สำนักข่าวนิกเกอิ เอเชียรายงานว่า กฎระเบียบใหม่ของสหภาพยุโรป (EU) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อยับยั้งการตัดไม้ทำลายป่านั้น เสี่ยงที่จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในภาคยางพาราของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่เกษตรกรรายย่อย 30,000 รายของกัมพูชาไปจนถึงกลุ่มผู้ส่งออกรายใหญ่ในไทยและมาเลเซีย
ทั้งนี้ กฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EU Deforestation Regulation : EUDR) มีวัตถุประสงค์เพื่อสั่งห้ามนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหมด 7 ชนิด ได้แก่ วัว โกโก้ กาแฟ น้ำมันปาล์ม ยาง ถั่วเหลือง และไม้ หากสินค้าเหล่านี้มาจากที่ดินที่เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าหลังวันที่ 31 ธ.ค. 2563
บริษัทต่าง ๆ ที่ดูแลด้านการนำเข้าดังกล่าวจะต้องจัดหา "ข้อมูลที่เป็นข้อสรุปและพิสูจน์ได้" ในการอธิบายห่วงโซ่อุปทานของตนเอง เช่น ข้อมูลตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่ใช้ในการเพาะปลูกผลิตภัณฑ์เพื่อรับรองว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นสอดคล้องกับกฎระเบียบ
กฎหมาย EUDR จะมีผลบังคับใช้สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ในเดือนธ.ค. 2567 และมิ.ย. 2568 สำหรับบริษัทขนาดเล็ก โดยกลุ่มผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายดังกล่าวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มองว่า กฎหมายดังกล่าวจะกระทบกลุ่มเกษตรกรรายย่อยมากเป็นพิเศษ แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาเกี่ยวกับบทบาทของยางที่มีต่อการตัดไม้ทำลายป่าได้มากพอ
นายฌอง คริสตอฟ ดีปาร์ นักปฐพีวิทยาในกัมพูชาระบุว่า กฎหมาย EUDR จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรของกัมพูชาอย่างมาก
"ความเสี่ยงคือเกษตรรายเล็กจะลดน้อยลงเพราะมีข้อกำหนดมากเกินไป รวมถึงต้องใช้ความพยายามมากเกินไปในการจับตาและติดตามยางที่พวกเขาเพาะปลูก" นายดีปาร์กล่าว พร้อมระบุเสริมว่า "กรณีดังกล่าวจะทำให้เหลือเฉพาะองค์กรรายใหญ่ที่มีทรัพยากรในการปฏิบัติตามกฎหมาย"
ในมาเลเซียก็มีข้อวิตกกังวลลักษณะเดียวกัน โดยมาเลเซียดำเนินการตามอินโดนีเซียในการเจรจากับ EU เกี่ยวกับกฎระเบียบเรื่องการตัดไม้ทำลายป่า เนื่องจากมาเลเซียและอินโดนีเซียกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่กฎหมายดังกล่าวจะมีต่ออุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม นอกจากนั้น กฎหมายดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมส่งออกยางมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐของมาเลเซียด้วย
มาเลเซียส่งออกผลิตภัณฑ์ยางประมาณ 17% ไปยัง EU ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดอันดับ 2 รองจากสหรัฐ โดยคณะกรรมการยางมาเลเซียระบุว่า 93% ของที่ดินที่เพาะปลูกยางในมาเลเซียเป็นของเกษตรกรที่ถือครองที่ดินผืนเล็ก
ส่วนไทยซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางรายใหญ่ที่สุดของโลก พยายามหาทางออกให้กับปัญหาดังกล่าว โดยหน่วยงานกำกับดูแลกฎระเบียบของไทยได้ตั้งแพลตฟอร์มแห่งชาติขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้ปลูกยางไทยกว่า 5 ล้านรายสามารถดำเนินตามข้อกำหนดในการสืบทวนแหล่งกำเนิดของผลิตภัณฑ์ยางพารา
ที่มา https://www.ryt9.com/s/iq29/3467018