อุทัย” นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางฯ ส่งหนังสือถึง นายกฯ อิ๊งค์ ช่วยจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม หลัง ปี 68รัฐบาลสั่งเดินหน้าเต็มสูบ เพิ่มการใช้ยางในประเทศ กระทบเก็บเงินเซสส์ส่งออก ทุบรายได้ กยท.หด ผวาลาม กระทบสวัสดิการ ชาวสวนยาง วูบ
ดร. อุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้ส่งหนังสือถึง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เรื่อง เรื่องแนวทางการบริหารจัดการเงินค่าธรรมเนียมในการส่งยางพาราออกนอกราชอาณาจักร (เงินเซสส์) สืบเนื่องจากประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ครั้งที่ 2 /2567 (14 พ.ย.67) โดยมี นายพิชัย ชุณหวชิรรองนายกรัฐมนตรี รองประธานกรรมการทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม
ตามวาระการประชุมที่ 3 เรื่องเพื่อทราบวาระที่ 3.1 สถานการณ์ยางพาราในหัวข้อ "สถานการณ์ยางพาราของไทย" โดยมีข้อมูลว่าการใช้ยางภายในประเทศในระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นจาก 0.66 ล้านตันในปี 2 5 6 2 เป็น 1.23 ล้านตันในปี 2 5 6 6 เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 20.07 ต่อปี โดยในปี 2 5 6 7 สมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติคาดว่าการใช้ยางในไทยจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.63 จาก 1.23 ล้านตันในปี 2 5 6 6 เป็น 1.25 ล้านตันในปี 2 5 6 7 เนื่องจากนโยบายกระตุ้นการใช้ยางภายในประเทศโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางล้อ ฯลฯ
“ประธานที่ประชุมมีข้อคิดเห็น เป็นข้อสังเกตต่อที่ประชุม ว่าจากรายงานสถานการณ์ การผลิตและการใช้ยางพาราทั้งโลกพบว่ามีการใช้ยางพารามากกว่าการผลิตอยู่เล็กน้อยซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดี โดยประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตยางพาราอันดับหนึ่ง ของโลกแสดงว่าประเทศไทยมีความสามารถในการนำยางพารามาเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปได้น้อย จึงส่งออกยางพาราในปริมาณมาก
ขณะที่ประเทศอื่นๆเน้นการนำยางพาราเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชั้นกลางหรือชั้นปลายเพื่อการส่งออกจึงมอบหมายให้การยางแห่งประเทศไทยทำการศึกษาข้อมูล การผลิตและแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อเป็นข้อมูล ประกอบการกำหนดทิศทางการผลิตและการแปรรูปยางพาราของประเทศไทยในอนาคต จะส่งผลทำให้ประเทศไทยจะมีรายได้เข้าประเทศมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น และเพื่อเป็นการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมสำเร็จรูป มีมากขึ้น โดยไม่เป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมทุกรูปแบบนอกจากนั้นผลดีของการใช้ยางภายในประเทศ เพิ่มมากขึ้นเท่าไรจะทำให้ราคายางมีเสถียรภาพมากขึ้นเท่านั้นได้ประโยชน์ตั้งแต่ต้นน้ำกลางน้ำและปลายน้ำ
ดร.อุทัย กล่าวว่า หากในอนาคตมีการใช้ยางในประเทศมากขึ้นทุกๆปี ในทางตรงข้ามจะมีผลกระทบต่อรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการส่งยางพาราออกนอกราชอาณาจักร ตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 ที่ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็น ผู้ประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เนื่องจากในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติ กำหนดความหมายของคำว่า “ยางพารา”หมายถึงยางและไม้ยางและคำว่า “ยาง” มีข้อยกเว้นไม่รวมถึงผลิตภัณฑ์ยางและวัตถุประดิษฐ์สำเร็จรูปจากยาง
