บริษัทถุงมือยางของมาเลเซียจะได้รับผลกระทบจากกฎระเบียบใหม่เกี่ยวกับการเสียภาษีแรงงานต่างชาติ (levy)


บริษัทและผู้ผลิตถุงมือยางของมาเลเซียคาดว่ารายได้ของตนจะได้รับผลกระทบในปีนี้ จากกฎระเบียบที่กำหนดให้ต้องรับผิดชอบอย่างเต็มที่ในการเสียภาษีแรงงานต่างชาติ

จากรายงานการวิจัยของธนาคาร CIMB คาดว่า บริษัทถุงมือยางของมาเลเซียจะได้รับผลกระทบเชิงลบระหว่างร้อยละ 1-3 จากการที่อุตสาหกรรมดังกล่าวต้องพึ่งแรงงานต่างชาติเป็นอย่างสูง โดยคาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมถุงมือยางของมาเลเซียจะจ้างแรงงานต่างชาติถึง 42,000 คน และจะทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 77.7 ล้านริงกิต อย่างไรก็ตาม ผลกระทบเชิงลบใดๆ จะเป็นระยะสั้น เพราะในท้ายที่สุด ผู้ผลิตถุงมือยางจะผลักภาระให้ผู้บริโภค 

บริษัท Top Glove Corp Bhd คาดว่าจะว่าจ้างแรงงานต่างชาติมากที่สุดในกลุ่มบริษัทประเภทเดียวกัน ประมาณ 7,000 คน ซึ่งจะได้รับผลกระทบมากที่สุด หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบใหม่ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เงินเหรียญสหรัฐฯ ที่แข็งค่าเมื่อเร็วๆ นี้ คาดว่าเพียงพอที่จะทดแทนผลกระทบของบริษัทฯ จากการต้องรับผิดชอบเสียภาษีแรงงานต่างชาติ

จากกฎระเบียบที่มีผลบังคับใช้ในปีนี้ นายจ้างจะต้องรับผิดชอบอย่างเต็มที่ภาษีแรงงานต่างชาติของตน และไม่สามารถหักภาษีจากค่าจ้างของลูกจ้างได้อีกต่อไป กฎระเบียบดังกล่าวอยู่ภายใต้ Employer Mandatory Commitment ซึ่งมีเป้าหมายที่จะประกันว่านายจ้างจะรับผิดชอบอย่างเต็มที่ต่อแรงงานต่างชาติของตน ตั้งแต่ขั้นตอนการสมัครงานจนกระทั่งถึงแรงงานต่างด้าวเดินทางกลับประเทศต้นทาง

Datuk Soam Heng Choon ประธานบริหารและกรรมการผู้จัดการบริษัท IJM Corp Bhd เปิดเผยว่า นโยบายใหม่ดังกล่าวจะเพิ่มค่าใช้จ่ายทางธุรกิจ และเนื่องจากมีค่าแรงงานเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายด้านการก่อสร้างก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน และประชาชนก็จะถูกกระทบด้วย เพราะในท้ายที่สุด ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจะเป็นการผลักภาระไปยังผู้บริโภค ทั้งนี้ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมก่อสร้างจะเรียกประชุมในสัปดาห์นี้ เพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป สำหรับฝ่ายก่อสร้างของบริษัท IJM นั้น ไม่ได้จ้างแรงงานต่างชาติโดยตรง เพราะผู้รับเหมาจะจ้างแรงงานต่างชาติ แต่บริษัทฯ ก็จะได้รับผลกระทบด้วย สำหรับฝ่ายปลูกยางของบริษัทฯ มีการจ้างแรงงานต่างชาติประมาณ 3,000 คน

Edward Yip ผู้จัดการอาวุโสด้านกิจการองค์กร บริษัท Kossan Rubber Industries Bhd เปิดเผยว่า นโยบายใหม่ดังกล่าวออกมา โดยไม่มีการหารือกับภาคเอกชนมาก่อน และจะเป็นแรงกดดัน เพราะต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้น และบริษัทฯ จะต้องผลักภาระให้ลูกค้า สำหรับในอนาคต บริษัทฯ จะต้องใช้ออโตเมชั่นมากยิ่งขึ้น เพื่อลดจำนวนพนักงาน

