แนะนำเครือข่าย

ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยในปี พ.ศ. 2555 สามารถสร้างรายได้จากการส่งออกยาง ผลิตภัณฑ์ยาง ไม้ยางพาราและผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพารา ประมาณ 662,200 ล้านบาท แบ่งออกเป็นรายได้จากการส่งออกยางพารา 270,000 ล้านบาท จากผลิตภัณฑ์ยาง 326,000 ล้านบาท และจากไม้ยางพาราและผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพารา 66,200 ล้านบาท อย่างไรก็ตามการสร้างมูลค่าเพิ่มจากยางพาราของประเทศไทยยังสามารถพัฒนาได้อีกมาก เนื่องจากในปัจจุบันประเทศไทยส่งออกยางพาราในรูปของยางแปรรูปขั้นต้นเป็นส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 86 ของปริมาณยางที่ผลิต แต่สร้างรายได้เพียง 270,000 ล้านบาท ในขณะที่การส่งออกในรูปของผลิตภัณฑ์ยางซึ่งใช้ยางพาราเพียงร้อยละ 13 ของปริมาณยางที่ผลิต สามารถสร้างรายได้ถึง 326,000 ล้านบาท ดังนั้นหากสามารถเพิ่มปริมาณการใช้ยางธรรมชาติมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยางมากขึ้นจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และสร้างรายได้ให้กับประเทศได้อีกมาก

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยยังมีการสร้างมูลค่าเพิ่มจากยางธรรมชาติน้อยกว่าที่ควรจะเป็น น่าจะเนื่องมาจากการที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมผลิตผลิตภัณฑ์ยางเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กดังกล่าวมีปัญหาในด้านต่างๆ เช่น ขาดความรู้และเทคโนโลยี ขาดบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ขาดการวิจัยและพัฒนา ความสามารถทางด้านการบริหารจัดการ ความสามารถทางด้านการตลาด ความสามารถในการลงทุนเพื่อพัฒนาการผลิต

ฉะนั้นในการเพิ่มการสร้างมูลค่าเพิ่มจากยางธรรมชาติให้มากขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กในด้านต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการไทยทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกและสามารถเพิ่มส่วนแบ่งของผลิตภัณฑ์ยางไทยในตลาดโลกได้

เนื่องจากการพัฒนาผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราไทยในทุกๆ ด้านดังกล่าวจำเป็นต้องใช้เวลาและงบประมาณสูง สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีความสนใจที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราไทย ให้ก้าวจากประเทศผู้ส่งออกวัตถุดิบไปเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารานั้น จึงเลือกที่จะให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาก่อนเนื่องจากเห็นว่าการวิจัยและพัฒนาเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม เทคโนโลยี และผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้กับอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา เหมือนกับประเทศมาเลเซียที่มีหน่วยงานหลัก คือ Malaysian Rubber Board มีหน้าที่ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ จนทำให้ประเทศมาเลเซียเป็นผู้ส่งออกถุงมือยางสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก ทั้งๆ ที่มีผลผลิตยางธรรมชาติน้อยกว่าไทยถึงเกือบ 3 เท่า แต่อุปสรรคสำคัญที่จะส่งผลต่อการวิจัยและพัฒนา คือ งบประมาณสำหรับการวิจัยมีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งงบประมาณในการวิจัยและพัฒนาทั้งหมดของประเทศคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.25 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ในขณะที่การวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ประสบผลสำเร็จในเชิงอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์นั้นจำเป็นต้องใช้ งบประมาณค่อนข้างสูงและต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ปัญหาที่สำคัญอีกปัญหาหนึ่งของงานวิจัยในประเทศที่ผ่านมา คือ งานวิจัยและพัฒนาไม่ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการอย่างแท้จริง ทำให้ผลงานไม่ได้รับการนำไปใช้ประโยชน์ ส่งผลให้ประเทศเสียโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมยางปลายน้ำซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าจากยางพาราได้อีกหลายเท่าตัว

ปัจจุบันยังไม่มีกลไกที่จะประสานงานระหว่างนักวิจัยและผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพ ที่จะนำไปสู่การผลิตผลงานวิจัยที่ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการประสานการวิจัยและพัฒนาให้เกิดเครือข่ายการวิจัยและพัฒนาระหว่าง ผู้ประกอบการและหน่วยงานวิจัยเพื่อสร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่จะเป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งรวมถึงการวิจัยเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิต ปรับปรุงผลิตภัณฑ์เดิม และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบจากต้นยางพารา ผลิตผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ตรงกับความต้องการของตลาดและได้มาตรฐานสากล สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้จัดทำโครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราภายใต้เครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการและหน่วยงานวิจัยขึ้น โดยมอบหมายให้ศูนย์วิจัยเทคโนโลยียาง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินการโครงการ