ภาคใต้ชี้ “ซื้อขายยางช่วงนี้เสี่ยงสูง” ตลาดล่วงหน้าผันผวน-แล้งทำวูบ 80%


กลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์ ชี้ซื้อขายยางตอนนี้เสี่ยงสูง เหตุตลาดล่วงหน้าผันผวน แถมจีนยังใช้สต๊อกเก่าทำสินค้า ช่วงนี้ร้อนจัดติดต่อกันมากว่า 2 เดือน ส่งผลปริมาณยางในตลาดหายไป 80%

นายกัมปนาท วงศ์ชูวรรณ ผู้จัดการ กลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์ สถาบันเกษตรกรผู้แปรรูปยางรายใหญ่ทางภาคใต้เพื่อการส่งออก เปิดเผย ประชาชาติธุรกิจ ว่า ภาวะยางในตลาดโลกเป็นที่น่ากังวลมาก เนื่องจากตลาดซื้อขายล่วงหน้าในประเทศจีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ได้ทยอยลดราคาลงวัน 40-50 เหรียญ/ตัน/วัน และตลาดในประเทศจีนบางวันลงประมาณ 500-600 หยวน/ตัน

โดยราคาได้ลดลงตลอดสัปดาห์ เนื่องจากปัจจัยสำคัญเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะประเทศจีน ทั้งที่มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ขยายตัวเป็นจำนวนมาก แต่เท่าที่ทราบจีนใช้ยางค้างสต๊อกมาบริหารจัดการผลิตสินค้าภายในประเทศจีนเอง

นายกัมปนาทกล่าวต่อไปว่า ผลกระทบจากราคายางในตลาดโลกที่ปรับลดลงทำให้การซื้อขายภายในประเทศไทยต้องทำกันอย่างระมัดระวัง เนื่องจากก่อนหน้านี้ราคาน้ำยางสดจากที่ได้ปรับขึ้นมาตลอดถึงกว่า 80 บาท/กก. ตอนนี้ได้ปรับลง 0.50-1 บาท/กก. โดยขณะนี้โรงงานเปิดรับซื้อแต่ละพื้นที่จะต่างกัน เช่น 71 บาท/กก. และราคาสูงสุดไม่เกิน 75 บาท/กก. แต่ราคาในตลาดกลางสูงกว่า ส่วนราคายางรมควันยังยืนกว่า 86 บาท/กก

.ขณะนี้ปริมาณยางในตลาดน้อยลงมาก คาดว่าภาพรวมปริมาณยางเหลืออยู่ในตลาดประมาณ 20% เนื่องจากอยู่ในฤดูกาลปิดหน้ากรีด แต่มีเกษตรกรบางส่วนเปิดหน้ากรีด ซึ่งได้ปริมาณน้ำยางน้อยมาก เนื่องจากเกิดภาวะแล้งและร้อนจัดติดต่อกันมากว่า 2 เดือนแล้ว

“ตอนนี้การซื้อขายยางพาราระหว่างประเทศมีความเสี่ยงสูงมาก เพราะมีการเสนอราคาขายที่สูง เพื่อป้องกันการขาดทุน แต่ก็ไม่มีรายใดตอบรับซื้อ แต่เมื่อขายราคาไม่สูงก็ประสบภาวะขาดทุน ยกเว้นคู่สัญญา”

นายกัมปนาทกล่าวต่อไปว่า แม้ว่าราคาซื้อขายในตลาดกลางยังสูงอยู่ แต่เมื่อไปประมูลแล้วนำมาเก็บสต๊อก พอไปเสนอขายราคาที่สูง กลับไม่มีการตอบรับจะส่งผลต่อการขาดทุนทันที ยกเว้นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีการซื้อขายล่วงหน้าสามารถป้องกันความเสี่ยงได้ และตอนนี้กลุ่มการค้ายางที่ไปได้ดีคือรับซื้อน้ำยางสดแล้วแปรรูปเป็นยางรมควัน จะได้ส่วนต่างมาก ตอนนี้ทิศทางอนาคตในการซื้อขายยางจะต้องดูวันต่อวันอย่างใกล้ชิด

“อย่างไรก็ตาม ความต้องการยางของตลาดโลกยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงความต้องยางในอนาคต เช่น สถานการณ์สงครามรัสเซีย ยูเครน ปาเลสไตน์ อิสราเอล เพราะองค์ประกอบยุทธปัจจัยจะต้องใช้ยางเป็นส่วนประกอบ เช่น ยานพาหนะ เป็นต้น และเมื่อเกิดสงครามส่วนนี้ก็ต้องมีการสูญเสีย ก็ต้องมีการลงทุน ฟื้นฟูใหม่ จึงจำเป็นต้องใช้ยางเช่นกัน” นายกัมปนาทกล่าว

นายเรืองยศ เพ็งสกุล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อยถ้ำพรรณรา (วคยถ.) ประธานเครือข่ายแปรรูปยางกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ เปิดเผย ประชาชาติธุรกิจ ว่า สถานการณ์ยางพาราขณะนี้เข้าสู่ภาวะหน้าร้อนจัดและยางพารากำลังแตกใบอ่อนและบางพื้นที่กำลังเข้าสู่ใบแก่ส่งผลให้ปริมาณน้ำยางสดชะลอตัวมาก และได้มีการปิดหน้าหยุดกรีดตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2567 และจะกลับมาเปิดหน้ากรีดประมาณเดือนพฤษภาคม 2567 ซึ่งคาดว่าช่วงดังกล่าวในพื้นที่ภาคใต้จะมีฝนตกลงมาแล้ว

ทั้งนี้ ภาพรวมตอนนี้มีปริมาณยางเหลืออยู่ในตลาดประมาณ 20% จะเห็นว่าปริมาณผลผลิตลดน้อยลงมาก แต่ยังมีเกษตรกรบางส่วนที่มีความจำเป็นในการกรีดยาง จากที่เคยกรีด 3 วัน เว้น 1 วัน ก็ปรับมาเป็นกรีดวันเว้นวัน ตอนนี้ได้แจ้งไปยังเครือข่ายแล้วว่า อย่าขายยางล่วงหน้าหรือมีการเทขาย เมื่อราคายางปรับลง 1-2 บาท/กก.เพราะโดยปกติราคายางเมื่อปรับลงระยะหนึ่งจะปรับขึ้น เป็นกลยุทธหนึ่งทางการตลาด เพื่อให้มีการเทขายยางออกมา

นายเรืองยศกล่าวต่อไปว่า แนวโน้มยางราคาจะขึ้นมาจากหลายปัจจัย ได้แก่ 1.ปริมาณผลผลิตยางปี 2567 คาดการณ์ว่าจะเหลือประมาณ 2 ล้านตัน จากปกติประมาณ 4.5 ล้านตัน/ปี 2.ความต้องการยางเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์สงคราม 3.เรื่องมาตรฐาน FSC และ EUDR ของสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งปี 2568 ประเทศไทยจะทำเสร็จทั้งหมดยางไทยอาจจะได้ราคาดีขึ้น

ที่มา https://www.prachachat.net/local-economy/news-1532100


















30/03/2024