ขั้นตอนปลูกยางพาราทดแทน 3 รูปแบบ รับเงินไร่ละ 16,000 บาท จากการยางแห่งประเทศไทย พร้อมเงื่อนไขรับสิทธิ เอกสารที่ต้องใช้ ครบทุกขั้นตอน สำหรับเกษตรกรชาวสวนยาง
การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ภายใต้การกำกับของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เปิดให้บริการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกแทนกรณีบุคคลธรรมดา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรชาวสวนยาง พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตยางพาราของประเทศ ซึ่งสวนยางที่อยู่ในหลักเกณฑ์ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกแทนไร่ละ 16,000 บาท
เงื่อนไขและหลักเกณฑ์การขอรับการสนับสนุน
สวนยางที่เข้าหลักเกณฑ์ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกแทน ต้องมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 2 ไร่ แต่ละไร่มีต้นยางปลูกไม่น้อยกว่า 10 ต้น โดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่าไร่ละ 25 ต้น และเป็นต้นยางอายุกว่า 25 ปีขึ้นไป หรือต้นยางทรุดโทรมเสียหาย หรือต้นยางได้ผลผลิตน้อยตามหลักเกณฑ์ที่ กยท. กำหนด
สวนยางที่อยู่ในหลักเกณฑ์ได้รับการส่งเสริมฯ จะต้องไม่เป็นที่ดินของทางราชการ หรืออยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ หรือเขตอุทยานแห่งชาติ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากหน่วยราชการผู้รับผิดชอบ
รูปแบบการปลูกแทน 3 แบบ
ผู้ที่จะได้รับการพิจารณาให้ได้รับการส่งเสริมฯ ต้องเป็นผู้ขึ้นทะเบียนไว้กับการยางแห่งประเทศไทยในฐานะเป็นเจ้าของสวนยาง โดยมีรูปแบบการให้การส่งเสริมฯ 3 แบบ ได้แก่
แบบที่ 1 ปลูกด้วยยางพันธุ์ดี แบ่งเป็น
แบบ 1(1) ปลูกด้วยต้นยางชำถุง ต้นยางติดตาในถุง หรือต้นตอยาง
แบบ 1(2) ปลูกด้วยเมล็ดหรือต้นกล้าในแปลง แล้วติดตาด้วยยางพันธุ์ดี
แบบที่ 2 ปลูกด้วยไม้ยืนต้นที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ แบ่งเป็น
แบบ 2(1) ปลูกด้วยไม้ยืนต้นที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ
แบบ 2(2) ปลูกแบบเกษตรกรรมยั่งยืนโดยใช้ไม้ยืนต้นที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเป็นพืชหลัก
แบบที่ 3 ปลูกแบบสวนยางผสม การปลูกยางผสมผสานร่วมกับกิจกรรมอื่นๆ
ขั้นตอนการให้บริการและระยะเวลาดำเนินการ
การขอรับการส่งเสริมฯ ผู้สนใจสามารถยื่นคำขอได้ที่การยางแห่งประเทศไทยจังหวัด/สาขา โดยใช้เวลาดำเนินการรวม 20 วันทำการ ประกอบด้วย
การรับคำขอ (10 นาที) - ตรวจสอบการขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง และรับคำขอตามแบบ กยท.1 พร้อมตรวจสอบเอกสารหลักฐาน
การพิจารณาสำรวจตรวจสอบพื้นที่สวนยาง (15 วัน) - ลงทะเบียนและบันทึกข้อมูลในระบบสารสนเทศ พร้อมประชุมชี้แจงข้อกำหนดที่เกษตรกรชาวสวนยางต้องปฏิบัติในการสำรวจวัดพิกัด และดำเนินการสำรวจวัดพิกัด
การอนุมัติ (5 วัน) - อนุมัติและลงนาม พร้อมแจ้งผลการพิจารณา
เอกสารประกอบการยื่นคำขอ
เอกสารที่ต้องยื่นประกอบด้วย บัตรประจำตัวประชาชน หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่ดินสวนยาง และแบบ กยท.1 โดยเกษตรกรฯ ต้องลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องและลงวันที่ในเอกสาร
นอกจากนี้ยังต้องมีเอกสารเพิ่มเติม เช่น หลักฐานแสดงว่าผู้ขออยู่ในฐานะตัวแทนโดยชอบธรรม และหนังสือมอบอำนาจเพื่อรับการส่งเสริมฯ (ปท.2) โดยต้องติดอากรแสตมป์ 30 บาท
การปลูกแทนยางพาราถือเป็นมาตรการสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพและความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมยางพาราของไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจสำคัญที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและประเทศ
ที่มา https://www.thansettakij.com/economy/trade-agriculture/622426