ผู้ผลิตยางล้อรุมจีบ กทย. ดันสินค้าพรีเมี่ยมลุยตลาดอียู


สถานการณ์ยางพาราปี 2566 ทั่วโลกคาดว่าผลผลิตจะลดลงจากภัยแล้ง แต่ความต้องการเพิ่มขึ้นที่ 14.912 ล้านตัน รวมทั้งอียูจะบังคับใช้มาตรการห้ามซื้อยางจากป่า โอกาสราคาปรับขึ้นแรงมีสูง แต่ยังต้องระวัง สต็อกยางล้อ และอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท

สถานการณ์ยางพาราปี 2566 สมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ(ANRPC) คาดว่าความต้องการยางธรรมชาติในตลาดโลกที่ 14.912 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิม 173,000 ตัน สะท้อนสถานการณ์เศรษฐกิจตามการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (lMF)

รวมทั้งสมาคมผู้ผลิตยางรถยนต์แห่งสหรัฐอเมริกา (USTMA) คาดการณ์ยอดจัดส่งยางรถยนต์ของสหรัฐจะเพิ่มขึ้นในปี 2566 จะส่งผลให้การส่งออกของไทยที่ระดับประมาณ 4.275 ล้านตัน ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา แต่มูลค่าอาจไม่มากเท่าปีก่อนหน้าเนื่องอัตราแลกเปลี่ยนขณะที่อยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2565 ที่ระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์อัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นได้สะท้อนราคาที่เกษตรกรได้รับ โดยราคายางแผ่นดิบอยู่ที่กิโลกรัมละ 48-50 บาท

ณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า จากที่สภาพอากาศของไทยในปี 2566 ที่ก้าวสู่สภาวะ “เอลนีโญ” ซึ่งหมายถึงไทยจะแล้งแน่นอน ในขณะที่ฝนมาช้า ดังนั้นผลผลิตยางจะลดลง สวนทางกับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ขยายตัวมากขึ้น ดังนั้นโอกาสที่ราคายางของไทยมีความเป็นไปได้ที่จะปรับตัวสูงขึ้น

อย่างไรก็ตามยังต้องเฝ้าระวังเนื่องจากในช่วงปี 2564-2565 ที่สหรัฐเปิดการทบทวนการเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) กรณีตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้ายางรถยนต์จากประเทศไทย ทำให้ช่วงนั้นผู้ประกอบการยางล้อเร่งผลิตเพื่อเลี่ยงภาษีที่จะเก็บแพงขึ้น โดยยางดังกล่าวยังไม่ถูกนำมาใช้ตามแผน เพราะเกิดการระบาดของโควิด19  

นอกจากนี้ช่วงปี 2564 ที่ทั่วโลกมีปัญหาเรื่องเรือขนส่งสินค้า พบว่าผู้ประกอบการได้นำเข้ายางพาราจำนวนมาก เพื่อสต็อกในราคาที่สูงเฉลี่ยกิโลกรัมที่ 60 บาท แล้วไม่ได้นำมาใช้ เนื่องจากช่วงโควิด-19 ระบาดการคมนาคมมีน้อยไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ ดังนั้นน้ำยางเหล่านี้ยังเป็นต้นทุนสูงมากหากนำมาผลิตยางล้อในปัจจุบันยางพารามีราคาถูกลง และหลายบริษัทจึงเลือกที่จะไม่ผลิตล้อยาง หรือได้ซื้อยางพาราใหม่เพื่อนำไปถัวเฉลี่ยต้นทุนการผลิตให้ถูกลง เท่านั้น 

 รวมทั้งบริษัทผู้ประกอบการยางเปลี่ยนแผนการจัดซื้อยางพาราจากเดิมที่จะซื้อขายล่วงหน้าหรือวางแผนระยะยาว เป็นการซื้อในระยะสั้นเท่าที่ต้องการเท่านั้น เพื่อลดความเสี่ยงด้านราคายางที่อาจปรับลดลง  หรือไม่มีเสถียรภาพปรับลดขึ้นลงไม่คงที่ 

แต่ทั้งนี้ในมุมบวกที่การคมนาคม ภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มดีขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ยางทั่วโลกปรับลดลง เช่นอินโดเนียเซียปีนี้ผลผลิตลดลงแน่นอน เนื่องจากแล้ง โรคระบาดใบร่วงมากถึง2 ล้านไร่ เกษตรกรหันไปเปลี่ยนพืชอื่นที่ให้ผลผลิตสูงกว่า และเป็นประเทศที่ไม่มีหน่วยงานดูแลที่ชัดเจน  

