สวนยาง ร้อง “เศรษฐา” วอนช่วยแก้ เดือนเดียวราคายางรูด 12 บาท


สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ส่งหนังสือร้อง “เศรษฐา” เดือนเดียวราคายางรูด 12 บาท วอนช่วยแก้ แนะพันธุ์ยางใหม่ เพิ่มผลผลิต พ่วงโมเดลเลียนแบบ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” ที่ช่วยชาวนา ลดต้นทุน
นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และกรรมการคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ได้ส่งหนังสือถึง นายเศรษฐา ทวีสิน  นายกรัฐมนตรี ในฐานะเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติได้โปรดพิจารณา ปัญหาราคายางพาราในขณะนี้ซึ่งในระยะ 6 เดือนที่ผ่านมา ราคายางพาราอยู่ในระดับที่ปรับตัวสูงขึ้นมาโดยตลอด ใกล้เคียง จะถึงกิโลกรัมละ 100 บาท (ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3)  เป็นที่พอใจของชาวสวนยาง
ในอดีตชาวสวนยางขายยางได้ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตมาโดยตลอดจนกระทั่งมีชาวสวนยาง ทยอยปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่คาดว่าจะมีอนาคตมากกว่ายางพาราเช่น หันไปปลูกทุเรียนและปาล์มน้ำมันเป็นต้น  อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนมิถุนายน จนถึงปัจจุบันราคายางพาราแผนดิบรมควันชั้น 3 ปรับตัวลงมา  12.16 บาท จากเมื่อต้นเดือนมิถุนายน ราคายางแผ่นรมควัน อยู่ที่ 85.39 บาท/กก. ขณะที่ราคาปัจจุบัน อยู่ที่ 73.23 บาท/กก. ทางสมาคม จึงได้เคราะห์สาเหตุของปัญหาที่ชาวสวนยาง ขายยางได้ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตมาโดยตลอดโดยมีข้อสรุปดังนี้
1. การซื้อขายยางในเวทีตลาดโลกขึ้นอยู่กับ demand และ supply ถ้า supply มากกว่า demand ราคาก็จะปรับลดลงและถ้าsupply น้อยกว่าdemand ราคาก็จะปรับขึ้นเป็นเรื่องปกติของหลักการตลาด 2. กรณีผลผลิต ( supply)  มากกว่าความต้องการ (demand) ผู้ซื้อก็ย่อมจะเลือกซื้อจากประเทศผู้ขายที่เสนอในราคาต่ำสุด เป็นเรื่องปกติของการตลาด และสุดท้าย ประเทศไทยมีนทุนการผลิต ระดับชาวสวนสูงกว่าต้นทุนการผลิตของประเทศอื่น แต่ไทยจำเป็นต้องขายยางให้สูงกว่าต้นทุนจึงจะมีกำไรแต่ประเทศผู้ซื้อ จะเลือกซื้อยางจากประเทศที่มีต้นทุนต่ำ ซึ่งเป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่ายคือผู้ซื้อและผู้ขายหมายถึงผู้ขายมีกำไรเพราะต้นทุนต่ำกว่าราคาขาย ผู้ซื้อพอใจที่จะเลือกซื้อยางจากผู้ขายในราคาที่ต่ำ
ด้วยเหตุนี้ สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย จึงประชุมคณะกรรมการสมาคมมีความเห็นร่วมกันว่ารัฐบาลต้องรีบหาวิธีแก้ปัญหาให้ต้นทุนการผลิตระดับชาวสวนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศต้นทุนการผลิต อยู่ที่ 65.59 บาทต่อกิโลกรัม และจะต้องให้มีการเปรียบเทียบต้นทุนการผลิตระดับชาวสวนของไทยกับของประเทศอื่นที่ปลูกยาง 
