เจาะลึก“ยางโอตานิ” จากร้านปะยาง สู่ธุรกิจยางพันล้าน แบรนด์ไทย ยอดขายทั่วโลก


    ยางรถยนต์ “โอตานิ” หนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จของการสร้างแบรนด์ ซึ่งเป็นที่รู้จักและยอมรับในตลาดโลก ของนักธุรกิจไทย ปัจจุบัน ยางโอตานิ มีการส่งออกไปจำหน่ายมากกว่า 60 ประเทศทั่วโลก มีรายได้หลักหลายพันล้านต่อปี มาทำความรู้จัก “ยางโอตานิ” จากการบอกเล่าของ “นายเอกชัย ลิมปิโชติพงษ์” ทายาทรุ่นที่ 2 เข้ามาบริหารกิจการทั้งหมด 

 “โอตานิ” ยางคนไทย ที่สร้างชื่อเวทีระดับโลก 
  สำหรับ บริษัท ยางโอตานิ จำกัด ก่อตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2529 ที่ ตำบลคลองใหม่ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม มีพนักงาน 750 คนทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท เป็นอุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์ ประเภท โครงผ้าใบเฉียง สำหรับรถบรรทุก รถโดยสาร และ รถอุตสาหกรรม และเป็นผู้ผลิตยางรถใหญ่ แบรนด์คนไทยรายแรก ที่มีการส่งออกไปขายต่างประเทศ และเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก และจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงหลายปีทีผ่านมา “ดร.เกียรติชัย ลิมปิโชติพงษ์” คุณพ่อ ในฐานะเจ้าของกิจการและผู้ก่อตั้ง จึงได้มีการขยายกิจการ เพื่อรองรับการเติบโตที่เพิ่มขึ้น จากประสบการณ์กว่า 24 ปี
   โดยได้มาเปิด โรงงานผลิตแห่งที่ 2 ชื่อว่า บริษัท โอตานิเรเดียล จำกัด เมื่อปี 2551 บนพื้นที่ 345 ไร่ ถนนริมคลองบ้านไร่ ตำบลบางแก้ว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม มีพนักงาน 500 คน ทุนจดทะเบียน 2,700 ล้านบาท ผลิตยางประเภทเรเดียล สำหรับรถบรรทุก รถขยายใหญ่ รถไถนา และกำลังจะขยายพื้นที่สร้างอีกหนึ่งโรงงาน เพื่อทำการผลิตยางรถยนต์ สำหรับรถเก๋ง และรถกระบะ ภายใต้แบรนด์ โอตานิ คาดว่าจะเปิดตัวยางรถยนต์ขนาดเล็กได้ประมาณ ปี 2559 เจาะกลุ่มตลาดพรีเมี่ยม โดยในประเทศไทย ตั้งเป้าการผ่านดีเลอร์ จำนวน 200 แห่ง แต่ตลาดหลักคือส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ ผ่านตัวแทนจำหน่าย รายใหญ่ ซึ่งเดิมเป็นตัวแทนจำหน่ายยางรถขนาดใหญ่ของยางโอตานิอยู่แล้ว 

  เริ่มธุรกิจยางพันล้านบาทจากร้านปะยาง ริมทาง 
    ทั้งหมด คือความสำเร็จเกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ คุณเอกชัย เล่าว่า คุณพ่อ ดร.เกียรติชัย” เริ่มต้นทุกอย่างมาจากศูนย์ ไม่มีอะไรเลย เกิดในครอบครัวที่ยากจน ในสมัยเด็ก ก็ต้องหาบขนมขาย ดิ้นรนต่อสู้ชีวิต มาอย่างโชกโชนในวัยหนุ่ม ก่อนจะได้มาเปิดร้านปะยางอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานีกับพี่ชาย และตอนหลังมีการรับยางมาจำหน่ายด้วย
   จนกระทั่ง เมื่อปี 2510 ได้มีฐานทัพทหารของประเทศสหรัฐอเมริกาได้มาตั้งในประเทศไทย และต้องการยางที่ใช้สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ “ดร.เกียรติชัย” จึงได้เปิดโรงงานหล่อดอกยาง ชื่อ อุบลเอชียหล่อยาง ช่วงนั้นขายดีมาก แต่พอฐานทัพทหารสหรัฐ ได้ย้ายกลับประเทศ ยางที่หล่อออกมาขายในช่วงนั้นปี 2517 ขายไม่ได้เลย ดร.เกียรติชัย ได้ย้ายกลับมาอยู่บ้านเกิดนครปฐม โดยเปิดโรงหล่อยาง ชื่อพาราไทร์ ก่อนที่จะมาผลิตยางรถยนต์ ภายใต้แบรนด์ โอตานิ แต่ปัญหาไม่ได้จบแค่นั้น เพราะเมื่อปี 2540 ได้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ และค่าเงินบาท ต้องเผชิญปัญหาหนี้สินเพิ่มขึ้นเท่าตัว ลูกค้าเริ่มลดน้อยลง ธนาคารไม่ปล่อยกู้ การต่อสู้ในช่วงนั้น ก็ทำให้เป็นบทเรียน และนำมาปรับใช้กับการบริหารงานในปัจจุบัน ได้อย่างมั่นคง
 ยึดหลักศก.พอเพียงนำพาองค์กร พนักงาน ฝ่าวิกฤติ โตอย่างยั่งยืน
    ด้วยเหตุนี้ เอง ในช่วงที่ผ่านมา ทางบริษัท จึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวทางพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าหัว โดยนำมาใช้กับการดูแลสิ่งแวดล้อมคนรอบข้าง ดูแลพนักงาน เพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนในการใช้ชีวิต และเมื่อทางสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม ได้นำเอา มอก.9999 มาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรมเข้ามาใช้ ทางบริษัท ก็ได้เข้าร่วม ขอรับมาตรฐาน ดังกล่าว ส่วนหนึ่ง เพื่อใช้แก้ปัญหาพนักงานที่ใช้เงินเกินตัว จนเป็นหนี้นอกระบบ ซึ่งก็ได้ผลในระดับหนึ่ง
   คุณเอกชัย เล่าว่า สำหรับขั้นตอนในการในการเข้าร่วมโครงการ มอก.9999 การให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วม เช่น บริษัทมีปัญหาในเรื่องผลิตภัณฑ์ เดิมจะแจ้งให้พนักงานขาย หรือ ภาคสนามเป็นคนแก้ปัญหา และแจ้งให้โรงงานแต่ แต่เมื่อใช้มอก.9999 จะให้พนักงานฝายผลิตเข้าไปร่วมในการพบลูกค้า และช่วยกันแก้ปัญหาร่วมกับฝ่ายขาย เพื่อเป็นการรับผิดชอบร่วมกัน เป็นต้น รวมถึงการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยให้พนักงานออกไปทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน จากการนำเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติ มีผลตอบรับที่ดีกลับมาจากชุมชน 
  ทั้งนี้ ความสำเร็จของ บริษัทยางโอตานิ ถือว่า เป็นแบบอย่างในการดำเนินธุรกิจในยุคนี้ ที่ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย สามารถนำไปปฏิบัติได้ เพราะไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจจะเป็นเป็นอย่างไร บริษัทสามารถผ่านไปได้ รวมถึงการเป็นแบบอย่างในการสร้างแบรนด์ไทยที่มีคุณภาพ มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก

 (ที่มา: หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์ ประจำวันที่ 29 ตุลาคม 2558)


















30/10/2015