“ ผลกระทบที่มีต่อรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวที่ลดลงจะทำให้แหล่งทุนจากกองทุนพัฒนายางพาราจะลดน้อยถอยลง กยท.ก็จะไม่อาจดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของ การจัดตั้งกองทุนพัฒนายางพาราที่กำหนดให้จัดตั้งกองทุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนายางพาราในที่สุดก็จะกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนยางซึ่งตามมาตรา 49 ได้กำหนดไว้ว่าการใช้จ่ายเงินกองทุน ให้กระทำอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงประโยชน์ของเกษตรกร ชาวสวนยางเป็นหลัก”
อย่างไรก็ดีทางสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ยังมองถึงอนาคตถ้าประเทศไทย ใช้ยางในประเทศที่ใกล้เคียงร้อยเปอร์เซ็นต์ดังเช่นประเทศมาเลเซียรายได้จากเงินค่าธรรมเนียมก็เกือบเป็นศูนย์ ทางประเทศมาเลเซียโดย RISDA จึงต้องทำธุรกิจหลายอย่างเพื่อให้มีรายได้มาชดเชยค่าธรรมเนียม (CESS) ที่ขาดหายไป และยังต้องขอเงินสนับสนุนจากรัฐบาลด้วย
ข้อเสนอของสมาคมฯกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กยท. จำเป็นต้องรีบเร่งหาแนวทางการบริหารจัดการเงินค่าธรรมเนียมในการส่งยางพาราออกนอกราชอาณาจักรควบคู่ไปกับการหาแนวทางการส่งเสริมการใช้ยางในประเทศตามมติคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติดังกล่าว โดยคณะกรรมการสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทยเสนอแนวทางการบริหารจัดการเงินค่าธรรมเนียม การส่งยางออกนอกราชอาณาจักรเพื่อประกอบการพิจารณาดังนี้
ข้อเสนอที่ 1. ปริมาณยางทุกชนิดที่ใช้ภายในประเทศในแต่ละปี ซึ่งเมื่อคำนวณ ตามอัตราการจัดเก็บเงินค่าธรรมเนียมการส่งยางออกนอกราชอาณาจักร เป็นเงินเท่าไร ขอให้รัฐบาลจัดสรรเป็นงบประมาณให้ การยางแห่งประเทศไทยเพื่อเป็นเงินทุนในการพัฒนายางพาราตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2558 มาตรา 49โดยเฉพาะมาตรา 49(2)เพื่อการสงเคราะห์ปลูกแทน ซึ่งต้องดำเนินการให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดทั้งนี้จะต้องแก้ไขพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2 5 5 8 โดยด่วน เพราะขณะนี้เงินค่าธรรมเนียมฯมีจำนวนลดลงปีละประมาณ 10% หรืออาจมากกว่านี้ขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้ยางภายในประเทศ
ข้อเสนอที่ 2. ขอให้รัฐบาลตั้งงบประมาณประจำปีให้การยางแห่งประเทศไทยปีละ 1% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์ยางสำเร็จรูปที่ส่งออกของปีที่ผ่านมาในขณะที่ยังไม่มีการแก้ไข พระราชบัญญัติตามข้อเสนอที่ 1ขอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณสมทบให้การยางแห่งประเทศไทยตามแผนงานในการพัฒนายางพาราอย่างเพียงพอในการตั้งงบประมาณประจำปี เงินงบประมาณที่จะสมทบให้การยางแห่งประเทศไทยนี้ก็เป็นรายได้จากการเพิ่มมูลค่าสินค้ายางพาราที่แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แทนที่จะขายเป็นวัตถุดิบ
"คณะกรรมการสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทยจึงได้มีมติให้นำเรียนฯพณฯนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ เพื่อ นำความเห็นและข้อเสนอแนะของสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทยเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.)โดยเร่งด่วนต่อไป" ดร.อุทัย กล่าวย้ำในตอนท้าย
ที่มา https://www.thansettakij.com/business/trade-agriculture/616186