ผลงานโครงการ
กิจกรรมหลักที่ 1
การศึกษาแนวทางการกำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราเพื่อสนับสนุนการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
แนวทางวิธีการศึกษาวิจัย
- ศึกษารายละเอียดและรวบรวมข้อมูลในด้านต่าง ๆ เพื่อจัดทำการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา โดยมีรายละเอียดดังนี้
- ทบทวนการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราในด้านต่างๆ ที่ได้มีการดำเนินการไปแล้วของไทย
- ศึกษา รวบรวมข้อมูล มาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราในด้านต่างๆ ที่ยังไม่ได้มีการกำหนด โดยพิจารณาตามหลักเกณฑ์ ยกตัวอย่างเช่น
- เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น มีมูลค่าการผลิตและส่งออกสูง การกำหนดมาตรฐานจะทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
- เป็นผลิตภัณฑ์หรือระบบที่กำลังมีการจัดทำหรือเปลี่ยนแปลงมาตรฐานระหว่างประเทศ จำเป็นต้องจัดทำมาตรฐานของไทยให้สอดคล้องกับสากล
- เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหาคุณภาพมาตรฐาน การจัดทำมาตรฐานจะเป็นกรอบแนวทางในการส่งเสริมและควบคุมคุณภาพที่ชัดเจน
- เป็นผลิตภัณฑ์ที่ภาคเอกชน และผู้บริโภคต้องการให้มีการกำหนดมาตรฐาน
- แก้ไขปัญหาการกีดกันทางการค้า
- คุ้มครองผู้บริโภค
- ศึกษา รวบรวมข้อมูลทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ รวมทั้งมาตรฐานระหว่างประเทศ มาตรการ ข้อกำหนดกฎระเบียบ ของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ หรือ แนวทางปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศ เพื่อที่จะนำมาประกอบในการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
- ศึกษาความพร้อมกระบวนการทดสอบ เครื่องมือและอุปกรณ์ทดสอบที่จำเป็น เพื่อรองรับการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์
- ศึกษาผลกระทบ ผลดี ผลเสีย และความเป็นได้ในทางปฏิบัติในการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์
- กำหนดเกณฑ์ และจัดทำรายงาน
- ศึกษา วิเคราะห์ ข้อมูลที่รวบรวมได้ เพื่อกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราที่จำเป็นต้องดำเนินการ รวมทั้งวิธีที่เหมาะสมในการกำหนดมาตรฐาน รวมทั้งพิจารณาจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่จะทำการกำหนด โดยระบุเกณฑ์ที่ชัดเจน
- ศึกษาแนวทางในการดำเนินผลักดันให้มีการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา
- จัดทำรายงานการศึกษาการจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา
การศึกษาแนวทางการกำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางเพื่อสนับสนุนการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
การศึกษาแนวทางการกำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้ยางพาราเพื่อสนับสนุนการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
กิจกรรมหลักที่ 2
การยกระดับความสามารถทางด้านการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรม (Productivity) ผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา โดยดำเนินโครงการตามแนวทางรางวัลคุณภาพแห่งชาติสำหรับอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราเพื่อให้ผู้ประกอบการมีการเรียนรู้และดำเนินงานด้านคุณภาพตามแนวทางมาตรฐานระดับโลก รวมทั้งเพื่อพัฒนาองค์กรให้มีศักยภาพเพียงพอที่จะสมัครรับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award – TQA)
แนวทางวิธีการดำเนินงาน
