สศอ. ผลักดันรวมกลุ่มคลัสเตอร์ไม้และสิ่งทอเหนียวแน่น เชื่อมโยงสู่ AEC


    สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และบทบาทสำคัญในการผลักดันและขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก ร่วมกันศึกษา วิเคราะห์ การพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมไทยที่มีศักยภาพ เพื่อนำมาสู่การวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และปัญหา/อุปสรรคในการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมของไทย ที่จะมีผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงและกรอบความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียนต่างๆ
     โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก้าวสู่การเป็น AEC ที่ส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมและคลัสเตอร์อุตสาหกรรมของไทย โดยจะทำการคัดเลือกคลัสเตอร์อุตสาหกรรมนำร่อง 2 อุตสาหกรรม เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงยุทธศาสตร์ ตลอดจนแนวทางการพัฒนาและเชื่อมโยงคลัสเตอร์อุตสาหกรรมในภูมิภาคอาเซียน
     ตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการที่ผ่านมานั้น ทีมที่ปรึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวรได้ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลจากหลายแห่ง เช่น การสัมภาษณ์ การศึกษาข้อมูลเดิมในงานวิจัยที่มีอยู่ ซึ่งพบว่า คลัสเตอร์อุตสาหกรรมของไทยที่มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพในการรวมกลุ่มนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายคลัสเตอร์ หากแต่ที่ได้คัดเลือกมาสู่การจัดทำแนวทางการพัฒนานำร่องในปีงบประมาณ พ.ศ.2556 คือ คลัสเตอร์อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน และคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
    โดยเหตุที่ “อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน” เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มและมีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเครื่องตกแต่งบ้านและอุตสาหกรรมบริการโรงแรม โดยใช้วัตถุดิบในประเทศและใช้แรงงานเข้มข้น ผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก ผู้ผลิตไม้และเครื่องเรือนส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดเล็ก การผลิตไม้และเครื่องเรือนร้อยละ 80 เป็นการรับจ้างผลิตตามแบบที่ลูกค้ากำหนด โดยลูกค้าเป็นผู้นำตัวอย่างมาให้ รองลงมาเป็นการผลิตโดยโรงงานเป็นผู้ออกแบบเอง แต่อาจมีการปรับปรุงตามแบบที่ลูกค้าเสนอบ้าง และมีโรงงานน้อยรายที่สามารถผลิตภายใต้แบบหรือตราสินค้า (Brand) ของตนเอง แต่ยังไม่เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายในตลาดโลกมากนักวัตถุดิบหลักที่ใช้ในอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในปัจจุบันแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ไม้เนื้อแข็งที่หาได้ง่ายในประเทศ เนื้อไม้มีความสวยงาม คงทนต่อการใช้งาน เป็นที่นิยมของผู้บริโภคเป็นอย่างสูง แต่ภายหลังจากปี 2532 ไทยมีนโยบายในการปิดป่าส่งผลให้ไม้เนื้อแข็งหายากและมีราคาสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะผู้ผลิตเครื่องเรือนไม้ต้องปรับเปลี่ยนการใช้ไม้เนื้อแข็งมาเป็นการใช้ไม้เนื้ออ่อนทดแทน ส่วนไม้อีก 1 ประเภทที่นิยมนำมาเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต คือ ไม้เนื้ออ่อน ได้แก่ ไม้ยางพารา ซึ่งไทยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก โดยมีไม้ยางพาราใช้เพียงพอในอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน แต่ในปัจจุบันการเก็บภาษีไม้ยางพารามีราคาค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบการนำเข้าไม้คุณภาพดีกว่าจากต่างประเทศ อาจส่งผลให้ผู้ประกอบการหันไปใช้ไม้จากต่างประเทศที่มีราคาใกล้เคียงกัน แต่มีคุณภาพและราคาที่ดีกว่าไม้ยางพาราในประเทศไทย อีกทั้งยังเกิดปัญหาการแย่งใช้วัตถุดิบดังกล่าวจากประเทศคู่แข่ง ทั้งจีน มาเลเซีย และเวียดนาม ประกอบกับปัจจุบันราคาน้ำยางพาราปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ชาวสวนชะลอการตัดไม้ยางพาราออกไป ส่งผลให้ราคาไม้ยางพาราเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
    ในปัจจุบันการส่งออกไม้และเครื่องเรือนจะเติบโตตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร โดยในปี 2554 ไม้และเครื่องเรือนมีมูลค่าส่งออกรวม 3,029.52 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.68 ซึ่งเป็นไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทย นอกจากนี้ การส่งออกไม้และเครื่องเรือนยังสามารถขยายตัวได้ดีในตลาดรองของไทย ได้แก่ ออสเตรเลีย อินเดีย ประเทศแถบตะวันออกกลาง และประเทศสมาชิกอาเซียน
    ในส่วนของ “อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม” อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยเป็นสาขาการผลิตที่สร้างรายได้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติในระดับสูง มีขนาดของมูลค่าเพิ่มภาคอุตสาหกรรมใหญ่อยู่ในลำดับ 4 รองจากอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และอุตสาหกรรมยานยนต์ ตามลำดับขณะเดียวกันยังเป็นสาขาการผลิตสำคัญที่มีการจ้างงานสูงและมีดัชนีผลิตภาพแรงงานที่พัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
    ภาพรวมการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่าการส่งออก เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ชะลอตัวลงในปี 2552 และปี 2555 โดยในปี พ.ศ. 2555 มีมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งสิ้น 7,222 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยกลุ่มเครื่องนุ่งห่มมีมูลค่าการส่งออก 2,950 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 41 ของการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในประเทศไทย ส่วนกลุ่มสิ่งทอมีมูลค่าการส่งออก 4,272 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 59  ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าสำเร็จรูปและผ้าผืนและด้ายเป็นสินค้าที่มีการส่งออกใกล้เคียงกัน โดยมูลค่าการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปคือ 2,535 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 35 ของการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในประเทศไทย ส่วนมูลค่าการส่งออกผ้าผืนและเส้นด้ายของไทย คือ 2,299 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 32 ของการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในประเทศไทย ตามลำดับ ส่วนสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มอื่นๆ ที่ประเทศไทยมีการส่งออก คือ เส้นใยประดิษฐ์ เคหะสิ่งทอ เครื่องยกทรง รัดทรง และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ นอกจากนี้ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มยังก่อให้เกิดการจ้างงานถึง 1.02 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 21.2 ของการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด
    การดำเนินงานในลำดับต่อไปของโครงการ คือ การนำแนวทางการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมนำร่องทั้งสองอุตสาหกรรม มาเป็นต้นแบบในการศึกษาการรวมกลุ่มและการจัดการทรัพยากร เพื่อเป็นแบบอย่างการพัฒนาให้กับคลัสเตอร์อุตสาหกรรมอื่นๆ ของไทยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเมื่อมีการเปิดประตูการค้าในเวที AEC แล้วนั้น ย่อมมีการขนถ่ายปัจจัยในการผลิต ทั้งแรงงาน วัตถุดิบ และเงินทุน ซึ่งเป็นโอกาสในการลดต้นทุนของการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ประกอบกับการพัฒนาเส้นทางการค้าต่างๆ ในภูมิภาค อันจะนำมาซึ่งผลประกอบการที่สูงขึ้น จึงเป็นที่น่าจับตามองสำหรับพลวัตภายในภูมิภาคอาเซียนที่ท้าทายความพร้อมของภาคอุตสาหกรรมไทยในการดึงศักยภาพที่มีอยู่ออกมา ควบคู่ไปกับการพัฒนาผู้ประกอบการให้เกิดความแข็งแกร่งในเชิงกลยุทธ์ รวมทั้งภาครัฐของไทยจะมีแนวนโยบายในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมให้ก้าวต่อไปได้อย่างเข้มแข็งและมีบทบาทในการเป็นผู้เชื่อมโยงภายในภูมิภาค หรือในฐานะ ASEAN Connectivity ได้อย่างไรต่อไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ประจำวันที่ 22 สิงหาคม 2556


















22/08/2013