สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เผยทำหนังสือถึง “อรรถกร ศิริลัทธยากร” รมว.กระทรวงเกษตรฯ ร้อง 5 ข้อแก้ไขปัญหายางพาราไทย พร้อมเรียกร้องเร่งด่วน ให้เร่งแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมยางและเรียกประชุมคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องทันที
นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สมาคมได้ทำหนังสือถึง นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง ข้อเสนอเร่งด่วนเพื่อกอบกู้วิกฤตยางพาราไทย ตามมติการประชุมสามัญสมาชิกเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2568
โดยจากการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2568 ของ สยท. เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2568 สมาชิกทุกท่านได้แสดงความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับสถานการณ์ราคายางพาราที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ โดยเป็นผลมาจากปัจจัยหลายประการ อาทิ ผลผลิตล้นตลาด การนำเข้าน้ำยางข้นในราคาถูก การแข่งขันจากยางสังเคราะห์ ค่าเงินบาทแข็งตัว ความต้องการใช้ที่ลดลง และภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
แม้ว่าสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยท.) จะได้นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหานี้ต่อหน่วยงานภาครัฐหลายครั้ง แต่ยังไม่ได้รับการตอบสนองที่เป็นรูปธรรม ดังนั้น สมาคมจึงขอทบทวนและขอความกรุณาให้ท่านรัฐมนตรีพิจารณาข้อเสนอดังกล่าวใหม่โดยเร่งด่วน ดังต่อไปนี้ :
1.การแก้ไขปัญหาการนำเข้าน้ำยางข้นที่สวนทางกับนโยบายรัฐบาล
สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยท.) ขอแสดงความกังวลเร่งด่วนต่อกรณีที่มีการนำเข้าน้ำยางข้นสูตรเฉพาะจากต่างประเทศในปริมาณสูงผิดปกติในปี 2567 ซึ่งขัดแย้งกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสกัดกั้นการนำเข้ายางเถื่อนและควบคุมการนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมายบริเวณชายแดนอย่างเข้มงวด การนำเข้าดังกล่าวอาจเป็นเพียงข้ออ้างของผู้ประกอบการเพื่อนำเข้ายางราคาถูก ซึ่งกำลังส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคายางในประเทศ ทำให้เกษตรกรต้องขายยางต่ำกว่าต้นทุน และอาจนำไปสู่การล่มสลายของอุตสาหกรรมยางไทย
จึงขอความกรุณาให้ท่านรัฐมนตรีพิจารณาและให้คำตอบเกี่ยวกับนโยบายที่ชัดเจนในการบริหารจัดการและควบคุมการนำเข้ายางพารา รวมถึงให้ยกเลิกหนังสือที่ กษ0939/ว1193 ลว. 23 พฤษภาคม 2568 เพราะกรมวิชาการเรียกผู้ซื้อยางโดยยอมรับว่าราคายางต่างประเทศถูกกว่ายางในประเทศ สยท. จึงของดการสั่งยางเข้าทั้งหมด โดยยกเว้นสั่งตัวอย่างไม่เกิน 5 กิโลกรัม ตาม พ.ร.บ. เท่านั้น การกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ. 2542 รวมถึงมาตรา 26 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าสินค้าเกษตร
2.การเร่งปรับชั้นพันธุ์ยางและส่งเสริมการใช้พันธุ์ยางประสิทธิภาพสูง
ตามปกติ การประกาศชั้นยางจะเกิดขึ้นทุก 4 ปี แต่ปัจจุบันผ่านมาแล้วถึง 12 ปี ยังไม่มีการประกาศชั้นยาง ซึ่งสร้างความไม่แน่นอนให้กับตลาดและเกษตรกร สยท.ขอเสนอแนวทางการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตผ่านการดำเนินการดังนี้ :
2.1 การปรับชั้นพันธุ์ยาง RRIM 600 : ขอให้ท่านรัฐมนตรีใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ. 2542 มาตรา 8 สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรลดชั้นพันธุ์ยาง RRIM 600 ลงเป็นยางชั้น 3 เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตต่ำ (ประมาณ 220 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี) และไม่ทนทานต่อโรค ทั้งที่เจ้าของพันธุ์อย่างสถาบัน RRIM ประเทศมาเลเซีย ได้ยกเลิกการส่งเสริมพันธุ์นี้มานานกว่า 30 ปีแล้ว เพื่อเป็นการส่งเสริมและจูงใจให้เกษตรกรหันไปปลูกพันธุ์ยางที่ให้ผลผลิตสูงกว่าและทนโรคได้ดีกว่า เช่น พันธุ์ยาง RRIT 3904 ซึ่งให้ผลผลิตสูงถึง 400 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี
2.2 การสนับสนุนการใช้อีทีฟอน พลัส 5% : ในอดีต สถาบัน RRIM มาเลเซีย ได้ใช้อีทีฟอน พลัส เพื่อแก้ปัญหาผลผลิตจากพันธุ์ยาง RRIM 600 และประเทศไทยก็เคยมีการสั่งเข้ามาใช้ได้ แต่ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรได้มีข้อห้าม สมาคมจึงขอเสนอให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จัดสรรอีทีฟอน พลัส 5% ให้เกษตรกรที่ปลูกพันธุ์ RRIM 600 ฟรี เป็นระยะเวลา 2 เดือน (ไม่เกิน 15 ไร่ต่อราย) โดยใช้งบประมาณประมาณ 150 ล้านบาท จากเงินอุดหนุนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง ตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 มาตรา 49 (3) การดำเนินการนี้จะช่วยเพิ่มผลผลิตน้ำยางได้ถึง 2 เท่า ช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรในระยะสั้น และหลังจากนั้น ขอให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) พิจารณานำอีทีฟอน พลัส 5% เข้ามาจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเกษตรกรเพิ่มรายได้และรักษาระดับราคายางให้มีเสถียรภาพโดยไม่ต้องพึ่งพิงการประกันรายได้จากรัฐบาลในระยะยาว
