ลุ้น “แพทองธาร” ประธาน กนย.โละสต๊อกยาง 12 ปี ล็อตสุดท้าย 1.8 หมื่นตัน หวังจบศึก“กยท.-เอ็มทีเซ็นเตอร์เทรดฯ” ประธานบอร์ด กยท. รับปากเร่งพิสูจน์ข้อเท็จจริงยางล็อตตี้เป็นของใคร พร้อมทำแผนขยายระยะเวลาค้ำประกันเงินกู้คืน ธ.ก.ส. เป็น31 ธ.ค.71เผื่อเหนียว คู่คดีไม่ยอมความ
ย้อนไป 12 ปี ราคายางพาราที่ตกต่ำในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้รัฐบาลต้องเข้ามาแทรกแซงเพื่อยกระดับราคาใน 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง ในปี 2555 (รัฐบาลยิ่งลักษณ์) และ 2.โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายางหรือบัฟเฟอร์ฟันด์ปี 2557 (รัฐบาล คสช.) โดยซื้อยางเข้าเก็บในสต๊อกรวม 3.6 แสนตัน ซึ่งได้มีการระบายมาอย่างต่อเนื่อง เหลือสต๊อกยางพาราในโกดัง 4 แห่ง จำนวน กว่า 1.8 หมื่นตัน มูลค่ากว่า 1,237 ล้านบาท
นายเพิกเลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (ประธานบอร์ด กยท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้ายางคงเหลือในสต๊อก2 โครงการรัฐบาลในอดีตรวมระยะเวลา 12 ปี แบ่งเป็น1.โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางจำนวน 7,259.82 ตัน และ2.โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายางหรือบัฟเฟอร์ฟันด์ จำนวน 11,222.11 ตัน จำนวน 4 สัญญา ที่ได้ขายให้กับ บริษัท เอ็มทีเซ็นเตอร์เทรด จำกัด จากปริมาณยางทั้งหมด 27,051 ตัน ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์การระบายสต๊อกยางที่คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยเห็นชอบ และบริษัทได้รับมอบยางไปแล้วบางส่วน
ต่อมาภายหลังบริษัทไม่มารับมอบยางส่วนที่เหลือและขอขยายระยะเวลารับมอบถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561 แต่ผิดนัดไม่มารับมอบ ทาง กยท.จึงได้มีหนังสือไปถึงสำนักอัยการเพื่อฟ้องคดี เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2563 ทางบริษัทจึงได้มีหนังสือเพื่อขอเจรจาประนีประนอม แต่ไม่อาจตกลงประนีประนอมข้อพิพาทได้ ในการประชุมคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 10/2564 เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2563 จึงมีมติให้ยกเลิกทั้ง 4 สัญญารวมกว่า 1.84 หมื่นตัน และให้ดำเนินตามกฎหมาย ดังนี้
สัญญาที่1.คลังทุ่งสี่สวัสดิ์ จังหวัดสงขลา มีปริมาณยางค้างรับมอบ 7,259.82 ตัน ราคายางเฉลี่ย 66.263 บาท/กิโลกรัม มูลค่ายาง กว่า 481 ล้านบาท สัญญาที่ 2.โกดังวันชัยสตาร์ 5 จังหวัดสงขลา ปริมาณยาง 2,587.53 ตัน ราคายางเฉลี่ย 75.4 บาท/กิโลกรัม มูลค่ายางกว่า 159 ล้านบาท สัญญาที่ 3.โกดังวันชัย 1 จังหวัดสงขลา ปริมาณยาง 6,686.60 ตัน ราคายางเฉลี่ย 66.616 บาท/กิโลกรัม มูลค่ายางคงเหลือ กว่า 445 ล้านบาท และสัญญาที่4. คลังซี แอนด์ ที โมดูลาร์ จังหวัดชลบุรี จำนวน 1,947.89 ตัน ราคาเฉลี่ย 59.090 บาท/กก. มูลค่ายางกว่า 115 ล้านบาท
นายเพิก กล่าวว่า ล่าสุด กยท. ได้ทำหนังสือแจ้งไปที่โกดังทั้ง 4 แห่ง เพื่อจะนำยางออกมาขายเพื่อหักเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดไปชำระหนี้ที่ บจก.เอ็มทีเซ็นเตอร์เทรดฯ ค้างค่าเช่าโกดัง แต่ทางคลังดังกล่าวไม่ยินยอมทำสัญญาเช่าโกดังกับ กยท. ทำให้ไม่สามารถนำยางออกมาขายทอดตลาดได้ทาง กยท.จึงได้ทำหนังสือขอหารือกับสำนักอัยการสูงสุดและสำนักงานคดีแพ่งตลิ่งชันเกี่ยวกับข้อกฎหมายเพื่อจะได้นำยางพาราที่ยกเลิกสัญญาออกมาจำหน่ายเพื่อยืนยันกับเจ้าของคลังว่ายางที่เก็บอยู่เป็นกรรมสิทธิ์เป็นของการยางแห่งประเทศไทย หรือเป็นของบริษัท ก็จำเป็นที่จะต้องขยายระยะเวลาออกไป จากโครงการสิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2566 และกยท.ยังไม่สามารถนำยางดังกล่าวออกมาขายได้ ส่งผลให้ไม่สามารถชำระหนี้คืน ธ.ก.ส. กว่า 825 ล้านบาท
บอร์ดการยางฯ เร่งสางปัญหา เอ็มทีฯ เบี้ยวรับมอบ 1.8 หมื่นตัน
ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินการโครงการเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และไม่เกิดความเสียหายต่อการดำเนินงานซึ่งจะทำให้มีสถานะการผิดนัดชำระหนี้ ตามสัญญาในกรณีที่ผู้กู้ผิดสัญญา ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยเพิ่มอีกร้อยละ 3 ต่อปี หากผิดสัญญาผู้คํ้าประกัน (กระทรวงการคลัง) ตกลงให้ผู้กู้ดำเนินการเรียกร้องเอากับผู้คํ้าประกันเพื่อชำระหนี้ในฐานะผู้คํ้าประกันได้
“กยท. เตรียมนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) หรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย เพื่อขยายระยะเวลาโครงการออกไปเป็นวันที่ 31 ธันวาคม 2571 เผื่อไว้ในกรณีบริษัทมีการอุทธรณ์ เพิ่มความซับซ้อน และศาลต้องใช้เวลาในการสืบข้อเท็จจริง แต่หากตกลงกันได้ บริษัทยอมให้ กยท.นำยางขายทอดตลาด และบริษัทตกลงชำระค่าเช่าโกดังพร้อมค่าเสียหายจากการผิดสัญญา ก็จะจบเร็ว เบื้องต้นผมรับปากว่าในเร็ว ๆ นี้จะต้องทราบว่าสถานะยางเป็นของใคร” นายเพิก กล่าวยํ้า
ที่มา https://www.thansettakij.com/business/trade-agriculture/606413