อีโค่-สมาร์ตแดมเปอร์ นวัตกรรมยางพาราไทย มูลค่าส่งออก 200 ล้าน


“อีโค่-สมาร์ตแดมเปอร์” นวัตกรรมวัสดุธรรมชาติลดปัญหามลพิษเสียง-แรงสั่นสะเทือนจากรางรถไฟ ภายใต้ความร่วมมือของ สจล. และ AUT ผลิตและส่งออกสร้างมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท พร้อมมุ่งสู่ตลาดโลก
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเดินทางด้วยรถยนต์ รถเมล์ หรือรถมอเตอร์ไซค์ท่ามกลางเมืองที่เต็มไปด้วยฝุ่นควัน และบางครั้งก็ต้องเผชิญหน้ากับสภาพรถติด คนส่วนใหญ่จึงตัดปัญหาด้วยการกระโดดขึ้นขนส่งสาธารณะ โดยมีการเดินทางยอดฮิตคือ รถไฟ
ซึ่งแม้ว่าจะปราศจากฝุ่น และสามารถเดินทางถึงได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังมีปัญหามารบกวนและแรงสั่นสะเทือนจากทางรถไฟ ซึ่งอาจทวีความรุนแรงจนส่งผลต่อคุณภาพชีวิต เป็นที่มาของ “อีโค่-สมาร์ตแดมเปอร์จากส่วนผสมยางธรรมชาติเพื่อลดเสียงและการสั่นสะเทือนบนทางรถไฟ” (Eco-Smart Noise and Vibration Absorption Block for Railway)
โครงการที่พัฒนาโดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมกับบริษัท เอ.ยู.ที. จำกัด (AUT) ผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์จากยูริเทน ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจาก กระทรวง อว. โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)
แดมเปอร์ ลดเสียง-แรงสั่นสะเทือน
โครงการนี้เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหามลภาวะทางเสียงและการสั่นสะเทือนที่เกิดจากการขยายตัวของระบบขนส่งทางราง ควบคู่ไปกับการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ โดยนวัตกรรมอีโค่-สมาร์ตแดมเปอร์มีจุดเด่นคือ การพัฒนาแท่งสลายพลังงาน (Rail Damper) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เนื่องจากตัวแดมเปอร์ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ (ยางพารา) และวัสดุรีไซเคิล (เศษยางรถยนต์เก่า) เป็นส่วนผสมหลักแทนการใช้วัสดุสังเคราะห์นำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้นวัตกรรมนี้สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) หรือโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับยางพาราไทย
นอกจากนี้ยังช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากมลพิษทางเสียงที่เกิดจากรถไฟ ด้วยการลดเสียงดังที่ต้นเหตุได้กว่า 3-7 เดซิเบล ตามกฎ 3dB ที่ระบุว่า “การเปลี่ยนแปลงทุก ๆ 3dB แสดงถึงการเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าหรือลดลงครึ่งหนึ่งของพลังงานเสียง” ซึ่งนวัตกรรมนี้ช่วยให้เสียงสะท้อนของรางรถไฟลดลงกึ่งหนึ่ง และยังเพิ่มสมรรถนะของทางรถไฟ ลดวงรอบการซ่อมบำรุงจากการเจียร์ราง
จากการทดสอบทั้งในห้องปฏิบัติการที่ สจล. และห้องปฏิบัติการมาตรฐานสากลในประเทศเยอรมนี รวมถึงการทดสอบติดตั้งใช้งานจริง โดยติดตั้งบนทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว (BTS) 700 ก้อนและสายสีแดง (SRT) 700 ก้อน นานกว่า 18 เดือน ผลลัพธ์คือ แดมเปอร์สามารถลดเสียงและการสั่นสะเทือนได้จริง 3-7 เดซิเบล
ผลการทดสอบล่าสุดบนทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงสถานีอุดมสุข-ปุณณวิถี พบว่า สามารถลดระดับเสียงได้ถึง 4.3 เดซิเบล และลดลง 2.5 เดซิเบล บนรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงสถานีตลิ่งชัน-บางบำหรุ  ซึ่งเป็นการลดลงที่มนุษย์สามารถรับรู้ได้อย่างชัดเจน
นอกจากนี้โครงการยังได้พัฒนาระบบสมองกลฝังตัว (Embedded System) ที่สามารถติดตั้งเซ็นเซอร์เพื่อตรวจวัดการสั่นสะเทือน เสียง อุณหภูมิ และวัดน้ำหนักรถขณะวิ่ง (Weight in Motion – WM) บนรางรถไฟได้ ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำไปวิเคราะห์ด้วย AI และ IOT เพื่อเฝ้าระวัง แจ้งเตือน และวางแผนบำรุงรักษารางและตัวรถไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากงานวิจัย สู่ความสำเร็จเชิงพาณิชย์