ส่วนประเทศที่ปลูกใหม่จะเริ่มให้ผลผลิตแล้ว แต่ยังมีข้อจำกัดที่ผลผลิตจะมีไม่มาก เช่น เวียดนาม พื้นที่มีน้อยเพียง 1 ล้านไร่ แอฟริกามีพื้นที่เหมาะสมปลูกได้ไม่เกิน 1 ล้านไร่ จีนที่ปลูกได้เฉพาะตอนใต้ และปีนี้ยางพาราแถบยูนนานไม่ให้ผลผลิต 
นอกจากนี้สหภาพยุโรป (อียู) เห็นชอบ ข้อบังคับผลิตภัณฑ์ปลอดการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR)  ซึ่งจะประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 เป็นต้นไป ซึ่งจะเป็นผลให้ผู้ประกอบการยางล้อและผู้นำเข้าทุกรายในอียู หรือต้องการขายสินค้าในอียู ต้องใช้วัตถุดิบที่ไม่ทำลายป่า เพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว กยท.มีความพร้อมมากที่สุดเมื่อเทียบกับผู้ผลิตยางอื่นๆ หรืออาจเรียกได้ว่าไทยเป็นประเทศเดียวที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับยางพาราได้ทุกจุด 

เนื่องจากได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกร มีรายละเอียดจำนวนแปลงเพาะปลูกชัดเจน และขณะนี้อยู่ระหว่างออกรูปแปลง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีนี้  เพื่อจะสามารถนำไปตรวจสอบร่วมกับข้อมูลของกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม จะสามารถรับรู้ได้อย่างรวดเร็วว่าแปลงยางพาราของเกษตรกรรายใดที่อยู่ในพื้นที่ป่าสงวน  

กรณียางในพื้นที่ป่าสงวนที่มีประมาณ 10% หรือ 4 ล้านไร่ ของจำนวนพื้นที่ปลูกยางทั่วประเทศประมาณ 20-22 ล้านไร่ นั้นจะให้ผลผลิตประมาณ1 ล้านตันต่อปี ในจำนวนนี้จะนำมาใช้ในประเทศเท่านั้นจะไม่ส่งออก เพื่อตัดปัญหาเรื่อง EUDR โดยแต่ละปีไทยจะส่งออกยางที่ 4 ล้านตัน  

ทั้งนี้ ข้อกำหนดของอียูดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการยางล้อรายใหญ่ เช่น Bridgestone , Michelin , Yokohama , Dunlop , พีราลี่ , Continental , ซูมิโตโม , Goodyear  ต่างเข้ามาเจรจากับ กยท.และยินดีสนับสนุนให้ กยท.ผลิตยางระดับพรีเมี่ยมเหล่านี้ ถือว่ายางไทยได้ GI สามารถตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้าได้

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีความเป็นได้ที่โอกาสราคายางของไทยจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งต้องเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าจากชายแดน เพราะหากตัวเลขส่งออกกับผลผลิตไม่สอดคล้องกันจะทำให้ผู้ประกอบการผู้นำเข้าตั้งข้อสงสัยได้

อธิวีณ์ แดงกนิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง กยท.กล่าวว่า สำหรับประเทศผู้นำเข้าหลักยางพาราจากไทยปี 2561-2565 คือ จีนนำเข้ายางจากไทยมากที่สุด โดยในเดือน ม.ค.-ก.พ.2566 มีสัดส่วนมากถึง 55% รองลงมา คือ มาเลเซีย 13% ตามด้วยสหรัฐ 4% และญี่ปุ่นในปริมาณใกล้เคียงกัน โดยต้องติดตามการนำเข้ายางของสหรัฐต่อไป เนื่องจากยังอยู่เพียงช่วงไตรมาส 1 ของปี 2566 เท่านั้น ขณะที่เกาหลีใต้ นำเข้ายางจากไทยเพิ่มขึ้น 2 เท่า เมื่อเทียบปี 2562 เนื่องจากการเติบโตของอุตสาหกรรมผลิตยางล้อส่งออกไปสหรัฐ

ส่วนสถานการณ์ของประเทศผู้ปลูกยางสำคัญ พบว่า  อินโดนีเซีย เดือน ก.พ.2566 ปริมาณส่งออกยางลดลง 7% เทียบกับเดือนเดียวกันในปีผ่านมา เนื่องจากผลผลิตยางที่ลดลงเป็นผลจากราคายางที่ตกต่ำ  

มาเลเซีย เดือน ม.ค.2566 ผลผลิตยางลดลง 40% เมื่อเทียบจากเดือนเดียวกันในปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคายางตกต่ำและเกษตรกรหันไปปลูกปาล์มที่ราคาสูงกว่า  

เวียดนาม ตั้งแต่ปี 2557-2565 พื้นที่กรีดของเวียดนามเพิ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับการส่งออกยางของเวียดนามไปยังตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น แต่ในเดือน ก.พ.2566 ปริมาณส่งออกยางลดลง 3% เทียบกับเดือนเดียวกันในปีผ่านมา  

จีน พื้นที่มณฑลยูนนานมีผลผลิตยางน้อย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโรคราแป้ง อุณหภูมิสูง และปริมาณน้ำฝนที่น้อยลง 

ที่มา https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1067896


















12/05/2023