EUDR พลิกบทบาทยางพาราไทยใช้อ้างอิงราคาโลก ทะยานสู่ผู้นำความยั่งยืน


เมื่อโลกเศรษฐกิจต้องเดินหน้าคู่ความยั่งยืน ยางพาราไทยภายใต้ EUDR จะไม่พึ่งพาราคาอ้างอิงตลาด SICOM อีกต่อไป เป็นอีกจุดที่จะช่วยสร้างเสถียรภาพราคายางไทยไม่ถูกปั่นจนบิดเบือน เพราะจนถึงตอนนี้มีเพียงไทยและแอฟริกาใต้เท่านั้นที่สามารถผลิตยางพรีเมี่ยมขนาดนี้ได้
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท. ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กทย.) เปิดเผยว่าEUDR เป็นกฎหมายที่ห้ามไม่ให้ค้าขายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า โดยกำหนดให้สินค้าที่เข้าและออกจากสหภาพยุโรป ต้องผ่านเงื่อนไขสำคัญสามข้อได้แก่ การตัดไม้ทำลายป่าสินค้าวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์แปรรูปจาก7สินค้า โกโก้ กาแฟ ปาล์มน้ำมัน ถั่วเหลือง ไม้และยางพารา ต้องไม่ได้ผลิตบนที่ดินที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า ต้องมาจากกระบวนการผลิตที่ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายต่างๆของประเทศผู้ผลิตเช่นกฎหมายที่ดินแรงงานสิทธิมนุษยชนสิ่งแวดล้อมป่าไม้และภาษี และได้รับการตรวจสอบและประเมินค่าตามขั้นตอนที่สหภาพยุโรปกำหนดโดยผู้ประกอบการต้องส่งรายงานการตรวจสอบก่อนจะนำเข้าหรือส่งออกสินค้า
ซึ่งกฎหมายนี้ มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2566 แต่สหภาพยุโรปได้กำหนดระยะเวลาเปลี่ยนผ่านอีก 18 เดือนจนกว่าจะเริ่มนำกฎหมายมาสู่การปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ในวันที่ 30 ธ.ค.2567 นี้และให้เวลาปรับตัวเพิ่มอีก 2 ปีก่อนจะนำมาใช้กับกลุ่มผู้ผลิตผู้นำเข้าและผู้ส่งออกรายย่อยในวันที่ 30 มิ.ย.2568
สำหรับประเทศไทย เกี่ยวข้องที่สุดคือยางพาราและผลิตภัณฑ์ ได้เตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้านานแล้ว กฎหมายนี้ไม่ถือว่าเป็นอุปสรรค ส่วนหนึ่งเพราะไทยมีองค์กรที่ดูยางพาราที่ชัดเจน มีการจัดเก็บข้อมูล ขึ้นทะเบียนเกษตรกรอย่างเป็นระบบ จึงสามารถแยกแยะพื้นที่ยางพาราที่ถูกและไม่ถูกกฎหมายออกจากกันได้ โดยปัจจุบันมีพื้นที่ถูกต้อง อยู่22 ล้านไร่ในจำนวนนี้ 90%ได้จัดเก็บพิกัดสวนยางไว้แล้วเพื่อนำมาเชื่อมโยงกับทะเบียนเกษตรกร กำหนดเลขทะเบียนและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ทั้งในตลาดกลางซื้อขายยางพารา หรือ TRT (Thai Rubber Trade) ของ กยท.เอง สหกรณ์และสุดท้ายคือผู้ประกอบการที่รับซื้อ
ซึ่งปัจจุบันกยท. อยู่ระหว่างประสานเพื่อให้ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการใช้แบบฟอร์มการรับซื้อยางพาราเดียวกันกับที่กทย.ออกแบบไว้ใกล้เคียงกับของสหภาพยุโรป เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ ตรวจสอบและป้องกันการเวียนเทียนยาง
“เบื้องต้นผู้ประกอบการยางทุกรายเห็นด้วยกับแผนการดำเนินการของ กยท. แม้ว่าแต่ละปี ไทยจะส่งออกยางไปในตลาดอียูเพียง 5 แสนตันต่อปีจากความต้องการ 3 ล้านตัน แต่ผู้ผลิตยางล้อทั้งจีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ต่างก็ส่งออกล้อยางและผลิตภัณฑ์ในตลาดอียูทั้งสิ้น และทุกประเทศต้องปฏิบัติตามกฎ EUDR ซึ่งมีเพียงไทย และ แอฟริกาใต้ เท่านั้นที่ทำได้ ”
ดังนั้นในเร็วๆนี้ กยท.จะเดินทางไปเจรากับแอฟริกา เพื่อให้ใช้ราคายางไทยเป็นราคาอ้างอิงการขาย จากที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ราคายางในตลาดโลกจะอ้างอิงจากSingapore Commodity Exchange (SICOM) การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะส่งผลให้ราคายางของไทยมีเสถียรภาพมากขึ้น 
