อินเดีย: อุตสาหกรรมยางพาราธรรรมชาติตกที่นั่งลำบาก


การฟื้นตัวของตลาดยางพาราธรรมชาติของอินเดีย จะขึ้นอยู่กับว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาอย่างไรในอีก 3 ไตรมาสข้างหน้า ตามข้อมูลของคณะกรรมการยางพารา

“สถานการณ์ของตลาดมีความไม่แน่นอนอย่างมากในตอนนี้ ด้วยการบริโภคยางพาราธรรมชาติลดลง อย่างมาก การฟื้นตัวของราคาและตลาดของสินค้าโภคภัณฑ์ขึ้นอยู่กับว่าตลาดจะฟื้นตัวกลับมาได้เร็วเท่าไร ซึ่งอย่างไรก็ตาม คาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 3 ไตรมาส” K.N. Raghavan ผู้อำนวยการบริหารของคณะกรรมการยางพารากล่าวแก่ The hindu

ปริมาณความต้องการยางพาราธรรมชาติรวมของผู้ผลิตยางล้อภายในประเทศ คาดว่าจะตกลงไปที่ 9 แสนเมตริกตันในปีงบประมาณนี้ ซึ่งลดลงจาก 11.4 แสนเมตริกตันในปีที่ผ่านมา ดังนั้น ด้วยสถานการณ์นี้จึงไม่มีความจำเป็นที่ประเทศจะต้องนำเข้ายางพารา เขาระบุ

ด้วย covid-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำเนินงานของภาคส่วนยานยนต์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ความต้องการยางพาราธรรมชาติของบริษัทยางล้อคาดว่าจะตกลงไปที่ 9 แสนเมตริกตันในปีงบประมาณนี้ แม้ว่าบริษัทยานยนต์และยางล้อคาดว่าจะมีการบริโภคที่ต่ำกว่านั้น ซึ่งหมายความว่าช่องว่างสุทธิระหว่างการผลิตและความต้องการ จะอยู่ที่เพียง 2 แสนเมตริกตันในปีนี้ นอกจากนี้อุตสาหกรรมยังมี สต็อกอยู่ที่ 3.5 แสนเมตริกตัน ดังนั้น อินเดียจึงไม่จำเป็นต้องนำเข้ายางพาราในปีนี้เลย เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบด้านข้อมูลการผลิตของคณะกรรมการยางพารากล่าว

ตามข้อมูลทางสถิติของคณะกรรมการ ประเทศอินเดียผลิตยางพาราธรรมชาติได้ที่ 7.10 แสนเมตริกตันในระหว่างปีงบประมาณ 2019-20 เมื่อเทียบกับการผลิตในปีที่ผ่านมาที่ 6.53 แสนเมตริกตัน  โดยประมาณ 70% ของที่ผลิตได้จะใช้ในอุตสาหกรรมยางล้อ ในขณะที่ส่วนที่เหลือนำไปใช้ในภาคส่วนที่ไม่ใช่ยางล้อ เช่น แถบยางรัด ท่อยางและรองเท้า

ภายใต้ฉากทัศน์ของอุตสาหกรรมแบบปกติ ผู้ผลิตยางล้อในประเทศบริโภคยางพาราธรรมชาติประมาณ 1 แสนเมตริกตันต่อเดือน และ 12 แสนเมตริกตันต่อปี ส่วนต่างระหว่างที่ผลิตได้และการบริโภคจะนำเข้ามา ซึ่งโดยส่วนใหญ่นำเข้ามาจากประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนามและประเทศไทย โดยในปีงบประมาณที่ผ่านมา ประเทศอินเดียนำเข้ายางพาราธรรมชาติ 4.65 แสนเมตริกตัน

เพื่อที่จะลดผลกระทบจากการหดตัวอย่างรุนแรงในการบริโภค และเพื่อพัฒนาแนวทางการใช้งานยางพาราใหม่ ๆ คณะกรรมการยางพาราจึงอยู่ระหว่างกระบวนการวางแผนรายการกิจกรรมต่างๆ

นาย Raghavan กล่าวว่า “เมื่อตลาดชะลอตัวลง จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องสร้างเส้นทางใหม่ ๆ เพื่อขยายขอบเขตการใช้งานยางพาราธรรมชาติ พวกเรากำลังก่อตั้งศูนย์บ่มเพาะที่ผู้ประกอบการขนาดเล็กและ ขนาดเล็กมากสามารถมาเรียนรู้ที่จะออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพาราและการนำไปใช้ประโยชน์รูปแบบใหม่ ๆ ยางพาราธรรมชาติสามารถใช้เป็นสิ่งทดแทนพลาสติกและวัสดุอื่น ๆ ได้ในหลายกรณี พวกเรายัง ทำงานร่วมกับ Dermatological Society of India  เพื่อที่จะเพิ่มการใช้งานผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากยางพาราธรรมชาติในภาคสาธารณสุข”

 คณะกรรมการยางพารารายงานถึงการหายไปของกำลังการผลิตที่ 65,000 เมตริกตันในเดือนเมษายนและพฤษภาคม

 

ที่มา https://globalrubbermarkets.com/219581/india-natural-rubber-sector-on-a-sticky-wicket.html


















17/07/2020