เทคโนโลยีใหม่เปลี่ยนขยะยางให้เป็นวัสดุเก็บพลังงาน
    Amit Naskar, Parans Paranthaman และ Zhonghe Bi จากห้องปฎิบัติการ Oak Ridge National Laboratory (ORNL) ของกรมพลังงาน (Department of Energy) ได้พัฒนาสิ่งประดิษฐ์ใหม่โดยการนำขยะยางล้อมาผ่านกระบวนการปรับสภาพที่เหมาะสมให้กลายเป็นเขม่าดำคอมโพสิตสำหรับใช้เป็นวัสดุเก็บพลังงาน เช่น ในแบตเตอรี่ ตัวเก็บประจุแบบยิ่งยวด (supercapacitors) คะตะลิสต์ และเทคโนโลยีการกรองน้ำ
   เมื่อนำคาร์บอนที่ผลิตได้มาทดสอบโดยใช้เป็นแอโนด (anodes) ในแบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออนในระดับห้องปฏิบัติการ พบว่าวัสดุดังกล่าวมีความสามารถในการกักเก็บประจุที่สูงกว่า มีอัตราเร็วในการชาร์จประจุได้เร็วกว่า และมีต้นทุนที่ต่ำกว่าแบตเตอรี่แบบกราไฟต์ธรรมดาถึงร้อยละ 10 อีกด้วย
    เทคโนโลยีนี้ก่อให้เกิดตลาดใหม่ในการนำเศษยางล้อที่มีอยู่ทั่วโลกประมาณ 1 พันล้านเส้นต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่มักจะถูกนำไปฝังกลบหรือนำไปใช้เป็นสารตัวเติมในพลาสติก ยาง ยางมะตอย สนามหญ้าเทียมและงานวิศวกรรมโยธาอื่นๆ มาใช้ประโยชน์
    “กระบวนการนี้ได้ปฏิวัติการใช้ประโยชน์จากขยะในประเทศที่มีมากกว่าร้อยละ 2 ให้กลายเป็นเทคโนโลยีในการจัดเก็บพลังงานซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าและประสิทธิภาพของวัสดุที่ใช้ให้สูงขี้น” Richard Lee, CEO แห่ง RJ Lee Group. กล่าว “พวกเรามีความยินดีที่จะได้ร่วมงานกับ ORNL ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ โครงการนี้ถือเป็นสัญลักษณ์แสดงความสัมพันธ์ในทางอุดมคติระหว่างศักยภาพพื้นฐานการวิจัยของ National Laboratory กับธุรกิจเทคโนโลยีนวัตกรรมขั้นสูงขนาดเล็กในการต่อยอดเชิงพาณิชย์”
   “ความสำเร็จของเราในการผลิตคาร์บอนคอมโพสิตประสิทธิภาพสูงจากขยะยางล้อสำหรับใช้เป็นวัสดุเก็บพลังงานช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับยางล้อที่จะนำไปรีไซเคิล” Naskar กล่าว
    “ขั้นต่อไปคือการนำวัสดุคาร์บอนที่ผลิตได้ในห้องปฏิบัติการมาขยายขนาดการผลิตในสเกลที่ใหญ่ขึ้น” Paranthaman กล่าว
     การวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนยางล้อรีไซเคิลมาเป็นผงกราไฟต์นี้ได้รับทุนสนับสนุนจากโปรแกรมนวัตกรรมเทคโนโลยีระดับห้องปฏิบัติการ (laboratory’s Technology Innovation Program) ส่วนการประเมินผลวัสดุใหม่ที่ใช้เป็นขั้วแบตเตอรี่อิเล็กโทรดได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานวิทยาศาสตร์ DOE อย่างไรก็ตาม ORNL จะร่วมมือกับ RJ Lee Group ในการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ต่อไปโดยจะดำเนินการเป็นโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนของเอกชน
 
ที่มา: http://rubberjournalasia.com ประจำวันที่ 2 พฤศจิกายน 2558