โรงงานใต้แห่แย่งซื้อไม้ยางพารา ทำราคาพุ่ง หลังความต้องการตลาดพุ่ง แต่ปริมาณไม้ยางลดฮวบ
แหล่งข่าวจากเจ้าของสวนยางพาราในพื้นที่ภาคใต้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ไม้ยางพาราได้ทยอยปรับราคาสูงขึ้นมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2568 จากราคา 1.50 บาท/กก. ที่อยู่นิ่งมาหลายปี โดยเฉพาะไม้ยางพาราขนาดหน้าตั้งแต่ 4 นิ้ว 5 นิ้ว และ 6 นิ้ว ปรับขึ้นเฉลี่ยประมาณ 1.60-1.70 บาท/กก. โดยเฉพาะไม้หน้า 6 นิ้วขึ้นไป ราคาทยอยปรับขึ้นตั้งแต่ 1.70-1.80-1.85 บาท และล่าสุดผู้ประกอบการยางพาราแปลงใหญ่ที่สามารถนำไปส่งขายได้ถึงหน้าโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปไม้จะได้ราคาสูงถึง 2.10 บาท/กก.
ทั้งนี้ สาเหตุที่ไม้ยางปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันสวนที่มีต้นยางพาราขนาดใหญ่ ไม้ขนาดหน้าตั้งแต่ 4 นิ้ว 5 นิ้ว และ 6 นิ้ว มีปริมาณน้อยลงมาก เพราะเกษตรกรส่วนหนึ่งหันไปโค่นต้นยางพาราทิ้ง และปลูกทุเรียน ปาล์มน้ำมัน และกาแฟ ที่เห็นว่ามีราคาดีกว่าแทน ประกอบกับช่วงนี้เข้าสู่ฤดูฝน การตัดไม้ยางจากบางพื้นที่ทำได้ลำบาก ส่งผลให้ทุกปีช่วงหน้าฝนราคาไม้ยางพาราจะปรับตัวสูงขึ้นกว่าปกติ
“ราคาไม้ยางพาราจะไม่นิ่งขึ้นอยู่กับกลไกการตลาด และภาวะดินฟ้าอากาศ ขณะมีหน้าฝนมากกว่าแล้ง ส่งผลต่อการทำไม้ยากสำหรับในพื้นที่ป่า ภูเขา ส่งผลให้ไม้ในพื้นที่ราบพื้นที่สะดวกมีการแข่งขันวางมัดจำซื้อป้อนโรงงาน ราคาจึงปรับตัวขึ้น แต่พอเข้าสู่หน้าแล้งราคาจะปรับลง ตอนนี้การขายไม้ยางพาราให้ได้ 50,000-70,000 บาท/ไร่ ยากมาก
เพราะภายใต้พื้นที่ 1 ไร่จะมีการคัดเลือกไม้แต่ละเกรดราคาแตกต่างกันไป เช่น ไม้ยางพาราขนาดจัมโบ้ ไม้หน้า 6 นิ้ว และไม้หน้า 6 นิ้วขึ้นไป น้ำหนักประมาณ 400-500 กก./ต้น หรือประมาณ 30-40 ตัน/ไร่ ยังไม่รวมกิ่ง โคนราก ที่มีน้ำหนักประมาณ 5-10 ตัน/ไร่ ไม้กลุ่มนี้จะแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มีมูลค่าสูง ราคาไม้ขนาดต้นจัมโบ้ มีราคาตั้งแต่ 40,000-70,000 บาท/ไร่ แต่ไม้ยางพาราในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะได้ราคาประมาณ 40,000-50,000 บาท/ไร่ ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับความสะดวกของพื้นที่
หากเป็นไม้ยางพาราที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า หรือ EUDR ทางโรงงานจะบวกเพิ่มให้อีก 0.90 ถึง 1 บาท/กก. หรือถ้าเป็นสวนยางที่เข้าร่วมโครงการมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน (FSC) จะได้บวกเพิ่มอีก 1 บาท เช่นกัน”
ส่วนเศษไม้ยางพาราหรือไม้ฟืน ราคาประมาณ 00.90 บาท/กก. และโคนรากประมาณ 00.70 บาท/กก. และ 00.50 บาท/กก. ราคาพุ่งดีดขึ้น 30-50 สตางค์/กก. ส่วนไม้ที่มีขนาดหน้าต่ำกว่า 4 นิ้วลงมา ถือเป็นไม้ตกเกรด จะนำไปทำเป็นเศษไม้หรือไม้ฟืน
แหล่งข่าวจากเจ้าของโรงไม้ยางพาราเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ตลาดโลกมีความต้องการไม้ยางพาราจำนวนมาก แต่ปริมาณไม้ยางพาราที่ลดลงทำให้การผลิตของโรงงานต้องหยุดชะงักลง ดังนั้น เพื่อไม่ให้การผลิตต้องหยุดชะงักลง ทำให้แต่ละโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ยางต้องมีการแข่งขันกันเสนอราคารับซื้อไม้ยางพาราในราคาที่สูงขึ้น โดยมีกลุ่มนายหน้าคนกลางแข่งขันกันวิ่งหาไม้และวางมัดจำในราคาที่สูง เพื่อให้ได้ไม้ยางพารา ขณะที่ราคาไม้ยางพาราในตลาดโลกก็ปรับตัวแต่ไม่ได้สูงมาก
นายวิถี สุพิทักษ์ อดีตอุปนายกสมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทย ประธานกรรมการ บริษัท วู้ดเวอร์ค จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ยางพารารายใหญ่ภาคใต้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาตลาดโลกมีความต้องการไม้ยางพาราสูงโดยเฉพาะประเทศจีน จึงมีการลงทุนขยายอุตสาหกรรมไม้ไว้รองรับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น
แต่ปัจจุบันกลับสวนทางกัน ปริมาณไม้ยางพารามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากที่มีการโค่นไม้ยางพาราแล้วหันไปลงทุนปลูกทุเรียน และปาล์มน้ำมัน ฯลฯ โดยปลูกยางพาราใหม่เพียง 30-40% และยังมีแนวโน้มทยอยลดลงอย่างต่อเนื่อง
นายวิถีกล่าวต่อไปว่า ตอนนี้การขอทุนสงเคราะห์การทำสวนยางโค่นปลูกทดแทนน้อยลง เหลือ 200,000 ไร่/ปี จากปริมาณการโค่นปลูกทดแทน ประมาณ 400,000 ไร่/ปี เนื่องจากเงินกองทุนสงเคราะห์การโค่นยางปลูกทดแทนที่มีปริมาณน้อย ดังนั้น ผลประกอบการไม้ยางพาราจะต่างไปจากเดิม แม้ว่าราคาจะปรับตัวดีในช่วงนี้ และจีน ซึ่งเป็นตลาดรายใหญ่มีความต้องการไม้ยางพาราปริมาณน้อยลง ซึ่งก็บาลานซ์กับไม้ยางพาราไทยที่ได้ผลผลิตน้อยลงเช่นกัน
“ช่วงมีหน้าฝนมาก ยากลำบากต่อการทำไม้ จึงมีการแข่งขันและวางเงินมัดจำซื้อไม้เข้าโรงงาน ส่งผลให้ราคาไม้ยางพาราได้มีการปรับตัว
ที่มา https://www.prachachat.net/local-economy/news-1838274