงานแปรรูปไม้ยาง และแรงงานกรีดยางในสวน

แม้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวง ร่างประกาศกฎกระทรวงผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติคือ กัมพูชา ลาวและเมียนมา อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่

ทั้งกรณีที่มีนายจ้างและไม่มีนายจ้าง ต้องหานายจ้างให้ได้ภายในระยะเวลา 90 วัน ได้ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 นั้น

แต่มติ ครม.ดังกล่าวเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ไม่ได้แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม

และภาคเกษตรกรรมที่เกิดขึ้นในหลายธุรกิจ ดังนั้น หลายฝ่ายจึงต้องการให้ภาครัฐหาแนวทางแก้ไข เพื่อไม่ให้กระทบกับภาพรวมเศรษฐกิจ

นายเรืองยศ เพ็งสกุล ประธานวิสาหกิจชุมชนคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อยถ้ำพรรณรา (วคยถ.) ซึ่งมีเครือข่ายหลายจังหวัดในภาคใต้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กลุ่มเครือข่ายโรงงานยางรมควัน โรงงานแปรรูปไม้ยาง และกลุ่มสวนยางมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวอย่างหนัก

เนื่องจากมติ ครม.เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 63 ผ่อนปรนเฉพาะแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทย ส่วนแรงงานต่างด้าวที่เคยทำงานในประเทศไทย

แต่ได้เดินทางกลับประเทศไป ไม่สามารถกลับเข้ามาได้หลังเกิดการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 โดยเฉพาะแรงงานที่อยู่ในกลุ่มแรงงานเอ็มโอยูต่างด้าว สปป.ลาว และกัมพูชา

ส่งผลกระทบต่อธุรกิจต่าง ๆ ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะโรงงานยางรมควันคาดว่าขาดแคลนแรงงานประมาณ 10,000 คน ขณะที่สวนยางขนาดใหญ่ 20 ไร่ขึ้นไป ไม่สามารถเปิดหน้ากรีดได้เพราะขาดแคลนแรงงาน

“สำหรับโรงงานยางรมควันในเครือข่าย 1 โรงงานใช้แรงงานประมาณ 10 คน ตอนนี้เหลือคนทำงาน 5 คนต่อโรง จากทั้งเครือข่ายมีโรงงานยางรมควันประมาณ 250 โรง และที่ไม่ใช่เครือข่ายอีกนับพันโรงงาน

จึงถือเป็นการสูญเสียโอกาสไป ในขณะที่ราคายางรมควัน ราคาค่อนข้างสูง ที่ผ่านมาก่อนโควิดรอบใหม่แพร่ระบาด ทางวิสาหกิจชุมชนคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อยถ้ำพรรณราได้เคยเสนอให้หน่วยงานภาครัฐ

โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับทราบปัญหาดังกล่าว โดยแจ้งว่า กลุ่มแรงงานเอ็มโอยูต่างด้าวเหล่านี้มีสภาพความเป็นอยู่เป็นกลุ่มก้อน มีที่พักอาศัย การทำงานถาวรเปิดเผย

โดยปฏิบัติตามกฎระเบียบป้องกันไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวดทุกประการ แต่เรื่องเงียบไป”

ที่มา https://www.prachachat.net/local-economy/news-587576



















07/01/2021