ไทยหวังสูงได้ลดภาษีทรัมป์ 20% จับตา 9 สินค้าแข่งเวียดนามไม่ได้


โค้งสุดท้ายเจรจาลดภาษีตอบโต้สหรัฐ หลัง “พิชัย” ยื่นข้อเสนอเปิดตลาดใหม่ แต่ภาษีไม่ใช่ 0% ทุกรายการ ยังจำเป็นต้องคุ้มครองสินค้าเกษตรบางรายการ พร้อมตั้งความหวังภาษีตอบโต้ไทยจะไม่เกิน 20% ด้านภาคเอกชนจับตาหากภาษียังสูงกว่า เวียดนาม-อินโดนีเซียจะมีสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐสูญเสียตลาดเพราะไม่สามารถแข่งขันได้
การเจรจาเพื่อลดอัตราภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ที่สหรัฐประกาศจะเรียกเก็บจากประเทศไทยในอัตรา 36% มีผลหลังวันที่ 1 สิงหาคม 2568 ได้ดำเนินการมาถึงช่วงสุดท้ายแล้ว หลังจากที่ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย ได้ทำการหารือกับ สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา ด้วยข้อเสนอที่จะเปิดตลาดให้กับสินค้าสหรัฐ “มากกว่า” ที่เคยเสนอไว้ แต่ยังคงมีข้อจำกัดในบางสินค้าที่จะต้องดูแล อาทิ สินค้าเกษตรบางรายการ โดยตั้งความหวังไว้ว่า หลังวันที่ 1 ส.ค. สหรัฐจะเก็บภาษีตอบโต้ไทยในอัตราที่อยู่ในระดับเดียวกันกับประเทศในภูมิภาค (เวียดนาม 20% อินโดนีเซีย 19%) ที่สัดส่วนไม่เกิน 20% ขณะที่ภาคเอกชนยังคงกังวลกับอัตราภาษีใหม่เมื่อเทียบกับการส่งออกสินค้าสำคัญของไทยไปยังตลาดสหรัฐ 20 รายการแรก หากไทยไม่ได้ลดอัตราภาษีตอบโต้ลงมาในระดับเดียวกันกับคู่แข่งก็จะมีผลทำให้ไทยสูญเสียตลาดส่งออกสินค้าเหล่านั้นได้
ตั้งความหวังภาษีไม่เกิน 20%
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการหารือกับ สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ว่า การพูดคุยอย่างเป็นทางการครั้งล่าสุดใช้เวลาตามที่กำหนดไว้ 30 นาทีเต็ม โดยบรรยากาศการเจรจาเป็นไปอย่างราบรื่น ถือเป็นการพูดคุยที่ลงลึกในรายละเอียดมากขึ้น แม้ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการจะมีการหารือกันมาโดยตลอด “เมื่อเรารู้ว่าเวลาจำกัด เราก็ต้องคุยให้ตรงประเด็น และผมคิดว่าผลของการพูดคุยครั้งนี้ออกมาดีมาก เพราะบรรยากาศดี” นายพิชัยกล่าว
โดยฝ่ายไทยได้สรุปข้อเสนอชัดเจน และสื่อสารทิศทางในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษีสินค้า การนำเข้าสินค้า การลงทุน หรือแม้แต่การเพิ่มประสิทธิภาพของภาคราชการ นายพิชัยย้ำว่า ข้อเสนอของไทยยังคงยึดหลักการเดิมที่เคยพูดไว้ทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องการเปิดตลาดนั้น ไทยไม่ได้เปิดเพียงเพื่อให้เกิดการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐเท่านั้น แต่ต้องพร้อมเดินเกมรุก เพื่อขยายขนาดเศรษฐกิจไทยและผลักดันการส่งออกไปยังตลาดโลก “เราไม่ได้เปิดเพื่อลดการขาดดุลการค้าอย่างเดียว แต่ต้องเดินเกมรุก สร้างเศรษฐกิจให้ใหญ่ขึ้น ถ้าจะซื้อเพิ่ม ก็ต้องขายเพิ่มให้ได้ทั่วโลก” นายพิชัยกล่าว
นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะซัพพลายเชนและ SMEs ว่า ไทยยังคงยืนบนหลักการเดิมที่จะต้องดูแลสินค้าเหล่านี้ก่อน เพื่อประเมินจุดอ่อนและเร่งสร้างประสิทธิภาพให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก ทั้งในแง่ของต้นทุน คุณภาพ และความสามารถในการผลิต “จุดที่ดีที่สุดคือการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ถ้าทำได้ ต่อให้แข่งกับใครที่ไหนก็ได้ทั่วโลก” นายพิชัยกล่าว
ส่วนในประเด็นที่สหรัฐต้องการให้ไทยเปิดตลาดสินค้าเฉพาะบางรายการ นายพิชัยย้ำว่า เป็นการเข้าเป้าที่สมเหตุสมผล ไม่ใช่เรื่องที่ไทยต้องฝืนใจ เพราะไทยก็มีสิทธิเลือกที่จะดูแลสินค้าบางประเภทที่อ่อนไหวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสินค้าการเกษตรบางชนิด “ไม่มีใครในโลกที่เข้าเป้าทุกอย่างหรอกครับ แต่ของเราถือว่าเข้าเป้าได้ดีที่สุดแล้ว และข้อเสนอนี้คือการเปิดกว้างแบบ Win Win”
เมื่อถามว่า สินค้าบางรายการที่ยังเป็นห่วงจะจัดการอย่างไร นายพิชัยกล่าวว่า ไม่ได้กังวลอะไร เพราะคิดว่าจะดูแลแน่นอน โดยบางสินค้าที่ต้องนำเข้า ก็ยังต้องควบคุมปริมาณเพื่อให้สอดคล้องกับการผลิตภายในประเทศ เช่นเดียวกับสินค้าเกษตรบางชนิด ขณะในส่วนของท่าทีจากฝั่งสหรัฐ นายพิชัยระบุว่า บรรยากาศเป็นบวกและเข้าใจข้อเสนอของไทยอย่างดี
ต่อคำถามที่ว่า สหรัฐจะเรียกเก็บอัตราภาษีนำเข้าไทยต่ำกว่า 20% หรือไม่นั้น นายพิชัยกล่าวว่า คาดอัตราภาษีนำเข้าที่ไทยจะได้รับจะอยู่ในกลุ่มเดียวกับประเทศในภูมิภาค ซึ่งถือว่า “อยู่ในระดับที่แข่งขันได้ที่สัดส่วนไม่เกิน 20%” ส่วนเรื่องของ Transshipment หรือการขนส่งผ่านประเทศโดยแอบอ้างถิ่นกำเนิดไทยเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีสูงนั้น เป็นเรื่องที่ยังต้องหารือเพิ่มเติมและอาจมีหลายรูปแบบ เช่นเดียวกับกรณีของเวียดนาม ที่ใช้หลายอัตราในสินค้าแต่ละกลุ่ม “การค้าระหว่างประเทศมีหลายเซ็กเตอร์ บางกลุ่มอาจมีหลายอัตราภาษี โดยเฉพาะกลุ่มล่าง ส่วนกลุ่มบนอาจมีอัตราเดียว เราต้องค่อย ๆ ดูในรายละเอียดต่อไป ในส่วนของสินค้าที่เปิดแล้วแต่ไม่มีผู้เข้ามาแข่งขัน เช่น สินค้าบางชนิดที่มีราคาสูงกว่าของไทยหลายเท่า นายพิชัยย้ำว่า หากไม่มีการนำเข้าสินค้าเหล่านี้ก็ไม่ต้องกังวลเพราะไม่มีผลกระทบ “สมมุติเปิด 100 รายการ แล้วอีก 50 รายการ เขาไม่มีจะขาย หรือแพงกว่าเราหลายเท่า เขาก็ไม่มา เราก็ไม่เดือดร้อน เพราะไม่มีคู่แข่ง”
สำหรับสินค้าอ่อนไหวอย่างเช่น “หมู” ที่หลายฝ่ายกังวลนั้น นายพิชัยย้ำว่า ยังไม่มีการลงรายละเอียดใด ๆ และต้องรอการเจรจาเพิ่มเติมจากฝ่ายสหรัฐ โดยไทยได้ส่งข้อเสนออย่างเป็นทางการให้สหรัฐแล้ว และคาดว่าจะได้คำตอบจากระดับสูงของสหรัฐในเร็ววัน ถึงการประกาศอัตราภาษีใหม่ จากเดิมที่กำหนด 36% ก่อนขีดเส้นตาย 1 ส.ค. 68 นี้ “ส่งขึ้นไปแล้ว คำตอบอาจจะมาเร็วมาก เผลอ ๆ ก็คือวันนี้เลยก็ได้ครับ โดยฝ่ายสหรัฐให้ความเห็นกลับมาว่า very substantial improvement” นายพิชัยกล่าว