ในรายงานล่าสุดของ TA Securities ถึงแม้อุตสาหกรรมยางจะมีแนวปฏิบัติอยู่แล้วในการผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังลูกค้า แต่ก็จะเป็นความท้าทาย เพราะผู้ผลิตกำลังประสบสภาวะการแข่งขันที่รุนแรง และจากประเด็นเรื่องการแข็งค่าของเงินเหรียญสหรัฐฯและราคายางธรรมชาติและยางไนไตรล์ที่สูงขึ้น

บริษัท CIMB เปิดเผยว่า ราคาขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยการเสียภาษีก็อาจเป็นการลดขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการผลิตของบริษัทภายในประเทศ เมื่อเทียบกับบริษัทต่างชาติในอินโดนีเซีย ไทยและจีน

นอกจากการใช้ออโตเมชั่นเพิ่มขึ้นและการลดการพึ่งพาแรงงานที่ทำงานด้วยมือแล้ว ผู้ผลิตอาจมีทางเลือกในการชดเชยการต้องเสียภาษีดังกล่าว เช่น การลดสิทธิประโยชน์ เช่น เบี้ยเลี้ยง

สภาอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าของมาเลเซีย (Malaysian Iron and Steel Industry Federation หรือ MISIF) กล่าวในแถลงการณ์ว่า นโยบายใหม่จะเพิ่มต้นทุนการดำเนินการ  เพิ่มการกดดันทางการเงินต่อนายจ้าง และลดขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของภาคอุตสาหกรรม โดยหวังว่ารัฐบาลจะยกเลิกการนำนโยบายดังกล่าวที่นำไปปฏิบัติเร็วเกินไปนี้ และจะจัดให้มีการหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องที่สำคัญเช่นนี้ด้วย

ปัจจุบัน ภาษีสำหรับแรงงานต่างชาติในภาคการผลิต จะอยู่ที่ประมาณ 154 ริงกิตต่อเดือน หรือประมาณ 1,850 ริงกิตต่อปี ซึ่งหมายความว่า ผู้ผลิตที่ไม่ได้รับภาระการเสียภาษีก่อนหน้าจะต้องประสบกับต้นทุนส่วนเพิ่ม ร้อยละ 15.4 จากรายได้ขั้นต่ำ 1,000 ริงกิตต่อเดือน

สำหรับผู้ผลิตถุงมือยาง ที่แรงงานมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 10 ของต้นทุนดำเนินการ และแรงงานต่างชาติมีสัดส่วนร้อยละ 70 – 90 ของแรงงานทั้งหมด คาดว่าจะสูญเสียรายได้ระหว่างร้อยละ 8 – 11 และราคาขายเฉลี่ยอาจต้องทบทวนให้สูงขึ้น ร้อยละ 1.2 - 1.5 เพื่อชดเชยการเสียภาษี

รายงานของ CIMB เปิดเผยว่า นโยบายใหม่ดังกล่าวจะช่วยลดปัญหาแรงงานต่างชาติที่เป็นประเด็นเมื่อปีที่แล้ว เพราะจะช่วยดึงดูดแรงงานต่างชาติเข้ามาในมาเลเซีย ส่วน TA Securities เห็นด้วยว่า นโยบายเสียภาษีแรงงานต่างชาติใหม่จะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างชาติ

ขณะเดียวกัน สภานายจ้างของมาเลเซีย (Malaysian Employers Federation หรือ MEF) เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี Datuk Seri Najib Tun Razak แทรกแซงเรื่องภาษีแรงงานต่างชาตินี้ ซึ่งกำหนดให้นายจ้างต้องเสียภาษีดังกล่าว โดยมีผลบังคับใช้ ในวันที่ 1 มกราคม 2017 เป็นต้นไป ทั้งนี้ Datuk Shamsuddin Bardan กรรมการบริหารของ MEF เปิดเผยว่า ภาคอุตสาหกรรมเกือบทั้งหมดไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจดังกล่าว เพราะเป็นการบังคับให้นายจ้างเสียภาษีแรงงานต่างชาติประจำปี โดยที่รัฐบาลไม่ได้หารือก่อนการบังคับใช้

