EU ไฟเขียวต่อเนื่อง จัดระเบียบการผลิตใหม่ ‘เน้นซ่อม ห้ามทิ้ง’


ภายใต้นโยบายการปฏิรูปสีเขียวและมาตรการทางภาษีของสหภาพยุโรป (European Green Deal) หนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญ คือ แผนปฏิบัติการเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy Action Plan) ในการสร้างกติกาการผลิตใหม่ที่ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และหมุนเวียนทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2024 สภายุโรปได้ผ่านข้อบังคับสำคัญ 2 เรื่องที่เป็นก้าวสำคัญให้เกิดกฎหมายใหม่ที่เอื้อต่อการสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

สำหรับ Ecodesign for Sustainable Products Regulation หรือข้อบังคับด้านการออกแบบสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้รับไฟเขียวจากสมาชิกสหภาพยุโรปด้วยเสียงโหวตเห็นด้วย 455 เสียง ไม่เห็นด้วย 99 เสียง และงดออกเสียง 54 เสียง 

ข้อบังคับนี้เป็นการขยายผลไปยังสินค้าในชีวิตประจำวันที่กำหนดให้ผู้ผลิตออกแบบผลิตภัณฑ์ให้คงทน ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพทั้งวัตถุดิบ พลังงาน และน้ำ เมื่อถึงมือผู้บริโภค ต้องสามารถใช้ซ้ำ ปรับเปลี่ยน ซ่อมแซม ไปจนถึงรีไซเคิลได้

กลุ่มสินค้าชุดแรกที่จะเข้าข่ายภายใน 9 เดือนหลังจากข้อบังคับมีผลทางกฎหมาย ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้า อะลูมิเนียม สิ่งทอ (โดยเฉพาะเสื้อผ้าและรองเท้า) เฟอร์นิเจอร์ ยางรถยนต์ น้ำยาทำความสะอาด สี น้ำมันหล่อลื่น และสารเคมี

ผู้ผลิตจะต้องจัดทำ Product Passport ในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งประกอบไปด้วยข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการผลิต ประสิทธิภาพการใช้งาน ไปจนถึงการจัดการผลิตภัณฑ์เมื่อสิ้นสุดอายุขัย โดยผู้บริโภคต้องสามารถติดตามข้อมูลเหล่านี้ได้ผ่านเว็บไซต์สาธารณะ เพื่อให้มีข้อมูลเพียงพอก่อนตัดสินใจซื้อ

หากมีสินค้าคงค้างที่จำเป็นต้องทำลายทิ้ง ผู้ผลิตจะต้องแจ้งจำนวนพร้อมเหตุผลในการทำลายทุกปี นอกจากนี้ กฎดังกล่าวยังห้ามไม่ให้ทำลายสินค้าประเภทเสื้อผ้าและรองเท้าภายใน 2 ปี สำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก และ 6 ปี สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางถึงใหญ่ หากมีการฝ่าฝืน บทลงโทษจะขึ้นอยู่กับกฎหมายของประเทศสมาชิกนั้น ๆ ที่สอดคล้องกับแนวทางของสหภาพยุโรป

ข้อมูลจากคณะกรรมาธิการยุโรประบุว่า ในแต่ละปี การกำจัดสินค้าที่ยังใช้งานได้ทั่วยุโรป ได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า 261 ล้านตัน ใช้ทรัพยากรกว่า 30 ล้านตัน และสร้างขยะกว่า 35 ล้านตัน ผู้บริโภคยังสูญเสียเงินประมาณ 12,000 ล้านยูโรต่อปีในการซื้อสินค้าใหม่แทนที่จะเลือกการซ่อมแซม ข้อบังคับดังกล่าวคาดว่าจะเพิ่มการลงทุนและทำให้เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปเติบโตได้อีกประมาณ 4,800 ล้านยูโร

Right to Repair หรือ สิทธิการซ่อม ได้รับความเห็นชอบอย่างล้นหลามจากสภายุโรปด้วยเสียงโหวตเห็นด้วย 584 เสียง ไม่เห็นด้วย 3 เสียง และงดออกเสียง 14 เสียง เป็นข้อกฎหมายผูกพันต่อผู้ผลิตให้ออกแบบสินค้าที่สามารถซ่อมแซมได้ง่าย เพื่อยืดอายุการใช้งานให้ได้ยาวนานที่สุด 

หลังการขายจะต้องมีบริการซ่อมแซมในราคาและระยะเวลาที่เป็นธรรม และในระหว่างการซ่อมแซม ต้องมีสินค้าทดแทนให้ผู้บริโภคยืมใช้งานได้ชั่วคราว

สินค้าที่ยู่ในการรับประกัน เมื่อได้รับการซ่อมแซมแล้ว จะได้ต้องรับการยืดอายุการรับประกันไปอีกหนึ่งปี และต้องมีการสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกที่จะซ่อมแซมก่อนซื้อใหม่ หลังจากการรับประกันสินค้าหมดอายุลงตามกฎหมาย ผู้ผลิตยังต้องสามารถให้บริการซ่อมแซมสินค้าภายในบ้านทั่วไปที่อยู่ภายใต้ข้อบังคับของสหภาพยุโรปได้ เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องดูดฝุ่น และโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น

กลุ่มสินค้าตามข้อบังคับชุดแรกประกอบไปด้วยสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต อุปกรณ์เซิร์ฟเวอร์ จอมอนิเตอร์ เครื่องซักผ้า เครื่องอบผ้า เครื่องล้างจาน ตู้เย็น และอุปกรณ์ต่อเชื่อม โดยจะรวมเครื่องดูดฝุ่นเข้ามาในอีกไม่ช้า

ไม่เพียงแค่หน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ผลิตที่เพิ่มขึ้น สิทธิการซ่อมยังส่งเสริมระบบนิเวศที่เอื้อต่อการซ่อม โดยผู้ผลิตต้องจัดสรรชิ้นส่วนอะไหล่และเครื่องมือที่จำเป็นในราคาที่เหมาะสม ห้ามมีข้อกำหนดสัญญาหรือใช้ฮาร์ดแวร์ 

สำหรับซอฟต์แวร์ที่เป็นอุปสรรคต่อการซ่อม ต้องอนุญาตให้ช่างซ่อมทั่วไปสามารถใช้อะไหล่มือสองหรือชิ้นส่วนที่ผลิตจากเครื่องพิมพ์สามมิติได้ อีกทั้งผู้ผลิตไม่สามารถปฏิเสธการซ่อม ด้วยเหตุผลความไม่คุ้มค่าทางธุรกิจ หรือเหตุผลว่าสินค้านั้นได้รับการซ่อมแซมจากที่อื่นมาก่อน

หลังจากนี้ คณะมนตรียุโรปจะให้การรับรองอย่างเป็นทางการต่อไป และ 27 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะกำหนดข้อบังคับนี้ให้เป็นกฎหมายระดับประเทศภายใน 24 เดือน ทุกประเทศต้องมีนโยบายสนับสนุนการซ่อมแซมอย่างเป็นรูปธรรมอย่างน้อย 1 แคมเปญ เช่น แจกคูปอง หรือ ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับบริการซ่อม

นอกจากนี้ มีการคาดการณ์ว่าในปลายปี 2024 สภายุโรปจะผ่านความเห็นชอบครั้งสุดท้ายในการกำหนดฉลากผลิตภัณฑ์สีเขียวและแบนสินค้าที่สร้างความเข้าใจผิดด้านสิ่งแวดล้อม ข้อกำหนดนี้มีเป้าหมายในการปกป้องผู้บริโภคจากการสื่อสารทางการตลาดที่สร้างความเข้าใจผิด หรือ Greenwashing

ในปี 2020 พบว่ามีสินค้าทั่วยุโรปกว่า 53% ใช้คำศัพท์ที่สื่อถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น environmentally friendly, natural, biodegradable, climate neutral, eco เป็นต้น แต่ไม่สามารถตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ได้

หากข้อบังคับมีผลทางกฎหมาย ผลิตภัณฑ์ที่ใช้คำเหล่านี้ต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ จึงจะสามารถวางขายได้ในตลาดยุโรป โดยจะมีเวลาให้ผู้ผลิตปรับตัวอีก 2 ปี และจะแบนผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าเป็นกลางทางคาร์บอนหรือเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่ใช้วิธีซื้อคาร์บอนเครดิต (emissions offsetting schemes) เพียงอย่างเดียว

ที่มา https://www.bangkokbiznews.com/environment/1124062


















26/04/2024