3.การลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตด้วยปุ๋ยสั่งตัด (ข้อเสนอที่ กนย. เห็นชอบแล้ว)
สมาคมขอเสนอแนวทางการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตยางพารา ด้วยการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยสั่งตัด หรือปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ซึ่งคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ได้เห็นชอบในหลักการนี้แล้ว ปัจจุบันเกษตรกรจำนวนมากยังคงใช้ปุ๋ยเคมีในสูตรและปริมาณที่ไม่เหมาะสม ซึ่งนอกจากจะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็นแล้ว ยังอาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตในระยะยาว การใช้ปุ๋ยสั่งตัดจะช่วยให้เกษตรกรสามารถใส่ปุ๋ยได้ตรงตามความต้องการของธาตุอาหารในดินและพืชยางแต่ละชนิด ซึ่งจะช่วย : ลดต้นทุนค่าปุ๋ยที่ไม่จำเป็นลงได้มาก เพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึมธาตุอาหารของพืช เพิ่มปริมาณผลผลิตน้ำยางและคุณภาพของยางให้สูงขึ้น รักษาสมดุลของธาตุอาหารในดินและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เร่งส่งเสริมให้ความรู้แก่เกษตรกร และสนับสนุนให้มีการจัดหาบริการวิเคราะห์ดินและแนะนำสูตรปุ๋ยสั่งตัดที่เข้าถึงง่ายและมีราคาเหมาะสม เพื่อเป็นอีกหนึ่งมาตรการในการลดภาระต้นทุนและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับหลักการส่งเสริมการผลิตที่มีประสิทธิภาพตามพระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ. 2542
4.การเร่งดำเนินการกำหนดมาตรฐานยางทุกชนิด
พระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ. 2542 มาตรา 4 และมาตรา 7 กำหนดให้มีการกำหนดมาตรฐานสำหรับยางทุกชนิด เพื่อเป็นมาตรฐานในการซื้อขายและควบคุมคุณภาพ รวมถึงการกำหนดมาตรฐานสำหรับยางสูตรพิเศษ อย่างไรก็ตาม เป็นเวลา 12 ปีแล้วที่ยังไม่มีการประกาศชั้นยางตามค่าที่ชัดเจน ตามพิธีที่เคยปฏิบัติมา โดยประกาศ 4 ปีครั้ง และมาตรฐานยางต่าง ๆ ที่เป็นปัจจุบัน โดยการประกาศชั้นยางครั้งสุดท้ายในราชกิจจานุเบกษา คือเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2556 ความล่าช้านี้ถือเป็นความผิดปกติอย่างมากและส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกร ทำให้เกิดความสับสนในการกำหนดราคาและสร้างความเสียเปรียบในการขายผลผลิต
5.การบังคับใช้กฎหมายเพื่อความโปร่งใสในตลาดและการให้ข้อมูลแก่เกษตรกร
เพื่อให้การซื้อขายยางพารามีความโปร่งใสและเป็นธรรมต่อเกษตรกร สมาคมขอความกรุณาให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ดังนี้ :
5.1 การรายงานข้อมูลการค้าของผู้ค้ายาง : ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ. 2542 มาตรา 23 ซึ่งกำหนดให้ผู้ค้ายางต้องจัดทำบัญชีแสดงปริมาณการซื้อยาง การจำหน่ายยาง และปริมาณยางคงเหลือของทุก ๆ เดือน และจัดส่งบัญชีดังกล่าวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในวันที่ 10 ของเดือนถัดไปอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ภาครัฐมีข้อมูลที่ถูกต้องและทันสมัยในการบริหารจัดการและกำกับดูแลตลาด
5.2 การแจ้งข้อมูลการขายล่วงหน้า : ขอให้กรมวิชาการเกษตรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีกลไกในการแจ้งให้เกษตรกรได้รับทราบถึงราคายางที่มีการซื้อขายล่วงหน้า เพื่อให้เกษตรกรสามารถประเมินสถานการณ์ตลาดและคำนวณช่องว่างของกำไรขาดทุนได้ล่วงหน้า ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรวางแผนการผลิตและการขายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ข้อเรียกร้องเร่งด่วน : เร่งแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมยางและเรียกประชุมคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องทันที
จากประเด็นปัญหาสำคัญทั้ง 5 ข้อที่ได้กล่าวมาข้างต้น สยท.จึงขอเรียกร้องให้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้รับผิดชอบตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ. 2542 เร่งดำเนินการแต่งตั้ง คณะกรรมการควบคุมยาง ให้ครบถ้วนตามพระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ. 2542 มาตรา 11 โดยด่วนที่สุด และเมื่อคณะกรรมการครบถ้วนแล้ว จึงเร่งเรียกประชุมคณะกรรมการควบคุมยาง และได้โปรดเสนอให้นายกรัฐมนตรีเรียกประชุม คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) โดยด่วนที่สุด เพื่อพิจารณาและหาแนวทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรมและทันท่วงที การปล่อยปละละเลยจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ และอาจนำไปสู่การล่มสลายของอุตสาหกรรมยางพาราไทยในที่สุด
ดังนั้น ข้อเสนอของ สยท. ควรให้นักวิชาการเรื่องยางวิเคราะห์ หากไม่เห็นด้วยก็ควรเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่ทุกฝ่ายเห็นชอบ ทาง สยท.ไม่ขัดข้องและมีความยินดีให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ
ที่มา https://www.prachachat.net/economy/news-1839480