ปิดภารกิจเร่งด่วน “สุขทัศน์ ต่างวิริยกุล” รักษาการผู้ว่าการยางคนใหม่ หลังราคายางแผ่นรมควันร่วงจาก 100 บาทเหลือ 63 บาท/กก. ชี้เป็นความผิดปกติ ขณะที่ความต้องการยางในตลาดโลกเพิ่มขึ้น แต่ผู้ซื้อยางกับชะลอคำสั่งซื้อ พร้อมรับนโยบาย “ธรรมนัส” ตรวจสอบโครงสร้างราคายางในประเทศทั้งระบบ เผยยังมีไม้เด็ดดัดหลังพ่อค้า จะใช้ พ.ร.บ.ยาง บังคับรายงานบัญชีสต๊อก-ซื้อขายยางวันที่ 10 ของทุกเดือน รวมไปถึงการใช้ประกาศคณะกรรมการกลางสินค้า-บริการให้ยางเป็นสินค้าควบคุมต้องแจ้งสถานที่เก็บ-ปริมาณได้ด้วย
สถานการณ์ราคายางภายในประเทศได้ตกต่ำลงมาอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่เคยขยับขึ้นไปสูงสุดทะลุ 100 บาท/กก. แต่เพียงแค่ 1 เดือน ราคายางกลับไหลลงต่ำสุดตามประกาศการยางแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 8 กรกฎาคม 2567 เหลืออยู่แค่ 63.50 บาท ขณะที่ราคารับซื้อน้ำยางในท้องถิ่นวันเดียวกันเหลือเพียง 57 บาท และค่อย ๆ ลดลงมาเหลือ 55 บาทในช่วงสุดสัปดาห์ ส่งผลให้สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยาง ต้องทำหนังสือไปยังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้เร่งประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ เพื่อกู้สถานการณ์วิกฤตราคา
พร้อมทั้งได้มอบหมายให้ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ศึกษาโครงสร้างราคายางว่า “มีผิดปกติหรือไม่อย่างไร” และเตรียมจะออกประกาศ กยท. เพื่อดึง “กองการยาง” จากกรมวิชาการเกษตรให้กลับมาอยู่ภายใต้ กยท. เพื่อให้กระบวนการตรวจสอบสต๊อกยางเป็นไปอย่างราบรื่นไร้รอยต่อ
ราคายางขึ้นลงผิดปกติ
นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ในโอกาสเข้ารับหน้าที่รักษาการผู้ว่าการ กยท. แทนนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ที่หมดวาระไป มีผล 16 กรกฎาคม 2567 ว่า ปัจจัยที่ทำให้ราคายางลดลงขณะนี้ เป็นผลจากผู้ประกอบการชะลอการซื้อ ซึ่งถือว่า “เป็นความผิดปกติ” เพราะในขณะที่ดีมานด์ในตลาดโลกเพิ่มขึ้น แต่กลายเป็นผู้ซื้อชะลอคำสั่งซื้อ ดังนั้นจำเป็นต้องเข้าไปตรวจสอบโครงสร้างราคายางตามนโยบายของ รมว.เกษตรและสหกรณ์
ทั้งนี้ข้อมูลแนวทางบริหารจัดการยางพาราของ กยท. พบว่า สถานการณ์ผลผลิตยางปี 2567 ของไทย คาดว่าจะมีปริมาณ 4.682 ล้านตัน หรือลดลงจากปี 2566 ที่มี 4.707 ล้านตัน ขณะที่แนวโน้มความต้องการใช้ยางปี 2567 เพิ่มขึ้น โดยในส่วนของไทยใช้ยางเพิ่มจาก 1.234 ล้านตันเป็น 1.247 ล้านตัน และผู้ใช้ยางหลักอย่างประเทศจีนคาดว่าจะใช้ยางเพิ่มขึ้นจาก 7.001 ล้านตันเป็น 7.352 ล้านตัน
