การทุ่มตลาดยางล้อเรเดียลนำเข้าจากจีนเพิ่มสูงขึ้นในอินเดีย


    ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม ที่ผ่านมาซึ่งเป็น 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ งบประมาณ 2558-2559 ของอินเดีย พบว่า ปริมาณการนำเข้ายางล้อรถบรรทุกและยางล้อรถโดยสารชนิดเรเดียล (TBR) เพิ่มสูงขึ้นมากถึงร้อยละ 57 สถานการณ์เช่นนี้นับว่าก่อให้เกิดความยุ่งยากแก่ผู้ผลิตยางล้อในอินเดียมากขึ้น เนื่องจากเมื่อไม่นานมานี้ได้ลงทุนสร้างโรงงานยางล้อเพิ่มขึ้นคิดเป็นมูลค่าถึง 250,000 ล้านรูปี 
    จากข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตยางล้อ (ATMA) พบว่า การนำเข้ายางล้อรถบรรทุกและยางล้อรถโดยสารชนิดเรเดียลใน 2 เดือนแรกเพิ่มขึ้นเป็น 280,000 เส้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีผ่านมามียอดนำเข้า 180,000 เส้น 
    ในเดือนพฤษภาคมมีการนำเข้ายางล้อ TBR 150,000 เส้น ซึ่งคิดเป็นเกือบร้อยละ 40 ของปริมาณความต้องการยางล้อชนิดเปลี่ยนทดแทนใน 1 เดือน การนำเข้ายาง TBR เคยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 60 ในช่วงปีงบประมาณ 2557-2558 และเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 64 ในช่วงปีงบประมาณ 2558-2559 การขยายตัวของการนำเข้าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาคิดเป็นปริมาณยางล้อที่เพิ่มขึ้นถึง 2.5 เท่า และเมื่อนับจำนวนยางล้อเฉลี่ยในปีงบประมาณ 2557 อยู่ที่ 40,000 เส้นต่อเดือน และในปีงบประมาณ 2558 อยู่ที่ 65,000 เส้นต่อเดือน และเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 เส้นต่อเดือนในปีนี้ 
    สำหรับภาคธุรกิจยางล้อรถบรรทุกและยางล้อรถโดยสารเพียงอย่างเดียวมีผลประกอบการถึงร้อยละ 55 ดังนั้นการที่มี “การนำเข้าและการทุ่มตลาดยางล้อโดยไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆควบคุม” เช่นนี้นับว่าส่งผลกระทบอย่างร้ายแรง
    นาย K.M. Mammen ประธาน ATMA กล่าวว่า “เราจะต้องไม่ปล่อยให้มีการทุ่มตลาดยางล้อจากจีนเกิดขึ้นได้ เพราะระดับการผลิตยางล้อในภาคอุตสาหกรรมนั้นลดลงอย่างมากในช่วงหลายปีมานี้”
    ประเทศจีนครองตลาดนำเข้ายางล้อ TBR ในประเทศอินเดีย โดยมีสัดส่วนตลาดสูงเป็นประวัติการณ์ถึงร้อยละ 90 ในปีที่ผ่านมา ซึ่งในปี 2556-2557 มีสัดส่วนตลาดร้อยละ 40 และในปี 2557-58 มีสัดส่วนร้อยละ 70 
    ยาง TBR จากจีนมีราคาขายในอินเดียเฉลี่ยต่อเส้นอยู่ที่ 140-150 เหรียญสหรัฐ (9,400-10,000 รูปี) ซึ่งราคาต่ำกว่ายางล้อของอินเดียราวร้อยละ 30 (ยาง TBR ของอินเดียมีราคาอยู่ประมาณ 15,000 รูปีต่อเส้น)
    ทาง ATMA ระบุว่า ราคายางล้อ TBR ส่งออกจากจีนนั้นต่ำกว่ายางที่ขายอยู่ในท้องตลาดประเทศจีนอยู่มาก รวมถึงยางล้อจากไทยและเกาหลีใต้ก็มีลักษณะราคาส่งออกในแบบเดียวกัน ราคายางล้อนำเข้าจากประเทศจีนเมื่อคิดต่อเส้นในหลาย ๆ กรณีก็พบว่ามีราคาต่ำกว่าราคาวัตถุดิบในประเทศอินเดียอีกด้วย 
    นาย Mammem กล่าวว่า “ในแง่ของการขยายตัวของภาคธุรกิจยางล้อ ผู้ผลิตยางล้อในอินเดียได้ลงทุนอย่างมหาศาลถึง 250,000 ล้านรูปีเพื่อสร้างโรงงานผลิตใหม่ที่มีความทันสมัยสำหรับผลิตยางล้อ TBR การนำเข้าและการทุ่มตลาดโดยไม่มีกฎเกณฑ์ควบคุมเช่นนี้นับว่าเป็นผลเสียต่อการผลิตในประเทศ”
    จากข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตยานยนต์อินเดีย พบว่า ปริมาณความต้องการยางล้อเรเดียลเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย และเพิ่มขึ้นพอๆ กับปริมาณความต้องการยางล้อรถบรรทุกขนาดกลาง ยางล้อรถบรรทุกขนาดใหญ่และยางล้อรถโดยสาร โดยเมื่อปีที่ผ่านมาปริมาณความต้องการยางล้อเรเดียลในตลาดอยู่ที่ 302,373 เส้น และในปี 2557-2558 อยู่ที่ 232,755 เส้น

    (ที่มา: http://rubberjournalasia.com, 27/06/2016) 


















29/06/2016