นายอุทัย กล่าวว่า ถ้าไทยไม่รีบแก้ไขปัญหาต้นทุนการผลิต ระดับชาวสวน ไทยจะเสียโอกาสที่จะเป็นประเทศผู้ปลูกยางมากที่สุดในโลกอีกต่อไป ด้วยเหตุผล 1, ชาวสวนยางของประเทศไทย จะหันไปปลูกพืชอื่นแทนทำให้เนื้อที่สวนยางของไทยจะลดลง,2. ประเทศผู้ปลูกยางอื่นจะมีโอกาสแซงไทยเป็นผู้ปลูกยางรายใหญ่เช่น ประเทศในอาฟริกา มีการขยายพื้นที่ปลูกยาง ด้วยการใช้เทคโนโลยีและ AI ต้นทุนการผลิตจะต่ำ ขณะนี้ประเทศผู้ใช้ยางก็เริ่มหันไปซื้อยางจากประเทศปลูกยางในอาฟริกาแล้ว และ 3.แม้ว่าไทยจะเป็นผู้ปลูกยางรายใหญ่ก็ตาม ประเทศผู้ใช้ยางนอกจากจะหันไปซื้อยางจากประเทศที่มีต้นทุนการผลิตในระดับต่ำแล้วปัจจุบันยางสังเคราะห์ที่มีต้นทุนต่ำกว่าก็จะ เข้ามาแทนที่ยางธรรมชาติ
สุรปมติของสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทยขอเสนอต่อประธานคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติเพื่อรีบเร่งแก้ไขปัญหาต้นทุนการผลิตระดับชาวสวนดังนี้
1. ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รีบเปลี่ยนพันธุ์ยางที่เกษตรกรชาวสวนยางจะปลูกแทนหรือปลูกใหม่ตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2558 โดยยึดพันธุ์ยางที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตระดับชาวสวนลดลงได้เพราะพันธุ์ยางใหม่ๆที่วิจัยโดยสถาบันวิจัยยางการยางแห่งประเทศไทยมีผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ยางที่ชาวสวนยางปลูกไปแล้วถึงเท่าตัวซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำเทียบเคียงกับประเทศอื่นได้
2.รัฐบาลสนับสนุนปัจจัยการผลิตเช่นปุ๋ยที่มีคุณภาพและราคาถูกซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลงได้ซึ่งรัฐบาลได้ใช้มาตรการปุ๋ยคนละครึ่งกับการปลูกข้าวแล้ว
3. กรณีสวนยางที่ปลูกยางไปก่อนแล้วด้วยพันธุ์ที่ให้ผลผลิตต่ำเช่นปลูกพันธุ์RRIM600 แต่ก็ไม่อาจจะโค่นทิ้งได้ทันทีเพราะยังให้ผลผลิตน้ำยางอยู่รัฐบาลควรนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เช่นการนำฮอร์โมนเพิ่มผลผลิตที่มีงานวิจัยรองรับและกยท. ก็ได้มีการสาธิตเป็นแปลงตัวอย่างมาแล้ว แต่ยังไม่ทั่วถึงและยังไม่ได้ปฏิบัติอย่างจริงจัง จึงถือว่ายังไม่ได้แก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จตลอดจนสนับสนุนปุ๋ยเช่นเดียวกับข้อ 1 รวมทั้งนำระบบ AI มาปรับใช้กับสวนยางด้วย
"สมาคมฯขอนำเรียนว่าหากแก้ปัญหาทั้ง 3 ข้อได้ผลผลิตระดับชาวสวนก็จะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 เท่าซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตระดับชาวสวน สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นผู้ที่ปลูกยางได้ เมื่อถึงเวลานั้นประเทศผู้ใช้ยางก็จะหันมาซื้อยางจากไทย ซึ่งเป็นยางที่มีคุณภาพและต้นทุนการผลิตระดับชาวสวนเท่ากับหรือต่ำกว่าประเทศอื่นนอกจากนั้นการที่ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นจะทำให้ผลผลิตในภาพรวมของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างน้อยเท่าตัว ทำให้ GDP ของประเทศเพิ่มขึ้น และเชื่อว่าหากมีการแก้ปัญหาตามที่เสนอข้างต้นจะทำให้ราคายางมีเสถียรภาพซึ่งเป็นหน้าที่ของการยางแห่งประเทศไทยตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2558 มาตรา 8(4)  ที่กำหนดไว้ว่า“ดำเนินการให้ระดับราคายางพารามีเสถียรภาพ” จะยั่งยืนทำให้ชาวสวนมีรายได้ 3 เท่า ใน 4 ปีตามนโยบายรัฐบาล" นายอุทัย กล่าวย้ำในตอนสุดท้าย
ที่มา https://www.thansettakij.com/business/trade-agriculture/600421


















28/06/2024