ป.ป.ช.เตือนเลิกตั้งโต๊ะซื้อยาง


  ป.ป.ช.ชงข้อเสนอป้องกันทุจริตโครงการช่วยชาวสวนยาง ระบุรัฐไม่ควรแทรกแซงราคานำตลาดมาเก็บสต๊อก แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
   แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เสนอเรื่องข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตในการดำเนินตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรยางพารา เนื่องจากขณะนี้เป็นฤดูกาลเริ่มเปิดกรีดยางอีกครั้ง ซึ่งข้อเสนอแนะดังกล่าวเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ และวางแนวทางโครงการป้องกันการทุจริตต่อหน้าที่และตำแหน่งราชการ
   สำหรับรายละเอียดหนังสือ ป.ป.ช. ระบุว่า การส่งเสริมปลูกยางพาราของภาครัฐที่ผ่านมา ส่งผลให้มีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ขณะที่ความต้องการใช้ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลให้เกษตรกรเดือดร้อน จนทำให้รัฐบาลต้องเข้าไปช่วยเหลือด้วยการเข้าไปซื้อในราคานำตลาด แล้วนำมาเก็บไว้รอการระบายในช่วงเวลาที่เหมาะสม แต่การดำเนินการดังกล่าวมีความสุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดพฤติการณ์ส่อในทางทุจริต และอาจไม่โปร่งใสในขั้นตอนการรับซื้อ เก็บรักษา และระบายออกจากสต๊อกของรัฐ
   ทั้งนี้ ป.ป.ช.เห็นว่าควรมีการปรับปรุงแนวการปฏิบัติ โดยมาตรการด้านตลาดนั้น รัฐไม่ควรใช้มาตรการแทรกแซงราคายางพารา เพราะทำให้กลไกตลาดเสียสมดุลและขาดการแข่งขัน รัฐควรดำเนินโครงการลักษณะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านยางพารา หรือให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางมีส่วนร่วมเพื่อป้องกันการทุจริต
   อย่างไรก็ตาม หากต้องดำเนินโครงการเพื่อช่วยเหลือชาวสวนยาง ควรกำหนดคุณสมบัติผู้เข้าร่วมให้ชัดเจนว่าต้องเป็นผู้มีรายได้น้อย เพื่อป้องกันไม่ให้พ่อค้าเข้าร่วม และควรให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วมพิจารณาหลักเกณฑ์ เพื่อความชัดเจนและทั่วถึงของโครงการ ตลอดจนควรมีกระทรวงหรือหน่วยงานอื่นเข้าร่วมรับผิดชอบด้วย เช่น กระทรวงพาณิชย์
    ขณะที่การประเมินผลโครงการควรดำเนินการ 3 ระยะ คือ ก่อน ระหว่าง และเมื่อสิ้นสุดโครงการ หากโครงการใช้งบประมาณมากแต่ไม่ส่งผลสำเร็จก็ควรหามาตรการใหม่ ส่วนการระบายยางพาราในสต๊อกของรัฐ ควรกำหนดเงื่อนไข วิธีซื้อขายให้ชัดเจน รวมทั้งปริมาณที่ซื้อขายตามชนิด ราคา วันที่ของการซื้อขาย และผู้ร่วมรับผิดชอบดำเนินการในการซื้อขาย และรายงานให้ ครม.ทราบทุก 3 เดือน และยังให้เพิ่มบทลงโทษผู้ทุจริตจากโครงการของรัฐ ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและเอกชนทุกกลุ่ม
   รายงานข่าวแจ้งว่า คณะกรรมการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้มีข้อสั่งการให้ตรวจสอบและคัดแยกยางในสต๊อกรัฐปัจจุบันมีอยู่ 2.7 แสนตัน ก่อนที่จะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายยางแห่งชาติ (กนย.) ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาการระบาย และขายให้กับต่างประเทศ ซึ่งหลักการระบายจะไม่กระทบต่อราคาตลาด 

   (ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ประจำวันที่ 26 กรกฎาคม 2559)


















26/07/2016