ผศ.ดร.รัฐภูมิ ปริชาตปรีชา หัวหน้าโครงการวิจัย สจล. กล่าวถึงแรงบันดาลใจและความท้าทายของโครงการนี้ว่า ต้องการนำวัสดุในประเทศอย่างยางพาราและเศษยางมาสร้างนวัตกรรมที่แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสร้างมูลค่าเพิ่มรวมถึงการต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ที่แข่งขันได้ในตลาดโลก
ความยากคือต้องออกแบบปรับจูนแดมเปอร์ให้เข้ากับทางรถไฟที่มีความแตกต่างกันและ ต้องผ่านมาตรฐานในระดับสากลและการต่อยอดจาก TRL8 สู่ Commercialize TRL 9 ยังต้องวิจัยต่อเนื่องต่ออีกเพื่อให้นวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นสามารถแข่งขันในตลาดระดับสากลได้ ด้วยความร่วมมืออย่างกับ AUT ตั้งแต่การออกแบบจนถึงการทดสอบ และการสนับสนุนจาก บพข. ทำให้งานวิจัยในครั้งนี้สามารถนำไปใช้งานและแข่งขันในตลาดโลกได้จริง
ด้านนายธรณิน ณ เชียงตุง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ.ยู.ที. จำกัด กล่าวถึงการตัดสินใจเข้ามาร่วมลงทุนในครั้งนี้ว่า  เป็นโอกาสทางธุรกิจครั้งสำคัญ และต้องยอมรับว่า การสนับสนุนจาก บพข. และความร่วมมือกับ สจล. ช่วยลดความเสี่ยงและทำให้เราเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ จนสามารถเปลี่ยนจากการเป็นผู้รับจ้างผลิตระดับ Tier 3 สู่ผู้ผลิตระดับ Tier 1 จนสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมได้ด้วยตัวเอง ขยายตลาดสู่ระดับสากลได้สำเร็จ
ทั้งกระบวนการวิจัยทำให้บริษัทได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จนเข้าใจถึงรากฐานของผลิตภัณฑ์จากเดิมที่ทำได้เพียงรับจ้างผลิตตามเทคโนโลยีจากต่างประเทศเท่านั้น สามารถต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานเข่งขันได้ในระดับสากล
อย่างไรก็ตามความสำเร็จในการส่งออกไปเนเธอร์แลนด์เป็นเพียงจุดเริ่มต้น เรายังมีแผนขยายตลาดไปยังยุโรป ออสเตรเลีย และในประเทศ ซึ่งคาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 250-300 ล้านบาท
วางเป้าส่งออก 6 แสนชิ้น
สำหรับโครงการนี้เกิดขึ้นจากการร่วมมือของภาครัฐอย่างหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ให้ทุนสนับสนุนวิจัยกว่า 11.5 ล้านบาท ร่วมกับภาคเอกชนที่สนับสนุนทั้งในรูปแบบ In-Cash และ In-Kind เพื่อพัฒนาโครงการตั้งแต่ระดับห้องปฏิบัติการ (TRL 4) สู่การสร้างต้นแบบที่ทดสอบในสภาพแวดล้อมจริง (TRL ช่วยลดความเสี่ยงด้านการลงทุนวิจัยและพัฒนา (R&D)
โดยมีบริษัท AUT ซึ่งเดิมเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนแดมเปอร์ให้กับเจ้าของเทคโนโลยีต่างชาติ ได้นำองค์ความรู้จากงานวิจัย TRL 8 มาลงทุนและพัฒนาต่อยอด เพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามมาตรฐานสากลจนยกระดับสู่การเป็นเจ้าของเทคโนโลยี (TRL 9)
และประสบความสำเร็จในการชนะการประมูลสัญญาผลิตและส่งออก “อีโค่สมาร์ตแคมเปอร์” จำนวนกว่า 400,000 ชิ้น มูลค่า 200 ล้านบาท ให้กับการรถไฟเนเธอร์แลนด์ภายในปี 2568 (2025) โดยวางเป้าไว้ว่า จะมีการประมูลครั้งที่ 3 เพื่อให้ตรงตามเป้าหมายการผลิตและส่งออกทั้งหมด 600,000 ชิ้น มูลค่า 300 ล้านบาท
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ได้รับความสนใจจากหลายหน่วยงานในประเทศซึ่งคาดว่าจะมีการจัดซื้อในอนาคตอันใกล้นี้ โดยตลาดในประเทศจะดำเนินการภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรม สจล.และบริษัท เอ.ยู.ที จำกัด ขณะที่ตลาดต่างประเทศก็ได้รับความสนใจนอกเหนือไปจากกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป และออสเตรเลีย ยังมีกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ
ที่มา https://www.prachachat.net/sd-plus/news-1809495


















02/06/2025