กยท.ตั้งเป้า 2 ปีไทยกำหนดราคายางโลก เร่งขับเคลื่อนแผนรองรับ มั่นใจอนาคตสดใส


ราคายางพุ่งเฉียดเลข 3 หลักแล้ว กยท.เดินหน้าสร้างเสถียรภาพพัฒนายางพาราไทย ขีดเส้นใต้ตั้งเป้าประเทศไทยจะต้องเป็นผู้กำหนดราคายางโลกให้ได้ภายใน 2 ปี เร่งขับเคลื่อนแผนรองรับทั้งการสร้างมาตรฐานราคาอ้างอิงยางพาราไทยให้เป็นสากล การสร้างมาตรฐานสินค้า เพิ่มปริมาณการใช้ยาง พร้อมชูจุดเด่น ยางไทยผ่านตามกฎเหล็ก EUDR

ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (ประธานบอร์ด กยท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคายางของไทยเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากการขับเคลื่อนนโยบายด้านยางพาราของรัฐบาลมีประสิทธิภาพ เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง ประกอบกับมีความต้องการใช้ยางเพิ่มมากขึ้น ซึ่ง กยท.ได้ตั้งเป้าที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประเทศผู้กำหนดราคายางโลกให้ได้ภายใน 2 ปี เนื่องจากไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกยางพารารายใหญ่ที่สุดของโลก จึงควรจะเป็นประเทศผู้กำหนดราคาเอง ทุกประเทศที่ซื้อขายยางจะต้องใช้ราคายางประเทศไทยเป็นราคาอ้างอิง

อย่างไรก็ตาม การที่จะให้ประเทศไทยสามารถกำหนดราคายางได้เองนั้นจะต้องมีแผนรองรับ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างมาตรฐานราคาอ้างอิงยางพาราของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งก่อนหน้านี้ กยท.ร่วมกับบริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TFEX ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการพัฒนาการคำนวณราคายางพาราเพื่อเป็นราคาอ้างอิงของไทย (Rubber Reference Price) สำหรับซื้อขายยางเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ ที่มีมาตรฐาน โปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นที่ยอมรับของผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“ขณะนี้ได้มีการประกาศราคาอ้างอิงยางพาราของไทยมาเป็นระยะเวลากว่า 3 เดือนแล้ว แม้จะมีผู้ประกอบการยางพารานำราคาอ้างอิงของไทยไปใช้ยังไม่มากนัก แต่ก็เป็นการเริ่มต้นที่ดี เนื่องจากในอดีตไม่เคยมีมาก่อน และที่สำคัญมีผู้ค้ารายใหญ่ที่เคยใช้ราคาอ้างอิงจากตลาดซื้อขายยางพาราล่วงหน้าในประเทศสิงคโปร์ (SICOM) ตลาดซื้อขายยางพาราล่วงหน้าในประเทศญี่ปุ่น (TOCOM) และตลาดซื้อขายยางเซี่ยงไฮ้ประเทศจีน (SHFE) เริ่มหันมาใช้ราคาอ้างอิงของไทยในการซื้อขายยางแล้ว คาดว่าในอนาคตจะมีการนำไปอ้างอิงเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน” ประธานบอร์ด กยท.กล่าว

ทั้งนี้ การคำนวณราคาอ้างอิงยางพาราดังกล่าว กยท.จะเป็นผู้รวบรวมข้อมูลฐานของราคายางและผลิตภัณฑ์ยางพาราชนิดต่างๆ ตลอดจนปริมาณยางและข้อมูลจำเป็นอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในตลาดกลางยางพาราทั้ง 8 แห่ง และตลาดประมูลยางพาราท้องถิ่นของ กยท.กว่า 500 แห่งทั่วประเทศ ที่ได้มีการนำระบบการซื้อขายประมูลยางพารารูปแบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม “Thai Rubber Trade (TRT)” มาใช้ เพื่อส่งให้ทาง TFEX ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางใช้คำนวณราคาอ้างอิง โดยจะพิจารณาจากราคาวัตถุดิบ ต้นทุนการผลิต รวมค่าขนส่งและปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย จึงเป็นราคาอ้างอิงยางพาราที่เป็นธรรมและสอดคล้องกับสถานการณ์จริง

นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า การที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประเทศผู้กำหนดราคายางโลกนั้น นอกจากการสร้างมาตรฐานราคาอ้างอิงยางพาราของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลแล้ว ยังจะต้องยกระดับมาตรฐานสินค้าและส่งเสริมการใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้นควบคู่ไปด้วย ซึ่งที่ผ่านมา กยท.ได้ดำเนินโครงการต่างๆ หลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ โครงการสนับสนุนและส่งเสริมสถาบันเกษตรกรแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยาง โครงการทำถนนดินซีเมนต์ผสมยางพารา เป็นต้น ล่าสุด กยท.เตรียมลงนามกับบริษัทเอกชนผู้ผลิตยางรายใหญ่เพื่อผลิตยางล้อ Greenergy Tyre ซึ่งเป็นยางที่ได้มาตรฐานสากล มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยมาใช้ในการผลิต ทำให้ยึดเกาะถนนดีเยี่ยม มีความนุ่มนวล มีอายุการใช้งานที่ยาวนานมากกว่า 50,000 กิโลเมตร และยังให้ความสำคัญต่อเรื่องสิ่งแวดล้อมตลอดกระบวนการผลิต โดยได้มีการเปิดตัวไปแล้วก่อนหน้านี้ ปรากฏว่าได้รับความสนใจอย่างมากถูกสั่งจองจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนในล็อตแรกกว่า 20,000 เส้น

นอกจากนี้ การที่สหภาพยุโรปได้ประกาศบังคับใช้กฎระเบียบ EU Deforestation-free Products Regulation (EUDR) ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป ยังจะเป็นปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางยางพาราและเป็นผู้กำหนดราคายางตลาดโลก เนื่องจากประเทศไทยเป็นเพียง 1 ใน 2 ประเทศผู้ส่งออกยางรายใหญ่ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาตามกฎระเบียบของ EUDR ได้ ซึ่ง กยท.มีนโยบายหลักที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยางทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมเพื่อก้าวสู่วิถีเกษตรยั่งยืน และให้ความสำคัญต่อการจัดการข้อมูลยางให้เป็นไปตามกฎระเบียบ EUDR โดยตั้งเป้าที่จะเพิ่มปริมาณยาง EUDR จากปัจจุบัน 1 ล้านตัน เป็น 2 ล้านตันภายในปี 2568 และ 3.5 ล้านตันในปีถัดไป ในขณะที่สหภาพยุโรปมีความต้องการยางพาราถึง 4 ล้านตัน โดยผู้ประกอบการที่นำยางพาราไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ส่งไปขายในตลาดสหภาพยุโรปก็จะต้องดำเนินการตามกฎ EUDR ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้มาซื้อยางจากประเทศไทยเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเพิ่มขึ้นอีกด้วย ดังนั้นยางพาราของไทยจะเป็นที่ต้องการของตลาดโลกอย่างแน่นอน

“การกำหนดราคาอ้างอิงยางพาราของไทย การยกระดับมาตรฐานสินค้า การเพิ่มปริมาณยาง เพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศ การทำสวนยางที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมเพื่อก้าวสู่วิถีเกษตรยั่งยืน และการบังคับใช้กฎระเบียบ EUDR จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพารา และเป็นผู้กำหนดราคายางโลก ตามเป้าหมายได้อย่างแน่นอน” รักษาการแทนผู้ว่าการ กยท.กล่าวยันยืนในตอนท้าย

ที่มา https://mgronline.com/onlinesection/detail/9670000089885


















30/09/2024