สกย.เร่งโค่นยางปลูกปาล์ม4แสนไร่ ลดซัพพลาย


     สกย. เร่งหั่นซัพพลายยาง หวังดันราคาโลกขยับ  จูงใจชาวสวนยาง 17 จังหวัด นอกเขตพื้นที่โซนนิ่งเข้าร่วมโครงการปลูกปาล์มแทน พร้อมปลดล็อกต้นยางอายุต่ำกว่า 16 ปีเข้าร่วมโครงการได้ ดีเดย์ ก.ย.นี้ ด้านชาวสวน เมินมาตรการไม่ได้ผล  แฉมีพื้นที่ 3-4 ล้านไร่ บุกรุกป่าสงวน  แนะคสช.ตัดตอน ไม่ต้องใช้เงินสักบาทเดียวลดปริมาณได้
    นายประสิทธิ์ หมีดเส็น รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสกย. เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในเดือนกันยายนนี้ ทาง สกย.มีมาตรการสำหรับจูงใจชาวสวนยางเพื่อลดปริมาณผลผลิตยางภายในประเทศ โดยตั้งเป้ายุทธศาสตร์ 7 ปี โค่นยางพารา หนุนให้เกษตรกรมาปลูกปาล์มที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าแทน โดยในปีงบประมาณ 2558 ได้วางแผนเพิ่มพื้นที่เป้าหมาย  4 แสนไร่ จากปกติเพียง 3 แสนไร่ต่อปี  โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตโซนนิ่งของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  จากปัจจุบันมีพื้นที่เหมาะสมสำหรับการปลูกยางมี 60 จังหวัด 403 อำเภอ 1,703 ตำบล แยกเป็นพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากสุด  18 จังหวัด รองลงมาคือ ภาคเหนือ 14 จังหวัด ภาคใต้ 14 จังหวัด ภาคกลาง  และภาคตะวันออก 7 จังหวัด ส่วนอีก 17 จังหวัด ไม่ได้อยู่ในพื้นที่โซนนิ่ง
    สำหรับการใช้งบประมาณดังกล่าว การใช้เงินสงเคราะห์เพื่อปลูกปาล์มแทนยางพารานั้นเกษตรกรต้องมีพื้นที่ที่ไม่น้อยกว่า 2 ไร่ แต่ละไร่มีต้นยางปลูกกระจัดกระจายไม่น้อยกว่า 10 ต้น และโดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่าไร่ละ 25 ต้น และต้นยางที่มีอยู่นั้นต้องเป็นต้นยางอายุกว่า 25 ปีขึ้นไป หรือต้นยางทรุดโทรมเสียหาย หรือ ต้นยางที่ได้ผลน้อย กรณีมีพื้นที่น้อยกว่า 2 ไร่ และเป็นส่วนสุดท้ายของแปลงที่เคยได้รับการสงเคราะห์ปลูกแทนด้วยยางมาแล้ว หากขอรับการสงเคราะห์ปลูกแทนด้วยยางก็อยู่ในหลักเกณฑ์ได้รับการสงเคราะห์เพื่อปลูกแทนได้ และต้นยางต้องมีอายุเกิน 15 ปี  ทั้งนี้ สกย. จะปลดเงื่อนไขดังกล่าวนี้ให้เข้าร่วมโครงการนี้ได้ โดยเฉพาะเกษตรกรที่ปลูกนอกเขตพื้นที่โซนนิ่งคาดว่าจะมีจำนวนมาก มองว่าหากลดซัพพลายดังกล่าว จะช่วยทำให้ดันราคายางในประเทศและตลาดโลกให้ขยับขึ้นได้ จะเริ่มเดือนกันยายนนี้
    "สกย.จะให้อัตราเงินสงเคราะห์เพื่อปลูกปาล์มน้ำมันสูงถึง 2.6 หมื่นบาทต่อไร่ ในขณะที่ปลูกยางพาราจะได้รับเงินสงเคราะห์เพียง 1.6 หมื่นบาทต่อไร่  เหตุที่เข้าไปแนะนำให้ปลูกปาล์มน้ำมันทดแทนโดยส่วนใหญ่พื้นที่นอกเขตโซนนิ่งจะอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำของภาคใต้ ในเขตจังหวัดพัทลุง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา และระนอง ส่วนพื้นที่นอกเขตโซนนิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกยางพาราใหม่นั้น ยางพารายังมีอายุน้อย บางแปลงยังไม่ได้เปิดกรีดด้วยซ้ำไป ถ้าจำเป็นต้องรอให้อายุมากกว่า 25 ปี หรือใกล้เคียง 25 ปีก่อน จะทำให้เกษตรกรเสียโอกาส"
    นายประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ในปีงบประมาณ 2557(สิ้นสุด ก.ย.57) คาดสกย.จะเก็บเงินสงเคราะห์เกษตรกรจากผู้ส่งออก (เงินเซสส์) ได้เพียง 2.1 พันล้านบาทเศษ  เป็นการเก็บที่น้อยที่สุดในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่อัตราการเก็บเงินเซสส์แบบขั้นบันได ในปี 2553  (โดยเฉลี่ยเก็บกิโลกรัมละ 2-3 บาท) อย่างไรก็ดีหากยุทธศาสตร์ปลูกปาล์มแทนยางพาราได้ดำเนินการอย่างจริงจัง ใน 7 ปี ราคายางจะฟื้นตัวอย่างเป็นรูปธรรมหลังลดซัพพลายลง
    แหล่งข่าวจาก สกย. กล่าวว่า ปัจจุบันการจ่ายเงินสงเคราะห์การโค่นยางพาราจะใช้เงินงบประมาณปีละ 4 พันล้านบาท  หากเพิ่มพื้นที่เป็น 4 แสนไร่ จะใช้เงินเพิ่มประมาณ 4.8 พันล้านบาท หากราคายางยังไม่ปรับตัวขึ้น เชื่อว่าอีก 7-8 ข้างหน้า จะกระทบเงินกองทุนอาจจะกระทบต่อสภาพคล่อง หรือถังแตกได้ เนื่องจากรายรับลดลง แต่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
    นายเพิก เลิศวังพง ประธานชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางจันทบุรี จำกัด  มองว่า มาตรการดังกล่าวไม่ได้ผล  เพราะก่อนหน้าที่จะปลูกยาง ชาวสวนทุกคนมีการประเมินเบื้องต้นแล้วว่าคุ้มหรือไม่คุ้ม  ทาง สกย. ควรจะเสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ใหม่ เนื่องจากปัจจุบันมีชาวสวนบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนเพื่อปลูกยางประมาณ 3-4 ล้านไร่ หากใช้วิธียึดพื้นที่คืนจะช่วยลดผลผลิตได้โดยไม่ต้องใช้เงินสักบาทเดียว อย่างไรก็ดีในสัปดาห์นี้จะมีการประชุมกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ที่มี พล.อ.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช.เป็นประธานเพื่อแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้วมาตรการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังไม่โดนใจ ให้กลับไปทำการบ้านใหม่
    อนึ่ง การเก็บเงินเซสส์ ย้อนหลัง 3 ปีย้อนหลัง จำแนกเป็นปี งบประมาณ 2554 เก็บเงินเซสส์ได้ 1.37 หมื่นล้านบาท ปีงบ 2555 เก็บได้ 1.42 หมื่นล้านบาท และปีงบ 2556 เก็บได้ 9.62 พันล้านบาท

    (ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ประจำวันที่ 1 สิงหาคม 2557)


















01/08/2014