อย่างไรก็ตามเกษตรกรที่ผลิตยางที่มีคุณภาพตาม EUDR นี้ต่างมุ่งหวังที่จะขายได้ราคาสูงกว่าเมื่อเทียบกับราคายางทั่วไป ซึ่งโดยกลไกความต้องการของยางพาราประเภทนี้จะส่งผลให้ราคาปรับเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ในขณะที่่กยท.จะไม่ระบุอัตราราคาที่บวกเพิ่ม เนื่องจากเสี่ยงที่จะส่งผลให้ราคายางพรีเมี่ยมเหล่านี้อยู่ในระดับสูงเกินกว่าที่ผู้ประกอบการจะรับได้ และหันไปใช้ยางสังเคราะห์แทน
ในขณะเดียวกัน กยท.จะแยกจัดเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษ (CESS) จากการส่งออกเพิ่มขึ้น จากปกติจะเก็บคงที่ที่ราคา 2 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 2.50 บาทต่อกิโลกรัม เป็นต้น เพื่อนำรายได้เหล่านั้นไปส่งเสริมเกษตรกร
สำหรับตามกฎหมาย EUDR ระบุให้มีระบบการตรวจสอบและการประเมิน การจัดเก็บข้อมูล ซึ่งผู้ประกอบการต้องรวบรวมข้อมูลเอกสารสถิติที่แสดงว่าสินค้าเป็นไปตามเงื่อนไข โดยต้องเก็บข้อมูลเป็นเวลาอย่างน้อย5 ปีนับจากวันที่วางจำหน่ายหรือส่งออก เช่น รายละเอียดของสินค้า ประเทศที่ผลิต พิกัดทางภูมิศาสตร์ของแปลงที่ดินที่ผลิตสินค้า ปริมาณของสินค้า วันและเวลาผลิตข้อมูลการตรวจสอบจากบุคคลที่สาม
หากผู้ประกอบการพบความเสี่ยงต้องดำเนินการลดความเสี่ยงให้ลงมาอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ จัดให้มีนโยบายการควบคุมและวิธีการดำเนินการที่เหมาะสม โดยการระบุความเสี่ยงของแต่ละประเทศ จะใช้เกณฑ์ คืออัตราการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่า อัตราการขยายพื้นที่การเกษตรของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง แนวโน้มการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องนำเข้าข้อมูลที่รวบรวมประเมินความเสี่ยงผลที่เกิดต่อการทำลายพื้นที่ป่าและมีการกระทำขัดต่อกฎหมายระหว่างการผลิตหรือไม่
โดยระเบียบฉบับนี้มีการจัดทำระบบการประเมิน ประเทศหรือเขตออกเป็น 3 ระดับ คือความเสี่ยงสูงคือกลุ่มประเทศหรือเขตที่ประเมินแล้วมีความเสี่ยงสูงที่สินค้าเป็นไปตามกฎจะได้รับการสุ่มตรวจ 9% ของสินค้าทั้งหมด ความเสี่ยงมาตรฐานประเทศหรือเขตที่ประเมินแล้วไม่ถูกจัดเป็นกลุ่มประเทศเสี่ยงสูงหรือต่ำจะได้รับสุ่มตรวจสินค้า 3% ของทั้งหมด และความเสี่ยงต่ำประเทศหรือเขตที่การรับประกันเพียงพอว่าสินค้าที่ผลิตโดยกลุ่มประเทศดังกล่าวอยู่ในระดับดีเยี่ยมจะได้รับการสุ่มตรวจ 1% ของสินค้าทั้งหมด
ส่วนข้อมูลเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน มีพื้นที่ ทั้งสิ้น 3,167,350.86 เฮกตาร์ จัดเก็บพิกัด 1.9 8 ล้านแปลงจาก 2.2 ล้านแปลงของสวนยางที่ขึ้นทะเบียน เกษตรกรชาวสวนยาง 1, 682,111 ราย สถาบันเกษตรกร 1,097 สถาบัน 3,25,754 ราย ผู้ประกอบการ 565 ราย มีตลาดกลางยางพารา 8 แห่ง 5,073
ทั้งนี้ สิ้นเดือน เม.ย. นี้กระทรวงเกษตรฯจะ Kick off ในครั้งนี้เพื่อเป็นการต่อยอดความสำเร็จและขยายโอกาสทางการค้ายางพาราให้กว้างยิ่งขึ้น จัดทำระบบการซื้อขายผ่านตลาดกลางยางพารา ที่มีมาตรฐานสอดคล้องกับมาตรการที่ EUDR กำหนด ในการรักษาเสถียรภาพราคายางพารา พร้อมทั้งขับเคลื่อนพัฒนาประสิทธิภาพการค้าการลงทุนของอุตสาหกรรมยาง และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพาราของไทย
ที่มา https://www.bangkokbiznews.com/environment/1121561


















14/04/2024