และล่าสุดจากการที่ได้พบกับบริษัทมิชลินที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อก่อนหน้านี้ได้ให้ความมั่นใจว่า จะสั่งซื้อยางที่ผลิตได้ตามมาตรฐาน EUDR แน่นอน ดังนั้นเมื่อการผลิตยางลดลง แต่ความต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้น “ราคายางในตลาดจึงไม่ควรจะปรับลดลง”
ส่วนการใช้อำนาจตรวจสอบการรับซื้อยางนั้น จะดำเนินการตาม พ.ร.บ.การควบคุมยาง พ.ศ. 2543 โดยกำหนดให้ทุกสิ้นเดือน ผู้ประกอบการยางจะต้องรายงานบัญชี การซื้อยาง บัญชีการจำหน่ายยาง และบัญชีปริมาณยางคงเหลือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในวันที่ 10 ของเดือนถัดไป โดยมีคณะกรรมการควบคุมยาง เป็นผู้ดูแล
อีกด้านหนึ่งยังมีการดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 9 พ.ศ. 2567 ที่กำหนดให้ยางเป็นสินค้าควบคุม ซึ่งต้องแจ้งปริมาณ สถานที่จัดเก็บ และจัดทำบัญชีคุมสินค้ายาง ตลอดจนมีการตรวจสอบสัญญาซื้อขายยางทั้งภายในและต่างประเทศของผู้ประกอบการ โดยจะพิจารณาตรวจสอบชนิดยาง ปริมาณ ราคา โรงงานที่ผลิตของผู้ประกอบการแต่ละแห่ง
โดดซื้อรักษาเสถียรภาพราคา
นายสุขทัศน์กล่าวว่า วันนี้ดีมานด์มีมากกว่าซัพพลาย ผลผลิตยางของไทยลดลงต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คิดเป็นหลัก 100,000 ตันจากการโค่นยางไปปลูกทุเรียน-ปาล์ม ดังนั้นการผลักดันเรื่องราคาขึ้นอยู่กับการสร้างเครื่องมือในการต่อรอง ดังนั้นการที่ราคายางขยับลดลงไปเกือบ 20 บาท/กก.นั้น “ผมไม่ได้กังวล” แต่ กยท.กำลังทำให้ราคายางรีบาวนด์ให้ไปถึง 3 หลักอย่างที่คาดไว้ “ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก” กยท.มีเครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพราคายาง เพิ่มการใช้ยางและมีกลไกในการรับซื้อยางผ่านตลาดกลางหรือให้เกษตรกรชะลอการขายทำแก้มลิง
โดย กยท.ได้มีการดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคายางตาม โครงการรักษาเสถียรภาพราคายาง ซึ่งจะติดตามเฝ้าระวังราคายางทุกวัน หากในวันใดที่ไม่มีคนเข้าประมูลยางผ่านตลาดกลางของ กยท. หรือวันที่ราคายางต่ำกว่าราคาเปิดตลาดของ กยท.เกิน 2 บาท/กก. กยท.ก็จะเข้าไปตั้งรับซื้อเอง อย่างกรณีเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567 ราคาน้ำยางสดที่ลดลงไป 63.50 บาท กยท.ได้เข้าไปซื้อดันราคาขยับขึ้นไปเป็น 64 บาท เป็นต้น โดยโครงการนี้มีงบประมาณในการดำเนินการทั้งหมด 650 ล้านบาท