ด้าน นายฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ยังให้การสนับสนุน ทีมไทยแลนด์ อย่างเต็มที่ และพร้อมที่จะติดตามข้อเสนอของทาง USTR หลังจากที่ไทยได้ยื่นข้อเสนอไปแล้วและจะมีการเสนอกลับมาอย่างไรบ้าง รวมไปถึงมาตรการที่เกี่ยวกับภาษีด้วย ส่วนการจะเปิดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าให้สหรัฐเป็น 0% นั้น “ไม่ใช่ทั้งหมดอย่างแน่นอน” ส่วนจะมีประเด็นในเรื่องของการเปิดเจรจาด้านการบริการหรือไม่ “อันนี้ยังไม่รู้ ต้องรอดูทาง USTR และทีมไทยแลนด์”
พร้อมกันนี้ นายฉันทวิชญ์กล่าวว่า มีกำหนดการเดินทางไปสหรัฐกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งในโอกาสนี้จะได้มีการพบปะพุดคุยกับภาคเอกชนสหรัฐ หรือสภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน หรือ USABC (United States-ASEAN Business Council) ประมาณ 20 บริษัท อาทิ บริษัทที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมแปรรูป อุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี ซึ่งจะใช้โอกาสนี้ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลการค้าและพร้อมที่จะเชิญชวนการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยด้วย
ไทยเสียตลาดสหรัฐ
ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ ได้เผยแพร่ 20 สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐ (ม.ค.-พ.ค. 2568) เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับตัวเลขการส่งออกปี 2567 ส่วนแบ่งสินค้าไทยในตลาดสหรัฐ กับการส่งออก 20 อันดับแรกของสินค้าจากเวียดนาม และอินโดนีเซีย ซึ่งในขณะนี้สามารถบรรลุข้อตกลงลดภาษีตอบโต้ในอัตรา 20% 19% ตามลำดับ พบว่ามีสินค้าไทยหลายรายการที่ตกอยู่ในสถาการณ์น่าเป็นห่วงหากยังถูกเก็บภาษีตอบโต้ในอัตรา 36% ได้แก่ 
1) เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ปี 2567 ส่งออกคิดเป็นมูลค่า 6,846.5 ล้านเหรียญ 5 เดือนแรกของปี 2568 มูลค่า 6,063.2 ล้านเหรียญ หรือมีมูลค่าการส่งออก 5 เดือนสูงกว่าการส่งออกตลอดทั้งปี 2567 โดยในรายการนี้ ปี 2567 ไทยมีส่วนแบ่งตลาดสหรัฐอยู่ในอันดับที่ 5 (4.9%) รองจากเวียดนามที่อยู่ในอันดับ 4 (11.3%)
2) เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ปี 2567 มูลค่า 6,846.5 ล้านเหรียญ 5 เดือนแรก 1,802.56 ล้านเหรียญ ไทยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ในอันดับที่ 5 (7.7%) เวียดนามอันดับ 2 (12.7%) และจีนอันดับ 1 (44.7) โดยมีข้อน่าสังเกตว่า 4 เดือนแรก ทั้งเวียดนามและอินโดนีเซีย มีการส่งออกเครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ (HS 85) ไปยังสหรัฐ คิดเป็นมูลค่า 14,383.7 ล้านเหรียญ กับ 1,596.8 ล้านเหรียญ ตามลำดับ 
