“ค่าระวาง” พุ่ง-ฉุดส่งออก จี้พาณิชย์ถกสายเรือหาทางออก


สถานการณ์ค่าระวางเรือจากเอเชียไปยังตลาดสำคัญ ๆ ในเดือนมิถุนายน 2567 มีการปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จากภาวะ “จีน” เร่งส่งออกสินค้าให้ทันคำสั่งซื้อ หลังจากสหรัฐประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ซึ่งอาจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง
ข้อมูลจากสมาคมเจ้าของและตัวแทนเรือกรุงเทพฯ ระบุว่า หากเปรียบเทียบค่าระวางเรือในเดือนพฤษภาคม 2567 และเดือนมิถุนายน 2567 พบว่าเส้นทางยุโรปปรับจาก 3,740 เป็น 4,880 เหรียญสหรัฐ/ตู้ เส้นทางสหรัฐฝั่งตะวันตก จาก 6,168 เป็น 7,830 เหรียญสหรัฐ/ตู้ เส้นทางสหรัฐฝั่งตะวันออก จาก 7,206 เป็น 9,274 เหรียญสหรัฐ/ตู้ เส้นทางอเมริกาใต้ (Santos) จาก 7,408 เป็น 8,854 เหรียญสหรัฐ/ตู้ เส้นทางอเมริกาใต้ (ดูไบ) จาก 4,824 เป็น 5,584 เหรียญสหรัฐ/ตู้ เส้นทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สิงคโปร์) จาก 547 เป็น 743 เหรียญสหรัฐ/ตู้ เส้นทางออสเตรเลีย จาก 1,342 เป็น 1,397 เหรียญสหรัฐ/ตู้ และเส้นทางเมดิเตอร์เรเนียนจาก 4,720 เป็น 5,380 เหรียญสหรัฐ/ตู้
กกร.ยกเป็นวาระร้อน
ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ครั้งที่ผ่านมา ได้ปรับเพิ่มกรอบการเติบโตของการส่งออกปี 2567 จากเดิม 0.5-1.5% เป็น 0.8-1.5% จากการที่ไทยได้รับอานิสงส์จากการเคลื่อนย้ายฐานซัพพลายเชนของโลก แต่เสียงสะท้อนในที่ประชุมมองว่า การส่งออกไทยควรจะเติบโตได้มากกว่านี้หากไม่มีประเด็น “ค่าระวางเรือ”
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธาน กกร. ยอมรับว่ายังต้องจับตามองภาวะการค้าโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว โดยปัจจัยเสี่ยงเรื่องการปรับขึ้นค่าระวางเรือ 95% เมื่อเทียบจากเดือน เม.ย. 67 ส่งผลต่อต้นทุนการส่งออก
อีกทั้งปัญหาทะเลแดงทำให้ระยะเวลาการขนส่งทางเรือที่ต้องเพิ่มขึ้นจากการอ้อมแหลมกู๊ดโฮป ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางที่รุนแรงมากขึ้น ทำให้ภาพรวมการค้าโลกชะลอตัวตลอดไตรมาสที่ 2 และคาดว่าจะต่อเนื่อง
“ผู้ประกอบการบางส่วนเร่งสั่งซื้อสินค้าก่อนมาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐต่อจีนมีผลภายในปีนี้ ส่งผลให้ค่าระวางเรือล่าสุดปรับตัวขึ้น 95% เมื่อเทียบจากเดือน เม.ย. 67 ขณะที่ใช้ระยะเวลาในการขนส่งนานขึ้นตามภาวะขนส่งคับคั่งและขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์”
ซ้ำเติมจากสงครามการค้า
นายผยงยังระบุว่า ค่าระวางเรือเป็นปัจจัยลบเพิ่มเติมต่อภาคการผลิตและการส่งออกของโลก ในระยะข้างหน้าการส่งออกไทยเผชิญความเสี่ยงจากสงครามการค้าของสหรัฐ-จีน การขึ้นภาษีของสหรัฐต่อสินค้าจีนรอบใหม่อาจกระทบสินค้าส่งออกไทยที่เป็นห่วงโซ่อุปทานให้แก่จีน สัดส่วน 19.5% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดไปจีน”
โดยสินค้าที่มีความเสี่ยงมาก เช่น ยางแผ่น ยางแท่ง เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น
เอกชนจี้พาณิชย์ดูแล
ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ทาง กกร.เตรียมจะทำข้อเสนอเพื่อหารือกับกระทรวงพาณิชย์ กรมการค้าภายใน ในการเรียกผู้ประกอบการสายเรือมาหามาตรการทางออกในการลดค่าระวางเรือร่วมกัน รวมทั้งการแก้ปัญหาเรื่องขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยกับวิกฤตตู้คอนเทนเนอร์เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ซึ่งได้แก้ปัญหาด้วยการอนุญาตให้เรือขนาดใหญ่ 400 เมตรสามารถเข้าเทียบได้ทำให้มีจำนวนเรือมากขึ้น
“แม้ว่า กกร.จะปรับเพิ่มตัวเลขส่งออกฐานล่างจาก 0.5% เป็น 0.8% แต่หากไม่มีปัจจัยเรื่องปัญหาค่าระวางเรือเข้ามา ตัวเลขการส่งออกอาจจะปรับขึ้นจาก 0.5 เป็น 1% เลยทีเดียว”
สอดคล้องกับ นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท.ทำหนังสือถึงกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอให้เป็นเจ้าภาพหลักในการเชิญผู้ประกอบการสายเรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือแก้ไขปัญหาค่าระวางเรือที่ปรับขึ้นมาแล้ว 3-4 เท่า และพื้นที่บนเรือ ไทยต้องเร่งแก้ไขเพื่อไม่ให้การส่งออกของไทยไปต่างประเทศเกิดการชะงักตัว โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2567 นี้
“ปัจจัยสำคัญจากปัญหาทะเลแดง ล่าสุดจีนจะถูกสหรัฐขึ้นภาษีทำให้จีนเร่งส่งออกไปสหรัฐมากขึ้น และที่ผ่านมาถึงปัจจุบันค่าระวางเรือปรับขึ้นต่อเนื่อง สูงขึ้นมา 3-4 เท่าในปัจจุบัน เช่น เส้นทางไปยุโรป จาก 1,500 เหรียญสหรัฐต่อตู้ 20 ฟุต ขึ้นมาอยู่ที่ 4,000-5,000
ทำให้ผู้ส่งออกไทยกังวลแนวโน้มค่าระวางเรือจะสูงขึ้น ไม่มีพื้นที่บนเรือ จึงต้องการให้กระทรวงพาณิชย์ประชุมหารือทุกฝ่าย เพื่อสร้างความเป็นธรรม และให้มีการปรับไปตามกลไก ซึ่งทำหนังสือไปแล้ว รอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรียกหารือ ซึ่งคาดหวังว่าให้ได้ภายในเดือนนี้”
ที่มา https://www.prachachat.net/economy/news-1602856


















11/07/2024