“กยท.มีกองรักษาเสถียรภาพราคายาง ทุกเช้าจะมีราคาเปิดของ กยท. ถ้าไม่มีใครเข้าไปซื้อ กองนี้จะเข้าไปซื้อ หรือวันไหนราคาต่ำกว่า 2 บาท ก็จะเข้าไปซื้อผ่านตลาดกลาง แต่กองทุนนี้ได้หาตลาดยางล่วงหน้าไว้ก่อนแล้ว เรียกว่า Long Term Contract โดยจะดำเนินการทำสัญญาก่อนเข้าซื้อยาง ซึ่งสัญญาที่ดำเนินการขายน้ำยางข้นนั้น ทาง กยท.มีกำลังรับซื้อได้เดือนละ 1,050 ตัน เป็นการซื้อให้กับบริษัทเจ๋อชาง และยังมียางแผ่นรมควันอัดก้อนที่ซื้ออีกเดือนละ 400 ตัน ให้กับบริษัทแอลทีและอื่น ๆ อีกรวม 1,000 ตัน เราเฝ้าระวังทุกวัน พอราคาขึ้นไปแล้ว เราก็หยุดปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน” นายสุขทัศน์กล่าว
ขนยางล้อ-หมอนออกจำหน่าย
ขณะเดียวกัน กยท.ได้มีการเร่งเพิ่มการใช้ยาง โดยมีโครงการส่งเสริมการใช้ยางภายในประเทศ ผ่านการผลิตยางล้อ “Greenergy Tyre” ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการจ้างผลิต โดยใช้งบฯลงทุน 32 ล้านบาท จะผลิตยางล้อลอตแรกออกสู่ตลาดเดือนสิงหาคม 2567 จำนวน 20,000 เส้น ซึ่งจะเป็นยางสำหรับใช้ในรถกระบะ ขายผ่านสหกรณ์ โดยกำหนดราคาอยู่ที่ประมาณ 2,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าท้องตลาดทั่วไป และจะขยายการผลิตไปสู่ยางล้อสำหรับรถบรรทุกเพิ่มขึ้น โดยอาจจะใช้โรงงานจีน
“ในระยะถัดไป กยท.เตรียมจะดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์หมอนและที่นอนยางพาราเพื่อจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทย เราจะมีแพลตฟอร์มให้ลงทะเบียนหากซื้อหมอนและที่นอนยางพารา เราจะมีส่วนลดให้เมื่อชำระเงินแล้ว จะมีบริการส่งไปให้ยังปลายทางให้ด้วย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ยางมากขึ้น รักษาเสถียรภาพราคาระยะยาว โดยโครงการนี้จะใช้วิธี OEM เช่นเดียวกับยางล้อ เบื้องต้นประมาณ 50 ล้านบาท ซึ่งทั้งโครงการยางล้อและหมอนและที่นอนยางพารา จะช่วยยกระดับราคายางได้อย่างน้อย 10-15% หรือ 7-8 บาทต่อ กก. ราคาน้ำยาง 64 เป็น 6.50-10 บาท เป็น 70.50-74 บาท และยังเป็นรายได้กลับคืนสู่ กยท.ได้ไม่ต่ำกว่า 10% ในปีนี้” นายสุขทัศน์กล่าว
พร้อมกันนี้ได้มีจัดทำศูนย์จัดจำหน่ายยางพารา “Greenergy Shop by RAOT” เพื่อเป็นโชว์รูมสำหรับสินค้าผลิตภัณฑ์จากยางพาราของ กยท. นอกจากนี้การเพิ่มรายได้ให้กับชาวสวนยางนับเป็นสิ่งที่ กยท.ให้ความสำคัญมาก จึงได้มีการจัดเตรียม “โครงการโฉนดต้นไม้” ซึ่งขณะนี้ได้ร่างประกาศหลักเกณฑ์เสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการเตรียมเสนอร่างประกาศไปยังสำนักงานราชกิจจานุเบกษา เพื่อออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดว่าจะออกได้ภายในปีงบประมาณนี้ ซึ่งหากประกาศมีผลบังคับใช้ จะทำให้เกษตรกรชาวสวนยางสามารถเพิ่มมูลค่าจากต้นยางพาราในการขอหลักทรัพย์ประกันเงินกู้ได้ในอนาคต
ที่มา https://www.prachachat.net/economy/news-1609224