3) ผลิตภัณฑ์ยาง/ยางรถยนต์ ปี 2567 มูลค่า 3,513 ล้านเหรียญ 5 เดือนแรก 1,985.68 ล้านเหรียญ ไทยมีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 (19.3%) เวียดนามอันดับ 5 (7.3%) เฉพาะ 4 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามมีการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ (HS 40) ไปสหรัฐ คิดเป็นมูลค่า 629.6 ล้านเหรียญ
4) อุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ ปี 2567 มูลค่า 2,472.5 ล้านเหรียญ ไทยมีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 2 (15.5%) ขณะที่เวียดนามมีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 (24.9%) มีข้อน่าสังเกตว่า รายการอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด 5 เดือนแรกไทยส่งไปสหรัฐ คิดเป็นมูลค่า 709.35 ล้านเหรียญ ในอัตราขยายตัวที่ลดลงถึง -43.54% 
5) หม้อแปลงไฟฟ้า ปี 2567 ส่งออกคิดเป็นมูลค่า 2,088.6 ล้านเหรียญ 5 เดือนแรก 990.05 ล้านเหรียญ ไทยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่อันดับที่ 3 (8.3%) เวียดนามอยู่อันดับที่ 5 (5.5%) 
6) เครื่องส่งวิทยุหรือวิทยุโทรทัศน์ ปี 2567 มูลค่า 1,107 ล้านเหรียญ ไทยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ในอันดับที่ 3 (11.8%) เวียดนามอยู่ในอันดับที่ 1 (21.9%)
7) เครื่องพิมพ์ใช้สำหรับการพิมพ์ ปี 2567 มูลค่า 1,053.4 ล้านเหรียญ ไทยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่อันดับที่ 4 (10.2%) เวียดนามอันดับที่ 5 (8.5%) 
8) ของปรุงแต่งชนิดที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ ปี 2567 มูลค่า 870.5 ล้านเหรียญ 5 เดือนแรกของปี 2568 มูลค่า 438.53 ล้านเหรียญ ไทยมีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 (26.2%) อินโดนีเซียอยู่ในอันดับที่ 4 (4.9%) 
9) ข้าว ปี 2567 มูลค่า 797.6 ล้านเหรียญ 5 เดือนแรกของปี 2568 มูลค่า 369.56 ล้านเหรียญ ไทยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ในอันดับที่ 1 (53.6%) เวียดนามอยู่อันดับที่ 5 (1.9%)
นอกจากนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ยังมีรายการสินค้าที่ส่งเข้าไปสหรัฐที่น่าจับตามอง ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรที่ไทยส่งออกไปสหรัฐ คิดเป็นมูลค่า 979.28 ล้านเหรียญ อินโดนีเซีย 4 เดือนแรกคิดเป็นมูลค่า 316.7 ล้านเหรียญ, เหล็กและเหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ไทยส่งออกมูลค่า 556.47 ล้านเหรียญ เวียดนาม 4 เดือนแรกส่งออก 229.6 ล้านเหรียญ (ติดลบ -54.6 ล้านเหรียญ), ผลิตภัณฑ์พลาสติก ไทยส่งออกมูลค่า 553.01 ล้านเหรียญ เวียดนาม และ อินโดนีเซีย ส่งออก 4 เดือนแรก คิดเป็นมูลค่า 1,182.1 ล้านเหรียญ และ 79.3 ล้านเหรียญตามลำดับ, เฟอร์นิเจอร์ ไทยส่งออกมูลค่า 336.06 ล้านเหรียญ เวียดนามและอินโดนีเซีย ส่งออก 4 เดือนแรก คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 3,777 ล้านเหรียญ และ 502.8 ล้านเหรียญตามลำดับ และเครื่องนุ่งห่ม ไทยส่งออกไปสหรัฐ คิดเป็นมูลค่า 371.42 ล้านเหรียญ ขณะที่เวียดนาม กับอินโดนีเซีย มีการส่งออกเครื่องแต่งกายถัก (HS 61) คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 2,862.3 ล้านเหรียญ กับ 801.7 ล้านเหรียญ และเครื่องแต่งกายไม่ถัก (HS 62) เวียดนามส่งออกคิดเป็นมูลค่า 2,284.5 ล้านเหรียญ
ทั้งนี้ อัตราภาษีตอบโต้ที่ห่างกันมากระหว่าง ไทย (36% ในขณะนี้) กับเวียดนาม 20% และอินโดนีเซีย 19% จะมีผลต่อการแข่งขันในตลาดสหรัฐ โดยเฉพาะรายการสินค้าที่ไทยครองส่วนแบ่งตลาดสูงมาก่อน ก็จะถูก 2 ประเทศแย่งส่วนแบ่งตลาดไป ส่วนสินค้าบางรายการที่เพิ่งส่งออกไปยังตลาดสหรัฐ มีมูลค่าการส่งออกไม่มาก เมื่อเทียบกับรายการเดียวกันนี้จากเวียดนามและอินโดนีเซีย ก็อาจจะสูญเสียตลาดส่งออกสหรัฐไปเลยก็ได้
ภาษี 20% โอกาสน้อย
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หากทีมไทยแลนด์สามารถพูดคุยเจรจาอัตราภาษีกับสหรัฐในระดับอัตราไม่เกิน 20% ใกล้เคียงกับประเทศอื่นในภูมิภาคก็ถือว่า “เป็นข่าวดี” แต่ต้องเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามที่สามารถปิดดีลการเจรจากับสหรัฐได้แล้ว โดยได้รับการลดอัตราภาษีจาก 42% ลงเหลือ 20% และอินโดนีเซียจาก 32% เหลือ 19% หากไทยได้ในระดับใกล้เคียงก็จะเป็นสัญญาณบวกให้ภาคการส่งออกและเศรษฐกิจของประเทศสามารถแข่งขันได้ ภาคเอกชนอยากให้รัฐบาลเข้ามาส่งเสริม สนับสนุนการใช้วัตถุดิบหรือส่วนประกอบที่มีการผลิตในประเทศไทย (Local Content) ให้มากขึ้น เพื่อป้องกันสินค้าสวมสิทธิ แต่สินค้าที่น่าเป็นห่วงคือ สินค้าภาคเกษตร หากมีการเปิดนำเข้าเสรีจะกระทบหนักแน่นอน เพราะต้นทุนการผลิตไทยสู้ไม่ได้ รัฐต้องเข้ามาดูแลเรื่องต้นทุนให้ถูกลงหรือสามารถแข่งขันได้ในระยะยาว
นายวิบูลย์ รักสาสน์เจริญผล รองเลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และเลขาธิการ กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ส.อ.ท. กล่าวว่า มีโอกาสที่ไทยจะได้รับการลดภาษีตอบโต้ลงไปที่ 20% หลังเจรจากับสหรัฐนั้น แม้จะเป็นไปได้น้อยมาก ที่เราจะได้ต่ำกว่า 36% เนื่องจากสหรัฐต้องการให้ไทยเปิดนำเข้าสินค้าจากสหรัฐภาษีเป็น 0% ทั้งหมด โดยเฉพาะ “สินค้าเกษตร” อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในวันที่ 1 ส.ค. 2568 ก็ยังไม่จบ เพราะทรัมป์สามารถเปลี่ยนใจได้ทุกวัน ซึ่งต่อให้ไทยได้อัตราภาษีที่ต่ำลงจริง แต่ภายในประเทศเราเองจะแย่ เพราะจะมีอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากน้อยตามลำดับอยู่แล้ว จากการลดภาษีให้ 0%
ที่มา : https://www.prachachat.net/prachachat-top-story/news-1848228


















19/07/2025