เพื่อให้ผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายมีความเข้าใจและสามารถยกระดับมาตรฐานทางด้านการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตตามแนวทางรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ด้วยวิธีการฝึกอบรมให้คำปรึกษาแนะนำ และประเมินองค์กรตามแนวทางรางวัลคุณภาพแห่งชาติ
เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ ประกอบด้วย
โครงร่างองค์กร กล่าวถึงบริบทขององค์กร สภาพแวดล้อมขององค์กร ความสัมพันธ์ขององค์กร และสภาวการณ์เชิงกลยุทธ์ขององค์กร
หมวดที่ 1 การนำองค์กร
บทบาทของผู้บริหารระดับสูงขององค์กร ในการนำองค์กรให้บรรลุวิสัยทัศน์และพันธกิจ ความตระหนักถึงการดูแลรับผิดชอบเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อสังคมวงกว้าง เช่น ดูแลด้านสิ่งแวดล้อม การดูแลชุมชนที่สำคัญ
หมวดที่ 2 การวางแผนเชิงกลยุทธ์
การวางแผนเชิงกลยุทธ์ขององค์กร การกำหนดแผนปฏิบัติการที่สำคัญขององค์กร การกำหนดตัวชี้วัดที่สำคัญ
หมวดที่ 3 การมุ่งเน้นลูกค้า
การให้ความสำคัญกับเสียงของลูกค้า การแบ่งประเภทลูกค้า การประเมินความพึงพอใจ ความไม่พึงพอใจของลูกค้า ความผูกพันลูกค้า การจัดการข้อร้องเรียน กิจกรรมด้านความสัมพันธ์กับลูกค้า
หมวดที่ 4 การวัด วิเคราะห์ และการจัดการความรู้
ระบบข้อมูล สารสนเทศ ตัวชี้วัด องค์กรความรู้ที่สำคัญขององค์กร ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การจัดการความรู้
หมวดที่ 5 การมุ่งเน้นบุคลากร
การบริหารทรัพยากรมนุษย์ทั้งทางด้านอัตรากำลังและขีดความสามารถ ระบบการพัฒนาบุคลากร การวางแผนการสืบทอดตำแหน่งการเติบโตในสายอาชีพการงานทั้งผู้บริหารและบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน การคำนึงสภาพแวดล้อมในการทำงาน สภาพที่ทำงานมีเรื่องความปลอดภัย สุขอนามัย สวัสดิการ การประเมินผลงานและการยกย่องบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน
หมวดที่ 6 การมุ่งเน้นการปฏิบัติการ
ระบบงาน (Work System) กระบวนการที่สำคัญ (Key Work Process) ตั้งแต่การออกแบบกระบวนการที่ตอบสนองความต้องการความคาดหวังของลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) การควบคุมกระบวนการให้มีมาตรฐานสามารถทำการปฏิบัติงานการผลิตสินค้าและบริการได้มีคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ อาศัยหลักการบริหารงานประจำวัน (Daily Management) มีการปรับปรุงกระบวนการอย่างต่อเนื่องเพื่อลดความสูญเสียในการผลิตการปฏิบัติงาน ลดความแปรปรวนของกระบวนการ ทำให้กระบวนการมีประสิทธิภาพสูงสุด
หมวดที่ 7 ผลลัพธ์
ผลลัพธ์ของตัวชี้วัดที่สำคัญขององค์กรซึ่งจะสอดคล้องกับหมวดกระบวนการคือ หมวดที่ 1 ถึง หมวดที่ 6 โดยหมวดผลลัพธ์ประกอบด้วย ผลลัพธ์ด้านผลิตภัณฑ์และกระบวนการ ผลลัพธ์ด้านการมุ่งเน้นลูกค้า ผลลัพธ์ด้านการมุ่งเน้นบุคลากร ผลลัพธ์ด้านการนำองค์กรและการกำกับดูแลองค์กร ผลลัพธ์ด้านการเงินและการตลาด การแสดงข้อมูลในหมวดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิผล ควรจะต้องมีการตั้งเป้าหมาย แสดงข้อมูลย้อนหลังให้เห็นแนวโน้ม และแสดงข้อมูลเปรียบเทียบกับคู่เปรียบเทียบ (Benchmarking)
กิจกรรมการดำเนินงานของโครงการจึงมุ่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทราบถึงระดับการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตตามแนวทางเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ โดยมุ่งเน้นการยกระดับการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า รวมทั้งให้คำปรึกษาแนะนำในการสมัครขอรับรางวัลเพื่อให้ได้รายงานป้อนกลับในการพัฒนาองค์กรระยะต่อไป กิจกรรมตามโครงการประกอบด้วยกิจกรรมหลัก 4 ระยะ ดังแผนภาพข้างล่างนี้