ราคายางดิ่ง 57 บาท ชาวสวนร้อง “เศรษฐา” กยท. บี้ตรวจสต๊อก เส้นทางเงินยางเถื่อน


ราคายางดิ่ง 20 บาท เหลือไม่ถึงกิโล 60 บาทแล้ว ชาวสวนโร่ทำหนังสือร้อง “นายกฯเศรษฐา” ประชุมบอร์ด กนย. ชง 3 ข้อเรียกร้อง อุ้มชาวสวนพ้นขาดทุน ด้าน กนย. แก้เกมเร่งตรวจสอบสต๊อกเอกชน ผนึก DSI ไล่สอบเส้นทางเงินบี้คนฉวยโอกาสนำเข้ายางเถื่อน เอกชนรวมหัวทุบราคา ด้านผู้ส่งออกแจงผลจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐทุบส่งออกอีวีจีนต้นเหตุตลาดเดี้ยงครึ่งปีหลัง
วันที่ 9 กรกฎาคม 2567 สถานการณ์ราคายางพาราปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ประกาศราคารับซื้อน้ำยางสดวันที่ 8 ก.ค. 2567 กก.ละ 63.50 บาท ซึ่งเป็นระดับที่ลดลงต่ำสุดในรอบปี 2567 จากก่อนหน้านี้ 1 เดือนเศษที่ราคายางเคยพุ่งไปถึง 100.30 บาท สูงสดในรอบ 12 ปี ไปเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2567
ชาวสวนร้องนายกฯ
นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางสมาคมได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ขอให้ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ฉุกเฉินได้แล้ว เพื่อวางมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
จนถึงวันนี้ (9 ก.ค. 67) ราคาน้ำยางที่รับซื้อในท้องถิ่นลดลงเหลือเพียง 57 บาท/กก.แล้ว นับว่าเป็นราคาที่ต่ำสุดในรอบปี และส่งผลให้ชาวสวนยางขาดทุนจากต้นทุนการผลิตที่ทางราชการคำนวณไว้ที่ 63.64 บาท/กก.
“การที่ราคายางที่ลดลงนั้น คาดว่าเป็นผลจากสถานการณ์การผลิตยางเริ่มกลับสู่ฤดูกรีดแล้วหลังจากยางผลัดใบไปเมื่อ 2 เดือนก่อน และหากหลังจากนี้ฝนทางภาคใต้หยุดตกก็จะทำให้ชาวสวนออกมากรีดยางเพิ่มขึ้น
ซึ่งจะต่อเนื่องไป 5-6 เดือน ถึงเดือนมกราคม 2568 ซึ่งอาจจะทำให้ราคาลดต่ำลงไปอีก ประกอบกับก่อนหน้านี้ราคายางของประเทศไทยเคยปรับขึ้นไปเฉลี่ยถึง 80-90 บาท/กก. สูงกว่าเพื่อนบ้านในอาเซียนทั้งกัมพูชา ลาว เมียนมา และอินโดนีเซีย ที่ราคาไม่ถึง 60 บาท/กก. และยังเป็นระดับราคาที่สูงกว่าราคาตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าในต่างประเทศ ทั้งไซคอมและโตคอม กก.ละ 3-5 บาท จึงทำให้ผู้ซื้อหันไปซื้อจากประเทศคู่แข่ง
โดยมีผู้ผลิตยางหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย หันไปตั้งโรงงานในกัมพูชาเพื่อรับซื้อโดยตรง ทำให้เป็นห่วงว่าหลังจากนี้ผู้ซื้อจะกลับมาซื้อยางไทยได้ยากแล้ว ซึ่งหากตัวเลขการส่งออกไทยลดลงในปีนี้จะส่งผลกระทบต่อเงิน CESS ที่เคยได้ กก.ละ 2 บาท ปีละ 7,000-8,000 ล้านบาท ก็จะลดลงด้วย”
เปิด 3 ข้อเรียกร้องชาวสวน
“ข้อเสนอที่ร้องต่อนายกฯ ขอให้เร่งพิจารณาแนวทางเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตยาง โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนพันธุ์ยางที่ใช้อยู่ในปัจจุบันคือ PRIM 600 ปลูกมา 50 ปีให้ผลผลิต 240-250 กก./ไร่ ต้นทุน 63.64 บาท หากเปลี่ยนไปใช้ยางใหม่ที่สถาบันวิจัยยางพัฒนาขึ้นมาอย่าง 251 จะทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 470 กก./ไร่ ขายได้เงินมากขึ้น ต้นทุนเฉลี่ยของเกษตรกรลดลง
และแนวทางที่สอง คือ ขอให้เร่งนำนวัตกรรมการต่าง ๆ รวมถึงสารเคมีต่าง ๆ ที่จะมาช่วยเพิ่มน้ำยางที่มีอยู่เดิม และสุดท้ายขอให้รัฐบาลพิจารณาขยายขอบเขตการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรด้วยโครงการปุ๋ยคนละครึ่งมาให้ชาวสวนยางด้วย”