หลังการหารือกับภาคอุตสาหกรรม 159 ราย Shamsuddin เปิดเผยว่า นโยบายดังกล่าวไม่เป็นมิตรต่อธุรกิจ และไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การประกาศดังกล่าวออกมาภายในหนึ่งวัน โดยไม่มีการหารือกับภาคอุตสาหกรรมและไม่มีช่วงเวลาผ่อนปรน อีกทั้ง ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว เพราะต้นทุนไม่เพียงแต่กระทบต่อนายจ้างเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อผู้บริโภคเช่นกัน ทั้งนี้ การพึ่งพาแรงงานต่างชาติเป็นสิ่งสำคัญอย่ายิ่งยวดต่อภาคอุตสาหกรรม เพราะเป็นการพึ่งพาทรัพยากรมนุษย์ ที่ไม่สามารถเติมเต็มได้ด้วยแรงงานท้องถิ่น ภาคอุตสาหกรรมซึ่งโดยปกติจ้างแรงงานต่างชาติเป็นผู้ที่คนท้องถิ่นหลีกเลี่ยง นายจ้างจึงไม่มีทางเลือกนอกจากจะต้องพึ่งแรงงานต่างชาติเพื่อตอบสนองต่อคำสั่งซื้อของลูกค้า ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมจะยื่นเอกสารและหนังสือเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป

ขณะเดียวกัน Datuk Michael Kang Hua Keong นายกสมาคม SME (SME Association of Malaysia) เปิดเผยว่า สมาคมฯ ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจดังกล่าว เพราะนายจ้างจะเสี่ยงมากขึ้นในการสูญเสียแรงงานต่างชาติที่ถูกกฎหมาย และเนื่องจากธุรกิจจะมีต้นทุนสูงขึ้นในการจ้างแรงงานต่างชาติอย่างถูกกฎหมาย แรงงานที่ผิดกฎหมายจะเข้ามามากขึ้น การดำเนินความพยายามในการบริหารแรงงานต่างชาติในการบังคับใช้กฎระเบียบดังกล่าวจึงจะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ อีกทั้งกล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมต้องการให้นายกรัฐมนตรีเข้ามาจัดการเรื่องนี้โดยด่วนและคงการใช้ระบบเดิม โดยให้แรงงานต่างชาติเสียภาษี โดยการหักจากค่าจ้าง

ในแถลงการณ์แยก สภาอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าของมาเลเซียกล่าวว่า ในขณะที่สภาฯ เห็นด้วยกับการดำเนินความพยายามของรัฐบาลที่จะลดปัญหาของการที่คนงานหนีงาน ทำงานอย่างผิดกฎหมายในสาขาอื่นๆ และอยู่ในประเทศเกินกำหนด แต่การใช้ทางเลือกในกระบวนการประหยัดแรงงาน ผ่านทางระบบออโตเมชั่น เป็นไปไม่ได้ในเวลานี้ จากสภาวะตลาดที่ไม่แน่นอนและค่าเงินริงกิตที่อ่อนเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐฯ Datuk SohThian Lai ประธานฯ เปิดเผยว่า ภาคอุตสาหกรรมกำลังอยู่ในสภาวะทางธุรกิจที่ท้าทาย ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา และการผลักภาระต้นทุนส่วนเพิ่มไปให้ผู้บริโภคจะเป็นการสร้างแรงกดดันให้กับผู้บริโภคหรือทำให้ธุรกิจต้องลดกิจกรรมลง อีกทั้งกฎระเบียบภายใต้ Employer Mandatory Commitment (EMC) จะเป็นการลดขีดความสามารถในการแข่งขันและทำให้อุตสาหกรรมถอยหลัง

เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2016 Datuk Seri Dr. Ahmad Zahid Hamidi รองนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศว่า นายจ้างจะต้องรับผิดชอบภาษีแรงงานต่างชาติของตน ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าว มีผลบังคับใช้ตาม EMC เพื่อเป็นการประกันว่านายจ้างจะรับผิดชอบอย่างเต็มที่ต่อคนงานของตน ตั้งแต่เริ่มทำงานจนถึงกลับประเทศต้นทางTop of Form

 

ที่มา: http://rubberjournalasia.com/malaysian-rubber-glove-firms-to-be-impacted-by-new-foreign-worker-levy-rule/ วันที่ 4 มกราคม 2017



















09/01/2017