“จุรินทร์” สั่ง กยท.ปลุกชาวสวนตื่น เร่งต้อนเข้ามาตรฐานด่วน ป้องตลาดส่งออกยางพาราโลก 1.5 แสนล้านส่อสะเทือน หลัง “อิเกีย-มิชลิน” ประกาศเอาจริงจะหยุดรับซื้อไม้ยางพารา/เฟอร์นิเจอร์-ผลผลิตยางไทยจากการบุกรุกทำลายป่า ขีดเส้น 2 เดือนให้แล้วเสร็จ“ยางพารา” เป็นพืชเศรษฐกิจและเป็นพืชการเมือง โดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) รายงานพื้นที่การปลูกยางกว่า 20 ล้านไร่ สามารถผลิตยางธรรมชาติได้กว่า 5 ล้านตันต่อปี ปี 2561 ไทยส่งออกยางพารา 4.3 ล้านตัน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งสร้างรายได้จากการส่งออกให้กับประเทศกว่าปีละ 1.5 แสนล้านบาท โดยไทยเป็นผู้ส่งออกยางพาราสูงเป็นอันดับ 1 ของโลกมาอย่างยาวนาน หากไทยไม่เร่งเข้าระบบมาตรฐานโลก อนาคตก็จะโดยแย่งตลาดจากคู่แข่งไปได้
แหล่งข่าวที่ประชุมกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สืบเนื่องจากตลาดยางพาราโลกได้มีการเปลี่ยนแปลง ทำให้การปลูกยางพาราต้องสอดคล้องกับความต้องการของตลาด และเป็นไปตามมาตรฐานการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
อาทิ มาตรฐาน FSC , มอก. 14061 ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อตกลงการผลิตยางพาราและผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพารา ซึ่งประเทศไทยจะต้องมีการดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปตามระบบการรับรองมาตรฐานดังกล่าว “หากไม่ดำเนินการอาจมีผลกระทบต่อตลาดยางพาราและไม้ยางพาราไทยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
อาทิ บริษัท อิเกีย จำกัด ได้หยุดรับซื้อ ไม้ยางพาราหรือเฟอร์นิเจอร์ที่ทำมาจากไม้ยางพาราที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน FSC หรือ มอก.14061 นอกจากนี้ บริษัท มิชลิน ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตยางล้อ จะหยุดใช้ผลผลิตยางพาราจากการบุกรุกทำลายป่าเช่นเดียวกัน”
ดังนั้นนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานในที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะทำงาน ซึ่งประกอบด้วยผู้แทน 3 ฝ่าย ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ เกษตรกร และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาข้อสรุปแนวทางที่จะสนับสนุนและดำเนินการเพื่อให้เกิดการจัดการอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม โดยมีกำหนดระยะเวลาดำเนินการศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน และนำผลการศึกษาเสนอคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติเพื่อพิจารณาในครั้งต่อไป
โดยมอบหมายให้การยางแห่งประเทศไทย ยกร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาการทำสวนยางอย่างยั่งยืน เสนอต่อฝ่ายเลขานุการฯ เพื่อนำเรียนประธานกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ เพื่อพิจารณาลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานฯ ต่อไป ทั้งนี้ มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำมติการประชุม กนย. ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป