เปิด 5 อันดับคู่ค้ารายใหญ่ไทยในตลาดอียู เป้าหมายไทยเร่งปิดดีลเจรจา FTA เยอรมนีรั้งเบอร์ 1 เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เบลเยียม สเปน จี้ติด 10 เดือนแรกไทยได้ดุลการค้ายุโรป 1.7 แสนล้าน
ระหว่างวันที่ 25-29 พฤศจิกายน 2567 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) รอบที่ 4 โดยมีการประชุมระดับหัวหน้าคณะและประชุมกลุ่มย่อย 20 กลุ่ม
นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (จร.) เปิดเผยว่า อียูถือเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก มีประเทศสมาชิกมากถึง 27 ประเทศ สำหรับการเจรจารอบนี้ ทีมเจรจาฝ่ายไทยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วม
ทั้งนี้ผลการเจรจาทั้งสี่รอบในภาพรวมมีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากทีมเจรจาของทั้งสองฝ่ายมีการเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี ซึ่งความคืบหน้าการเจรจาจะได้แจ้งให้ทราบในลำดับถัดไป
อย่างไรก็ดี อียูถือเป็นคู่ค้าอันดับ 5 ของไทย รองจากอาเซียน จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น โดยในปี 2566 การค้าระหว่างไทยกับอียูมีมูลค่า 41,582.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 1.43% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออก 21,838.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 4.21% และไทยนำเข้า 19,743.87 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 8.50%
สำหรับสหภาพยุโรป(อียู) 27 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรีย เบลเยียม บัลแกเรีย โครเอเชีย ไซปรัส สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ฮังการี ไอร์แลนด์ อิตาลี ลัตเวีย ลิทัวเนีย ลักเซมเบิร์ก มอลตา เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ โปรตุเกส โรมาเนีย สโลวาเกีย สโลวีเนีย สเปน และสวีเดน
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากรของ “ฐานเศรษฐกิจ” พบว่า คู่ค้า 5 อันดับแรกของไทย ในตลาดอียูประกอบด้วย เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เบลเยียม และสเปน ตามลำดับ
ทั้งนี้การค้าไทย-เยอรมนี ช่วง 10 เดือนแรกปี 2567 มีมูลค่ารวม 9,042.21 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 4,401.62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า 4,640.59 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ ไทยขาดดุลการค้าเยอรมนี 238.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
การค้าไทย-เนเธอร์แลนด์ มูลค่ารวม 6,178.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 5,372.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า 805.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยเกินดุลการค้า 4,567.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
การค้าไทย-ฝรั่งเศส มีมูลค่ารวม 4,829.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 1,624.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า 3,205.19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยขาดดุลการค้า 1,580.72 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
การค้าไทย-เบลเยียม มีมูลค่ารวม 2,030.31 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 1,427.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า 602.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยเกินดุลการค้า 825.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
และการค้าไทย-สเปน มีมูลค่ารวม 1,588.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 880.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า 770.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยเกินดุลการค้า 173.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่การค้าไทย- อียู ช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 มีมูลค่ารวม 41,921.19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.49 ล้านล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วน 8.26% ที่ไทยค้ากับโลก โดยไทยส่งออก 23,544.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(832,652 ล้านบาท) สัดส่วน 9.40% ที่ไทยส่งออกไปทั่วโลก ไทยนำเข้า 18,376.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(657,999 ล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วน 7.15% ที่ไทยนำเข้าจากทั่วโลก โดยไทยเกินดุลการค้า 5168.1 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(174,653 ล้านบาท)
สินค้าส่งออก 5 อันดับแรก ของไทยไปอียู ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, อัญมณีและเครื่องประดับ,รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ,เครื่องปรับอากาศ และผลิตภัณฑ์ยาง
ส่วนสินค้านำเข้า 5 อันดับแรกของไทยจากอียู ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ, เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม, เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ
ที่มา https://www.thansettakij.com/business/trade-agriculture/613262