ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานกล่าวเปิดงานในรูปแบบของภาพวีดีทัศน์ ในการเสวนาเรื่อง “ทำอย่างไรให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางยางพาราโลก” ในวันจันทร์ที่ 7 สิงหาคม 2566 เวลา 13.30-16.30 น. ณ ห้อง Lotus 3-4 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอมเวนชันเซนเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดยมีการร่วมเสวนากันระหว่างวิทยากรจากภาครัฐและภาคเอกชน ได้แก่ คุณณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) คุณวรเทพ วงศาสุทธิกุล นายกกิตติมศักดิ์สมาคมน้ำยางข้นไทย คุณกรกฎ กิตติพล เลขาธิการสมาคมยางพาราไทย ดร.ชโย ตรังอดิศัยกุล รองประธานฝ่ายกิจกรรมกลุ่มอุตสาหกรรมยาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และรองศาสตราจารย์ ดร.วีรศักดิ์ สมิทธิพงศ์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางวัสดุยางและพอลิเมอร์เพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม ภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีคุณอภิญญา ขาวสบาย ผู้ประกาศข่าวสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก เป็นผู้ดำเนินรายการ
ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญลำดับต้น ๆ ของประเทศไทย โดยไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางพารามากที่สุดในโลกมานานกว่า 20 ปี ทำรายได้เข้าประเทศปีละหลายแสนล้านบาทจากสวนยางพารามากกว่า 18 ล้านไร่และเกี่ยวข้องกับเกษตรกรชาวสวนยางประมาณ 1.5 ล้านครัวเรือน สำหรับหัวข้อการประชุมเสวนาในวันนี้ “ทำอย่างไรให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางยางพาราโลก” มีความน่าสนใจและความสำคัญต่อประเทศ โดยวิทยากรได้แสดงมุมมองต่าง ๆ ดังนี้
คุณณกรณ์ ตรรกวิรพัท ได้แสดงมุมมองไว้ว่าหากมองในเรื่องของการที่ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางยางพาราโลกสามารถมองได้หลายมุมมองด้านการผลิตและส่งออกวัตถุดิบยาง และให้เน้นพัฒนางานวิจัยเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์ รวมถึงงานวิจัยที่ตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะโลก ถัดมาในส่วนของคุณวรเทพ วงศาสุทธิกุล ได้กล่าวไว้ว่าผลิตภัณฑ์ด้านยางพารามีทั้งยางแผ่น ยางแท่ง ซึ่งทำเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์น้ำยางข้น ประเทศไทยยังคงเป็นอันดับหนึ่ง เนื่องจากปริมาณการบริโภคน้ำยางข้นทั่วโลก ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำยางข้นรายใหญ่ แต่จะติดปัญหาทางด้านเทคโนโลยีและการถูกกีดกันทางการค้า ถัดมาคุณกรกฎ กิตติพล ได้กล่าวถึงวัตถุดิบด้านยางพาราว่ายังขาดในเรื่องของการควบคุมราคา ซึ่งจะสามารถควบคุมราคาได้ต่อเมื่อมีผู้ใช้ยางที่มากเพียงพอ ทั้งนี้ยังต้องมีการทำงานร่วมประชาสัมพันธ์และประสานงานร่วมกันของหน่วยงานตั้งแต่ต้นน้ำตลอดจนปลายน้ำ เพื่อให้เกิดการบูรณาการของหลายหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อมาในส่วนของ ดร.ชโย ตรังอดิศัยกุล ได้กล่าวถึงประเทศไทยเราเป็นศูนย์กลางด้านยางพาราในแง่ปริมาณและคุณภาพของวัตถุดิบ แต่อย่างไรก็ตามในแต่ละผลิตภัณฑ์จะมีองค์ประกอบของยางธรรมชาติ ยางสังเคราะห์ และเคมีภัณฑ์ ซึ่งในด้านผลิตภัณฑ์ยาง เรายังไม่สามารถเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์ยางโลก เพราะเรายังพึ่งพาเคมีภัณฑ์จากต่างประเทศ รวมถึงราคาต้นทุนที่ยังสูง โดยมีข้อเสนอแนะคือในการพัฒนาในส่วนของห่วงโซ่คุณค่าที่สามารถสอบกลับไปยังวัตถุดิบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของผลิตภัณฑ์ยางล้อ เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้ยางเป็นปริมาณมาก
สุดท้ายนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.วีรศักดิ์ สมิทธิพงศ์ ได้กล่าวถึงภาพรวมโดยสรุปและการถึงบทบาททางด้านวิชาการไว้กล่าวว่าประเทศอินโดนีเซียมีพื้นที่ปลูกมากกว่าประเทศไทย แต่ประเทศไทยสามารถผลิตวัตถุดิบยางที่ดีและคุณภาพได้มากกว่า ซึ่งแสดงถึงความเข้มแข็งของหน่วยงานทางด้านต้นน้ำเป็นอย่างดี แต่เรายังขาดเทคโนโลยีและนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนางานวิจัยแปรรูปผลิตภัณฑ์ปลายน้ำให้มากขึ้น เช่น โครงการวิจัยทางด้าน BCG (Bio Circular Green) รวมถึง SDGs ตามนโยบายของสหประชาชาติ Carbon credit และ Net Zero เป็นต้น นอกจากนี้ควรมีหน่วยงานกลางที่สามารถดูแลตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำในห่วงโซ่อุปทานยางพารา ตลอดจนทางภาควิชาการและหน่วยงานรับรองมาตรฐานของการทดสอบวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ยางและมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถเห็นภาพรวมของทุกภาคส่วนได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น งานวิจัยและนวัตกรรมจึงเป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อการสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการและมีส่วนช่วยควบคุมราคายางของภาคเกษตร เนื่องจากหากงานวิจัยสามารถผลิตเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้มากขึ้น จะทำให้สามารถลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับยางพาราไทย ทำให้มีโอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางของยางพาราโลกได้ต่อไปในอนาคต
ที่มา https://www.matichon.co.th/publicize/news_4118152