สถานการณ์ยางไทยและโลก


ฝ่ายเศรษฐกิจยาง การยางแห่งประเทศไทย วิเคราะห์สถานการณ์ยาง ไตรมาสที่ 1/2566 ผลผลิตยางโลกอยู่ที่ 3.312 ล้านตัน การใช้ยางพาราโลกอยู่ที่ 3.73 ล้านตัน

ผลผลิตยางของไทยคาดว่าหลังเปิดกรีดยางจนถึงธันวาคมจะอยู่ที่ 4.9 แสนตัน โดยไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการใช้ยางเติบโตสูงสุด เนื่องจากการลงทุนในอุตสาหกรรมจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

การส่งออกยางพารา คาดว่าปีนี้ไทยจะส่งออกยางไทยที่ 4.275 ล้านตัน โดยมกราคมและกุมภาพันธ์ 2566 ไทยส่งออกยางเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา

ผู้นำเข้ายางจากไทยสูงสุดยังคงเป็นจีน คิดเป็น 55% ตามด้วยมาเลเซีย 13% และสหรัฐอเมริกา 4% ที่น่าสนใจคือเกาหลีใต้นำเข้ายางจากไทยเพิ่มขึ้น 2 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2562
ส่วนประเทศผู้ผลิตยางอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียส่งออกยางลดลงตั้งแต่ปี 2561 เนื่อง จากรัฐบาลไม่สนับสนุนราคายาง และเกษตรกรหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นที่ราคาสูงกว่า

ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ยอดประกอบรถยนต์โลกปี 2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการผ่อนคลายห่วงโซ่การผลิต และการเร่งซื้อรถในจีนก่อนสิ้นสุดระยะโครงการช่วยเหลือด้านภาษี เป็นปัจจัยบวกต่อราคายาง ขณะที่การผลิตยางล้อโลก ปี 2565 มีหลายประเทศเพิ่มกำลังการผลิต ได้แก่ อินเดีย (13.9%) เกาหลี (9.5%) จีน (0.8%)

ส่งผลให้ราคายางมีทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้ยางของโลกที่เพิ่มขึ้น เห็นได้จากการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ ยอดขายรถยนต์ และการผลิตล้อยาง

สมาคมผู้ผลิตยางรถยนต์แห่งสหรัฐอเมริกา (USTMA) คาดการณ์ว่าในปี 2566 ยอดจัดส่งรถยนต์ของสหรัฐฯจะเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผลผลิตยางทั่วโลกยังคงเติบโตน้อย อีกปัจจัยสำคัญ ปรากฏการณ์เอลนีโญที่จะส่งผลให้ปริมาณฝนน้อยกว่าทุกปี อากาศแล้ง ไม่สามารถเปิดกรีดยางได้ เป็นผลดีต่อราคายางในอนาคต

สรุปแล้วราคายางจะดีไม่ดี ขึ้นอยู่กับธรรมชาติและตลาดโลก เป็นอะไรที่กลไกลแก้ปัญหาราคายางในประเทศไทยทำอะไรไม่ได้เลย.

ที่มา https://www.thairath.co.th/news/local/2695716


















22/05/2023