ขออนุมัติขยายระยะเวลาโครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ


คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอให้ขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (โครงการฯ) โดยทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 ดังนี้

เดิม [มติคณะรัฐมนตรี (29 มีนาคม 2559)]

อนุมัติให้ อก. ดำเนินโครงการฯ ในส่วนของการทดสอบเพื่อรองรับรายการมาตรฐานที่จะบังคับหรือที่ต้องดำเนินการตามพันธกรณีข้อตกลงอาเซียน จำนวน 21 รายการ โดยใช้รูปแบบเดียวกันกับการจัดหาเครื่องมือทดสอบสำหรับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมบังคับ คือ ให้เป็นการลงทุนเองของภาครัฐเฉพาะในส่วนนี้โดยมีวงเงินงบประมาณรวม 3,705.7 ล้านบาท ทั้งนี้ ให้ดำเนินการจนแล้วเสร็จในช่วงปี พ.ศ. 2559 - 2563

ขอทบทวนเป็น

อนุมัติให้ อก. ดำเนินโครงการฯ ในส่วนของการทดสอบเพื่อรองรับรายการมาตรฐานที่จะบังคับหรือที่ต้องดำเนินการตามพันธกรณีข้อตกลงอาเซียน จำนวน 21 รายการ โดยใช้รูปแบบเดียวกันกับการจัดหาเครื่องมือทดสอบสำหรับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมบังคับ คือ ให้เป็นการลงทุนเองของภาครัฐเฉพาะในส่วนนี้ โดยมีวงเงินงบประมาณรวม 3,705.7 ล้านบาท ทั้งนี้ ให้ดำเนินการจนแล้วเสร็จในช่วงปี พ.ศ. 2559 - 2567

สาระสำคัญของเรื่อง

อก. รายงานว่า
1. สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้ดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ โดยได้รับจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการตามโครงการฯ แล้วทั้งสิ้น 2,008.78 ล้านบาท (ซึ่งอยู่ภายในกรอบวงเงินเดิมที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้) สรุปผลการดำเนินโครงการฯ ได้ ดังนี้
รายการ

1) ระยะที่ 1 ส่วนทดสอบยางล้อ ตามมาตรฐาน UN R117ประกอบด้วย สนามทดสอบยางล้อ อาคารสำนักงาน และอาคารปฏิบัติการทดสอบยางล้อพร้อมระบบสาธารณูปโภคสำหรับใช้ในโครงการฯ ในระยะที่ 1

ผลการดำเนินการ

ได้มีการดำเนินการจัดทำแผนหลักการใช้พื้นที่ในภาพรวมทั้งโครงการ

ปรับพื้นที่ 200 ไร่ ออกแบบและก่อสร้างสนามทดสอบยางล้อ พร้อมทั้ง

ดำเนินการจัดซื้อและติดตั้งชุดเครื่องมือทดสอบยางล้อตามมาตรฐานUN R117 เสร็จแล้ว โดยได้เปิดให้บริการทดสอบแล้วตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2562

ในส่วนของอาคารสำนักงานและระบบสาธารณูปโภคสำหรับโครงการฯ ในระยะที่ 1 ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้ว โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
2) ระยะที่ 2 ส่วนทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วน ประกอบด้วยสนามสำหรับทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วน ได้แก่ สนามทดสอบสมรรถนะและความเร็ว สนามทดสอบระบบเบรก สนามทดสอบระบบเบรกมือ สนามทดสอบพลวัตและสนามทดสอบการยึดเกาะถนนขณะเข้าโค้ง และระบบสาธารณูปโภคสำหรับโครงการในระยะที่ 2

ผลการดำเนินการ

ได้ดำเนินการปรับพื้นที่ 700 ไร่ และออกแบบสนามสำหรับทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วนเสร็จแล้ว และได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างสนามทดสอบระบบเบรก สนามทดสอบระบบเบรกมือ สนามทดสอบพลวัตและสนามทดสอบการยึดเกาะถนนขณะเข้าโค้ง โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564

ได้ดำเนินการจัดซื้อชุดเครื่องมือทดสอบเข็มขัดนิรภัยสำหรับรถยนต์ตามมาตรฐาน UN R16* ชุดเครื่องมือทดสอบจุดยึดเข็มขัดนิรภัยตามมาตรฐาน UN R14* และชุดเครื่องมือทดสอบที่นั่ง จุดยึดที่นั่งและพนักพิงศีรษะสำหรับใช้ในยานยนต์ ตามมาตรฐาน UN R17* และตามมาตรฐาน UN R25* โดยคาดว่าจะติดตั้งและส่งมอบแล้วเสร็จในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564

การดำเนินการในส่วนที่เหลือ ได้แก่ การก่อสร้างสนามทดสอบสมรรถนะและความเร็ว พร้อมจัดหาชุดเครื่องมือทดสอบ จะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างและจัดหาได้เมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 1,575.22 ล้านบาท (เป็นงบประมาณก้อนสุดท้ายที่เหลือทั้งหมดของโครงการฯ ซึ่งได้จัดทำคำขอเสนอ สงป. ไปแล้ว โดยอยู่ภายในกรอบวงเงินเดิมที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้) โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

หมายเหตุ : * มาตรฐาน UN R16 คือ มาตรฐาน UNECE ที่เกี่ยวกับเข็มขัดนิรภัยสำหรับรถยนต์มาตรฐาน UN R14 เกี่ยวกับจุดยึดเข็มขัดนิรภัย มาตรฐาน UN R17 และ UN R25 เกี่ยวกับที่นั่ง จุดยึดที่นั่งและพนักพิงศีรษะ 2. เนื่องจากการดำเนินโครงการฯ ในระยะที่ 2 ยังไม่แล้วเสร็จ โดยจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างสนามทดสอบสมรรถนะและความเร็ว และการจัดหาชุดเครื่องมือทดสอบในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และใช้ระยะเวลาในการดำเนินโครงการฯ จนถึงปี 2567 จึงมีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาโครงการฯ ออกไปอีกจนถึงปี 2567 3. ประเทศไทยต้องเร่งดำเนินการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อรองรับการทดสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อ ภายใต้ข้อตกลงยอมรับร่วมผลการตรวจสอบและรับรองยานยนต์ของอาเซียน (ASEAN Mutual Recognition on Type Approval for Automotive Products) โดยประเทศสมาชิกจะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงภายในปี พ.ศ. 2565 ซึ่งหากไม่ได้รับการขยายระยะเวลาโครงการฯ อก. อาจไม่ได้รับการพิจารณาจัดสรรงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2565 ทำให้การดำเนินการดังกล่าวไม่แล้วเสร็จ และจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อ ในการส่งออกผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อในภูมิภาคอาเซียน (โดยที่ข้อตกลงดังกล่าวกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องที่ผ่านการตรวจสอบและรับรองจากห้องปฏิบัติการที่ได้ยอมรับจากประเทศสมาชิกแล้วไม่ต้องมีการตรวจซ้ำจากประเทศปลายทางที่เป็นประเทศสมาชิกซ้ำอีก ดังนั้น หากดำเนินการแล้วเสร็จ ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับล้อยาง ยานยนต์และชิ้นส่วน จะไม่ต้องมีการทดสอบและรับรองตามมาตรฐานต่าง ๆ จากประเทศปลายทาง และสามารถช่วยลดต้นทุนในการทดสอบและรับรองดังกล่าวได้)

ที่มา https://www.ryt9.com/s/cabt/3210684


















24/03/2021