อุตฯยางระส่ำ คู่ค้าสหรัฐชะลอซื้อ กยท. ปลุกอุตยางฯ ไทย เตรียมรับแรงกระแทกภาษีทรัมป์ ขณะยางธรรมชาติ ได้ไปต่อ สหรัฐฯ ยกเว้นภาษี จากมีความจำเป็นต้องนำเข้าเป็นวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรมยางล้อ ถุงมือยางทางการแพทย์ ในประเทศ ไทยเล็งอาจปรับขายวัตถุดิบเพิ่มขึ้น
นายเพิก เลิศวังพง ประธานบอร์ด และ ผู้ว่าการการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วันนี้ (16 ก.ค.68) ได้มีการหารือผลกระทบจากการบังคับใช้ภาษีศุลกากรตอบโต้ของสหรัฐฯที่มีต่อผู้ประกอบกิจการยางของไทยที่เดิมหมดอายุเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 ออกไปจนถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2568 ซึ่งจากการประกาศอัตราภาษีใหม่ ทางสหรัฐฯ ส่งหนังสือแจ้งไปยังหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วยที่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้ ขณะที่ประเทศไทยถูกกำหนดอัตราภาษีไว้ที่ 36% ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น จากกรณีดังกล่าวนี้ทาง กยท. เห็นผู้ที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ในระบบห่วงโซ่ทั้งหมด
สำหรับอัตราภาษีค่าเฉลี่ยในอาเซียน 28% ไม่รวมไทย ส่วนค่าเฉลี่ยของเอเชีย อยู่ที่ 19% ส่วนค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 16% ส่วนประเทศไทยยังคงเดิม 36% ส่วนเวียดนามสูงสุด 46% ปรับลดลงมา 26% ซึ่งเป็นประเทศที่ได้ปรับลดภาษีมากที่สุด ซึ่งเป็นประเทศคู่แข่งในเรื่องการส่งออกยางพาราอีกด้วย ซึ่งผลกระทบการบังคับใช้ที่มีผลต่อผู้ประกอบการกิจการยางพาราไทยเกิดในหลายมิติตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ สินค้าแปรรูปและถุงมือยาง โดยผลกระทบก็มาจากภาษีสหรัฐต่อสินค้าไทย โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
“ยางธรรมชาติ” ยกเว้นภาษีนำเข้า
กลุ่มที่ 1 มูลค่าการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ปี 2567 อยู่ที่ 576 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 31.6% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดของสหรัฐ จะถูกเก็บภาษีนำเข้าขั้นพื้นฐาน 10% จากสหรัฐตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2568 เป็นต้นไป เนื่องจากปรากฏว่าในข้อยกเว้นภาษี เนื่องจากสหรัฐฯ มีความจำเป็นต้องนำเข้าเพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตในอุตสาหกรรมภายในประเทศ เช่น อุตสาหกรรมยางล้อ อุตสาหกรรมถุงมือยางทางการแพทย์ และอุตสาหกรรมท่อยาง เป็นต้น
กลุ่มที่ 2 “ถุงมือยาง” มูลค่าการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ปี 2567 อยู่ 581 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดเป็นอันดับ 3 รองจากมาเลเซียและประเทศจีน ซึ่งก่อนปรับภาษี ไทยและมาเลเซียภาษีเท่ากันที่ 14% หลังปรับภาษีไทย 36% มาเลเซีย 24% ซึ่งผลกระทบต้นทุนราคาขายถุงมือยางจากไทยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างมาเลเซียโดยตรงโดยเฉพาะในช่วงที่มีการแข่งขันด้านราคาสูง
กลุ่มที่ 3 ยางล้อ (ยางรถยนต์) มูลค่าการส่งออกของไทยไปสหรัฐ ปี 2567 อยู่ที่ประมาณ 3,939 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นประเทศที่สหรัฐนำเข้ายางล้อสูงสุด คิดเป็นเกือบ 20% ของมูลค่าการนำเข้ายางล้อของสหรัฐ ไทยส่งออกยางด้วยสัดส่วนมูลค่าสูงถึง 48.1% ของการส่งออกยางล้อในปี 2567 แสดงให้เห็นว่าไทยพึ่งพาตลาดสหรัฐค่อนข้างมาก อย่างไรก็ดีผลกระทบหลังไทยถูกเก็บภาษี 36% ผลกระทบจะทำให้ราคายางล้อจากไทยในตลาดสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นทันที ทำให้เสียเปรียบด้านราคาเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่อาจมีภาษีต่ำกว่า อีกทั้งยังกระทบต่อการตัดสินใจของผู้ซื้อในสหรัฐ และอาจะทำให้ยอดส่งออกลดลง มีผลต่อเนื่อง มายังภาคการผลิตในประเทศ เช่น โรงงานผลิตยางล้อ รวมถึงรายได้ชาวสวนยาง
นายเพิก กล่าวว่า เมื่อเกิดวิกฤตส่วนใหญ่ก็คิดว่าเป็นปัญหาของรัฐบาล มองว่าก็ถูกต้องส่วนหนึ่ง เพราะอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของรัฐบาล แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งรัฐบาลไม่ใช่พ่อค้า ไม่ใช่คนที่ทำธุรกิจ เพราะฉะนั้นคนที่จะรู้ดีที่สุดก็คนที่ทำธุรกิจก็อยากให้การประชุมในวันนี้เป็นลักษณะของการนำเสนอในสิ่งที่ธุรกิจควรจะแก้ปัญหาด้วยตัวเองแล้วให้รัฐบาลเป็นพี่เลี้ยงในการที่จะสนองต่อความต้องการในส่วนที่อุตสาหกรรมขาด แต่ถ้าบอกว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลเพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้นำเสนอข้อมูลหรือข้อเท็จจริงดีกว่า จึงเป็นที่มาของการประชุมในวันนี้เพื่อที่ กยท.จะนำเสนอกับรัฐบาลต่อไป
คู่ค้าชะลอซื้อ รอผลสรุปแน่ชัด
ด้านผู้แทนจากบริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) กล่าวในที่ประชุมว่า ในขณะข้อมูลต่างๆ จากทางลูกค้าปลายทางที่เป็นผู้ประกอบการยางล้อที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ยังรอดู ไม่มีใครกล้าฟันธง จนกว่าทุกอย่างจะแน่นอนแล้วมีผลลัพธ์โดนภาษีเท่าไร ซึ่งของไทยก็ต้องรอดูว่ามีโอกาสไหมที่จะได้ปรับลด เพราะจากวันนี้ที่ไทยเสียภาษี 36% วันนี้เสียเปรียบเวียดนามกับมาเลเซีย และอินโดนีเซีย แต่ถ้าเกิดภาษีปรับเจรจาลงมาได้ อยู่ระหว่าง 20-25% ผลกระทบจะเบาลงมาก แล้วความเสียเปรียบจะน้อยลง อย่างไรก็ดีขณะนี้คำสั่งซื้อจากผู้ค้าชะลอตัวหมด คำสั่งซื้อลดลง ก็ขายยาก เพราะต้องรอดูความชัดเจนว่าภาษีของไทยสรุปเท่าไร ไม่มีใครเดาใจประธานาธิบดีทรัมป์ได้ วันนี้ฝุ่นยังตลบอยู่ ต้องรอให้ฝุ่นจางกว่านี้ก่อน
สอดคล้องกับผู้แทนสมาคมยางพาราไทย กล่าวว่า หากบริษัทไหนที่มีโรงงานหลายประเทศ แล้วประเทศไทยที่ภาษีต่ำกว่าก็จะโยกไปผลิตประเทศนั้นมากกว่า แต่สิ่งหนึ่งที่จะเกิดคือว่า ช่วง 3 เดือนแรกอาจจะมีความสับสนในการเปลี่ยนผ่านขั้นตอนการผลิต แต่สุดท้ายทั้งโลกดีมานด์และซัพพลายคือก้อนเดียวกัน เช่น ทั้งโลกใช้ 14 ล้านตัน เป็นต้น ซึ่งถ้าประเทศไทยโดนโขกภาษี 36% ก็มองว่าประเทศไทยอาจจะมีการผลิตล้อยางลดลงในการส่งออกเข้าสหรัฐ