สำหรับข้อเสนอสมาคมในจดหมายระบุว่า 1.ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รีบเปลี่ยนพันธุ์ยางที่เกษตรกรชาวสวนยางจะปลูกแทน หรือปลูกใหม่ ตาม พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 โดยยึดพันธุ์ยางที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง
ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตระดับชาวสวนลดลงได้ เพราะพันธุ์ยางใหม่ ๆ ที่วิจัยโดยสถาบันวิจัยยาง กยท. มีผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ยางที่ชาวสวนยางปลูกไปแล้วถึงเท่าตัว ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำ เทียบเคียงกับประเทศอื่นได้
2.รัฐบาลสนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยที่มีคุณภาพและราคาถูก ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลงได้ ซึ่งรัฐบาลได้ใช้มาตรการปุ๋ยคนละครึ่งกับการปลูกข้าวแล้ว
และ 3.กรณีสวนยางที่ปลูกยางไปก่อนแล้วด้วยพันธุ์ที่ให้ผลผลิตต่ำ เช่น ปลูกพันธุ์ RRIM 600 แต่ก็ไม่อาจจะโค่นทิ้งได้ทันที เพราะยังให้ผลผลิตน้ำยางอยู่ รัฐบาลควรนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ เช่น การนำฮอร์โมน เพิ่มผลผลิตที่มีงานวิจัยรองรับ และ กยท.ก็ได้มีการสาธิตเป็นแปลงตัวอย่างมาแล้ว แต่ยังไม่ทั่วถึงและยังไม่ได้ปฏิบัติอย่างจริงจัง จึงถือว่ายังไม่ได้แก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จ ตลอดจนสนับสนุนปุ๋ยเช่นเดียวกัน รวมทั้งนำระบบ AI มาปรับใช้กับสวนยางด้วย
ซึ่งหากแก้ปัญหาทั้ง 3 ข้อได้ ผลผลิตระดับชาวสวนก็จะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 เท่า ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตระดับชาวสวน สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นที่ปลูกยางได้ เมื่อถึงเวลานั้น ประเทศผู้ใช้ยางก็จะหันมาซื้อยางจากไทย ซึ่งเป็นยางที่มีคุณภาพและต้นทุนการผลิตระดับชาวสวนเท่ากับหรือต่ำกว่าประเทศอื่น
นอกจากนั้น การที่ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น จะทำให้ผลผลิตในภาพรวมของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างน้อย เท่าตัว ทำให้ GDP ของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เท่ากับว่าเป็นการปลูกความยิ่งใหญ่ระดับโลกตรงตามนโยบายของรัฐบาล
แต่หากไม่แก้ไข ชาวสวนยางของประเทศไทยจะหันไปปลูกพืชอื่นแทน ทำให้เนื้อที่สวนยางของไทยจะลดลง 2.ประเทศผู้ปลูกยางอื่น จะมีโอกาสแซงไทยเป็นผู้ปลูกยางรายใหญ่เช่น ประเทศในแอฟริกา มีการขยายพื้นที่ปลูกยาง ด้วยการใช้เทคโนโลยีและ AI ต้นทุนการผลิตจะต่ำ ขณะนี้ประเทศผู้ใช้ยางก็เริ่มหันไปซื้อยางจากประเทศปลูกยางในแอฟริกาแล้ว
3.แม้ว่าไทยจะเป็นผู้ปลูกยางรายใหญ่ก็ตาม ประเทศผู้ใช้ยางนอกจากจะหันไปซื้อยางจากประเทศที่มีต้นทุนการผลิตในระดับต่ำแล้ว ปัจจุบันยางสังเคราะห์ที่มีต้นทุนต่ำกว่าก็จะเข้ามาแทนที่ยางธรรมชาติ
กยท.เร่งแก้เกมบี้ตรวจสต๊อกเอกชน-สอบเส้นทางเงิน “ยางเถื่อน”
ด้าน ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กยท.ตั้งข้อสังเกตถึงสถานการณ์ราคายางที่ลดต่ำลงผิดปกติในช่วงนี้ว่าอาจจะเกิดการผู้ประกอบการ 3-4 ราย รวมตัวกันกดราคารับซื้อทั้งที่ปัจจัยในตลาดโลกไม่ได้แย่ ภาวะตลาดยังไปได้ ตัวเลขส่งออกยังสูง ประกอบกับเรื่องปัญหายางเถื่อนที่ยืดเยื้อ
