กยท.ผนึกเอกชนผุดโรงงานผลิตแท่งเชื้อเพลิงชีวมวลส่งออก


    กยท.จับมือ3ฝ่าย หนุนนโยบายยางพาราประชารัฐลงนาม MOU โครงการจัดการสวนยางอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานในระดับสากล  ด้านเอกชนต่อยอดเพิ่มมูลค่ายางพาราทุ่มกว่า 1,000 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตแท่งเชื้อเพลิงชีวมวลเพื่อการส่งออก โดยใช้ไม้ยางพาราเป็นวัตถุดิบ มั่นใจช่วยเกษตรกรขายต้นยางได้ในราคาที่สูงขึ้น
    นายเชาว์ ทรงอาวุธ รักษาการในตำแหน่ง รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)  เปิดเผยว่า กยท.ร่วมกับ สหกรณ์กองทุนสวนยางพ่วงพรมครและบริษัทสยามฟอร์เรสแมเนจเม้นท์ จำกัด  ได้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการจัดการสวนยางอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานในระดับสากล ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้โครงการยางพาราประชารัฐเพื่อพัฒนาและสร้างเกณฑ์การจัดการสวนยางอย่างยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของเกษตรกรชาวสวนยางเพื่อเพิ่มมูลค่าไม้ยางพาราให้กับเกษตรกร  ตลอดจนเพื่อพัฒนาธุรกิจอุตสหากรรมไม้ยางพาราและผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพาราอย่างครบวงจร  โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ
    ทั้งนี้ภายใต้บันทึกข้อตกลงดังกล่าว กยท. จะทำหน้าที่สนับสนุน ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกันทั้ง 3 ฝ่าย เพื่อให้การดำเนินงานสำเร็จตามเป้าหมายและจะดำเนินการพัฒนาสวนยางให้ได้ตามมาตรฐานระดับสากล เช่น มาตรฐาน FSC หรือ PEFC  ส่วนสหกรณ์กองทุนสวนยางพ่วงพรมครจะทำหน้าที่สนับสนุนชาวสวนยางและร่วมมือในการพัฒนาสวนยางให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้
    นายสุรพล คุณานันทกุล  กรรมการบริหาร บริษัทสยามฟอร์เรสแมเนจเม้นท์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯพร้อมให้ความร่วมมือสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยางในการเพิ่มมูลค่าในการขายไม้ยางพาราและผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพาราทั้งในและต่างประเทศ  ซึ่งบริษัทฯมีแผนที่จะลงทุนสร้างโรงงานผลิตแท่งเชื้อเพลิงชีวมวลจากไม้ยางพาราเพื่อการส่งออก ขณะนี้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI ) แล้ว  คาดว่าจะใช้เงินลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท ใช้เวลาในการก่อสร้างโรงงานประมาณ 2 ปี
    สำหรับโรงงานผลิตแท่งเชื้อเพลิงชีวมวลของบริษัทฯจะใช้ไม้ยางพาราในส่วนที่เหลือใช้จากการผลิตเฟอร์นิเจอร์ เช่น กิ่ง แขนง ราก เศษขี้เลื่อยจากไม้ยางพารา เป็นต้น มาเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตแท่งเชื้อเพลิง โดยนำมาบดให้เป็นผงละเอียด จากนั้นนำไปอบแห้งเพื่อลดค่าความชื้น แล้วนำมาเข้าเครื่องอัดโดยใช้แรงดันสูงเพื่อให้สารลิกนินในเนื้อไม้ละลายออกมา ส่งผลให้ไม้เกาะติดกัน  ซึ่งจะทำให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายต้นยางพาราเมื่อครบอายุที่จะโค่น เพราะสามารถขายได้ทั้งต้น เป็นการเพิ่มมูลค่าการใช้ยางพาราให้เกิดประโยชน์สูงสุด    
    “แท่งเชื้อเพลิงชีวมวล เป็นที่ต้องการมากของตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นเพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าชีวมวล และกำลังจะขยายไปสู่การใช้เป็นเชื้อเพลิงในภาคครัวเรือน  เนื่องจากเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาด อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีปริมาณขี้เถ้าน้อยกว่าถ่านหิน การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ต่ำมาก แต่การให้พลังงานความร้อนสูงถึงประมาณ 4,500 กิโลแคลลอรีต่อกิโลกรัม นอกจากนี้ยังขนส่งได้ง่าย สะดวกสบายอีกด้วย"  กรรมการบริหารบริษัทสยามฟอร์เรสแมเนจเม้นท์ จำกัดกล่าว
    สำหรับบริษัท สยามฟอร์เรสแมเนจเม้นท์ จำกัด  เป็นบริษัทในเครือ บริษัทสยามสตีลอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตั้งขึ้นมาเพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตเชื้อเพลิงพลังงานทางเลือกที่สะอาดและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่วนสหกรณ์กองทุนสวนยางพ่วงพรมคร จำกัด จ.สุราษฎร์ธานี ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2537ได้รับการคัดเลือกและพัฒนาให้เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการสหกรณ์  มีโรงอบยางแห้ง  ห้องรมควันจำนวน 14 ห้อง  และโรงยางแผ่นผึ่งแห้ง ยางเครฟ  โดยการซื้อน้ำยางสดนำมาแปรรูป 

    (ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ประจำวันที่ 29 กรกฎาคม 2559) 


















29/07/2016