แต่ก็มีการส่งออกวัตถุดิบเพิ่มมากขึ้น เพราะได้ผลประโยชน์ จากภาษีเป็นศูนย์ สัดส่วนในประเทศก็ลดลง แต่ถ้าอินโดนีเซีย 19% เวียดนาม 20% และไทย 20% หรือ 25% จะทำให้ไทยรักษาตลาดสหรัฐได้ ส่วนที่จะเสนอให้รัฐบาลช่วย 3 เดือนแรกก็คือ สิงหาคมถึงตุลาคม ต้องสื่อสารและทำความเข้าใจ เพราะตลาดอาจจะมีความผันผวน และสต็อกสินค้าเรื่องช่วยผู้ประกอบการยาง วิสาหกิจ สถาบันเกษตรกร ช่วยดอกเบี้ย 3% เพื่อจูงใจการเก็บยางมากขึ้น โดยมีเงินหมุนและเงินชดเชยให้
ด้านผู้แทนสมาคมน้ำยางข้นไทย กล่าวถึงไทยจะโดนภาษี 36% ยังมีความกังวลว่าทีมไทยแลนด์จะเจรจาออกมาในรูปแบบไหนจะได้ตั้งตัวถูก เพราะขณะนี้ก็วางแผนและคาดคะเนไม่ถูก แล้วเรายังต้องโดนคู่แข่ง อย่างเวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย จากเหรดภาษีที่ออกมาก็แพ้ตั้งแต่ต้นแล้ว เพราะเราจ่ายภาษีแพงกว่า นี่เป็นจุดหนึ่งที่มองแล้วเราแทบจะไม่มีอนาคตเลยที่จะไปแข่งได้โดยเฉพาะในเรื่องภาษี
ทั้งนี้ “ยาง” ประกอบ 3 ตัวหลักใหญ่ ก็คือ ยางแผ่น ยางแท่ง และน้ำยางข้น ซึ่งยางแผ่นและยางแท่ง จะไปสู่อุตสาหกรรมยางล้อ ซึ่งมีกำไรสูงมาก เพราะฉะนั้นมองว่าอุตสาหกรรมยางล้อสามารถปรับตัวได้ถ้าซื้อวัตถุดิบจากไทยไป แต่ว่าอุตสาหกรรมน้ำยางข้น เป็นโลว์มาจิ้น หมายความว่าแทบจะไม่มีกำไร และที่สำคัญที่สุดน้ำยางข้นโดนตีด้วยราคาของเวียดนามซึ่งเป็นคู่แข่งตัวสำคัญ ซึ่งเราไม่ใช่โดนภาษีตอบโต้ของทรัมป์ที่จะมีปัญหา แต่เราเจอปัญหามา 2-3 ปีแล้ว จนเราสู้ราคาไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นตลาดจีน ตลาดยุโรป และตลาดเกาหลี รวมถึงมาเลเซียแล้วก็หันไปซื้อของเวียดนามทั้งหมด ทุกวันนี้สินค้าแทบจะไม่ได้ขายเลย แล้วท้ายสุดก็อาจจะเสียแชมป์น้ำยางข้นให้เวียดนามไปในอนาคต
ทั้งนี้สหรัฐฯภาษี 36% ถ้าในส่วนวัตถุดิบไม่เกี่ยว แต่ภาษีที่เสนอ FOB ก็มีราคาถูกว่า 150 ถึง 200 ดอลาร์สหรัฐ ก็สู้ไม่ได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นในส่วนนี้วัตถุดิบสหรัฐฯ ซื้อเข้าไปน้อยมาก ปีหนึ่งซื้อแค่พันตัน แต่ว่าสินค้าที่กระทบหนักมากก็คือสินค้าปลายน้ำก็คือผลิตภัณฑ์ปลายน้ำที่ทำจากน้ำยางข้น เช่น ถุงมือยางธรรมชาติ ที่มีข้อกล่าวหาในเรื่องโปรตีน ใส่แล้วแพ้ เพราะฉะนั้นไม่ซื้อเลย ถึงแม้ไม่มีภาษีก็ห้ามเข้าอยู่แล้ว
อย่างไรก็ดีหากภาษีทรัมป์ 36% รัฐบาลจะช่วยอย่างไร อุตสาหกรรมยาง เป็นหนึ่งใน 5 ประเภทที่ส่งเข้าสหรัฐอเมริกามากที่สุด ในส่วนซอฟต์โลน 2 แสนล้านบาท จะจัดสรรแบ่งให้เท่าไร กยท.ก็ต้องวางแผนเสนอปัญหาเพื่อขอจองงบประมาณไว้ก่อน ว่าจะขอเท่าไร เพราะวันนี้โดนผลกระทบจากการปรับค่าแรงงานวันละ 400 บาท มาซ้ำเติมปัญหาอีก
นายเพิก กล่าวว่า ในยุคของผมจะไม่มีการแทรกแซง ไม่มีการชดเชยรายได้ แต่ถ้ามีนโยบายมาก็ต้องหาคนใหม่มาทำ เพราะผมไม่ทำ ผมลาออกทันที ดังนั้นสิ่งที่พูดในวันนี้อยากเห็นการพัฒนาของประเทศที่ไม่ใช่อุตสาหกรรมยางพาราอย่างเดียวก็ขอความร่วมมือช่วยกันเดินไปข้างหน้าให้ได้
ที่มา https://www.thansettakij.com/economy/trade-agriculture/633027