ซึ่งทาง กยท.จึงได้ร่วมกับหน่วยงานรัฐหลายหน่วยงาน เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และคณะ ติดตามจับกุมดำเนินคดีกับการลักลอบการนำเข้ายางเถื่อน และเตรียมจะขยายผลไปยังผู้รับซื้อ ด้วยการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมยาง พ.ศ. 2542 ให้ผู้ประกอบการแจ้งปริมาณ สถานที่จัดเก็บ และการขนย้ายยาง ตรวจสอบเส้นทางการเงิน การเสียภาษี ผู้ต้องสงสัยว่าอยู่ในกระบวนการกดราคาว่าโยงกับใครบ้าง ซึ่งทางร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ สั่งการมาแล้วว่าเจอใครไม่ให้ไว้หน้า
“กลไกสำคัญเราต้องลงไปตรวจสอบดูว่าสต๊อกการรับซื้อยางเท่าไร ซื้อด้วยราคาเท่าไร ขายเท่าไร เรื่องเหล่านี้ปกปิดกันไม่ได้ เรื่องกลไกเหล่านี้ต้องทำงาน ผ่านกฎหมายที่เรามี คือ พ.ร.บ.ควบคุมยาง เราบังคับให้ผู้ประกอบการแจ้งสต๊อกได้ เราไม่ค่อยนำมาใช้ แต่ตอนนี้ต้องนำมาใช้เพื่อตรวจสอบความเคลื่อนไหวการซื้อขายยาง”
อย่างไรก็ตาม กยท.ยืนยันมาโดยตลอดว่านโยบายส่งเสริมการแปรรูปยางล้อ และการพัฒนายกระดับเกษตรกรผู้ปลูกยางให้เป็นไปตามมาตรฐาน EU Regulation on Deforestation-free Products (EUDR) นั้น เป็นมาตรการที่ดำเนินการถูกทาง เพราะยางทุกลอตที่ผ่านมาตรฐานนี้จะได้ราคาสูงและมีผู้รับซื้อแน่นอน
เราทำให้รู้ว่าการทำราคายางสูงขึ้นสามารถทำได้ แต่การยืนระยะให้ราคายางสูงต้องมีเครื่องมือบางอย่างที่เราต้องสร้างขึ้นมา ทั้งเรื่องล้อยาง ทั้งเรื่องมาตรฐาน EUDR ซึ่งแนวทางต่อไปคือ ทาง กยท.จะประสานให้ผู้ผลิตยางล้อระดับโลกซื้อตรงกับสหกรณ์ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการยางลำดับรองให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น เพื่อให้เข้ามาช่วยดูดซับผลผลิตที่ออกมาสู่ตลาด
ส่งออกผวาสงครามการค้า
ในภาคการส่งออกยางพารานั้น จากตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ตัวเลขการส่งออกยางพาราในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) 2567 ยังปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีปริมาณ 1.22 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 10.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มูลค่าการส่งออกถึง 1,943.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 30.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคิดเป็นราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยที่ 1,584.9 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น 18.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์การส่งออกส่วนหนึ่งเริ่มได้รับผลจากการที่สหรัฐประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้ายานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จากจีนที่ส่งไปอเมริกา และสถานการณ์การผลิตของไทย ซึ่งยางไทยออกช้าในช่วงก่อนนี้ แต่ตอนนี้เพิ่งกลับสู่ภาวะปกติ
“การที่ราคายางช่วงก่อนหน้านี้ปรับขึ้นไปมาก ตอนนี้เลยเหมือนขาลงมาก แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสินค้าเริ่มออกสู่ตลาดแล้ว ทางบริษัทเราบริหารจัดการความเสี่ยงเรื่องสต๊อกในช่วงที่ราคาลดลงด้วยวิธีการ Matching ทุกวัน ไม่ค่อยมีสต๊อกเหลือค้างติดมือ ประเด็นเรื่องที่ กยท.ตรวจสอบสต๊อกชนนั้น ทางบริษัทเราไม่ได้รับผลกระทบ เพราะส่วนมากขายหมด ส่วนของที่เหลือเป็นของที่รอส่งมอบ”
ที่มา https://www.prachachat.net/economy/news-1603234


















09/07/2024