ห่วง “ยาง” พืชเศรษฐกิจ พื้นที่หด ผลผลิตหายแสนตัน


แม้ว่าตัวเลขการส่งออกยางพาราในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) 2567 จะยังปรับตัวสูงขึ้น 10.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณ 1.22 ล้านตัน มีมูลค่าการส่งออกถึง 1,943.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 30.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นราคาส่งออกเอฟโอบีเฉลี่ยที่ 1,584.9 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น 18.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นับว่าเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ
แต่สถานการณ์รับซื้อยางภายในประเทศกลับไหลลงต่อเนื่อง ล่าสุดการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ประกาศราคารับซื้อน้ำยางสดวันที่ 8 ก.ค. 2567 กก.ละ 63.50 บาท ซึ่งเป็นระดับที่ลดลงต่ำสุดในรอบปี 2567 และในท้องถิ่นราคารับซื้อต่ำกว่าราคาประกาศของ กยท.ถึง กก.ละ 6-7 บาท เหลือ 57 บาท จากก่อนหน้านี้ 1 เดือนเศษที่ราคายางเคยพุ่งไปถึง 100.30 บาท สูงสดในรอบ 12 ปี ไปเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2567
เป็นที่น่าสังเกตว่าสาเหตุราคายางที่ปรับลดเดือนเดียวเกือบ 20 บาท มาจากเหตุผลใด
ในมุมของเกษตรกรมองว่า การที่ราคายางที่ลดลงนั้นเป็นผลจากสถานการณ์การผลิตยางเริ่มกลับสู่ฤดูกรีดแล้วหลังจากยางผลัดใบไปเมื่อ 2 เดือนก่อนที่ยังไม่มีผลผลิตออกสู่ตลาด และหากหลังจากนี้ฝนทางภาคใต้หยุดตกก็จะทำให้ชาวสวนออกมากรีดยางเพิ่มขึ้น ซึ่งจะต่อเนื่องไป 5-6 เดือน
ประกอบกับก่อนหน้านี้ราคายางของประเทศไทยเคยปรับขึ้นไปเฉลี่ยถึง 80-90 บาท/กก. สูงกว่าเพื่อนบ้านในอาเซียน ที่ราคาไม่ถึง 60 บาท/กก. และยังเป็นระดับราคาที่สูงกว่าราคาตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าในต่างประเทศทั้งไซคอมและโตคอม กก.ละ 3-5 บาท จึงทำให้ผู้ซื้อหันไปซื้อจากประเทศคู่แข่ง
ในฝั่งส่งออกมองว่า ปัจจัยหนึ่งสถานการณ์การส่งออกในตลาดจีน ส่วนหนึ่งเริ่มได้รับผลจากการที่สหรัฐประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้ายานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จากจีนที่ส่งไปอเมริกา ในอัตรา 102.5% จากปัจจุบันที่เก็บอยู่ในอัตรา 27.5% ทำให้ความต้องการใช้ลดลง ประกอบกับสถานการณ์การผลิตของไทย ซึ่งยางไทยออกช้าในช่วงก่อนนี้เพิ่งกลับสู่ภาวะปกติ
ขณะที่ฝั่งเรกูเลเตอร์ คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มองว่า ในช่วงนี้อาจไม่ใช่กลไกตลาดปกติ มีผู้ประกอบการ 3-4 ราย รวมตัวกันกดราคารับซื้อ ทั้งที่ปัจจัยในตลาดโลกภาวะตลาดยังไปได้ ไม่ได้แย่ ตัวเลขส่งออกยังสูง ประกอบกับเรื่องปัญหายางเถื่อนที่ยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อราคาในประเทศ
กยท.ยังดำเนินตามนโยบายที่ประกาศไว้ ทั้งการสร้างตลาดยางมาตรฐานเดียวกัน 500 ตลาด ทุกท้องถิ่นทั่วไทย รองรับ EU Deforestation-free Products Regulation (EUDR)
ตลอดจนการผลิตแบรนด์การยางเพื่อลดต้นทุนให้เกษตรกร ผลิตยางล้อ Greenergy Tyre แบรนด์ของ กยท.เอง
โดยยังมั่นใจว่าหากกลไกทุกด้านเดินหน้าเต็มที่ มีโอกาสจะเห็นราคายาง 3 หลักได้ แต่อนาคตของชาวสวนยางมีแนวโน้มลดลง เพราะปัญหาราคายางที่ตกต่ำต่อเนื่องหลายปี ทำให้ชาวสวนโค่นยางหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น ทั้งปาล์มน้ำมัน และทุเรียน คาดการณ์ว่าปีนี้ผลผลิตยางจะหายไปเป็นหลักแสนตัน รัฐต้องมาวางแผนว่าหากยังเป็นเช่นนี้ โครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรเปลี่ยนไป ไทยจะวาง Position อย่างไรในอนาคต เพื่อรักษาการเป็นผู้ผลิตยางอันดับ 1 ของโลกไว้ได้.
ที่มา https://www.prachachat.net/economy/news-1609037?utm_source=msn_news&utm_medium=footer_click


















18/07/2024