สเปนปรับปรุงพระราชกฤษฎีกา เพื่อให้มีการนำยางล้อกลับไปใช้ใหม่หรือรีไซเคิล ช่วยการเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน


คณะรัฐมนตรีของประเทศสเปนได้รับรองพระราชกฤษฎีกา “ที่จะช่วยเร่งการเปลี่ยนผ่านยางล้อที่สิ้นสุดอายุการใช้งานไปสู่รูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน” ตามข้อเสนอของกระทรวงการเปลี่ยนผ่านทางนิเวศวิทยาและความท้าทายเชิงประชากรศาสตร์ (Ministry for the Ecological Transition and the Demographic Challenge (MITECO))

 โดยกฎหมายใหม่นี้ ได้ครอบคลุมยางล้อทั้งหมดที่มีขนาดใหญ่กว่า 1,400 มิลลิเมตร และจะไม่อนุญาตให้ฝังกลบยางล้อขนาดใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการอนุญาตมาจนถึงปัจจุบัน กฎหมายฉบับใหม่นี้ยังได้ให้ความสำคัญถึงการใช้ยางล้อซ้ำและยังได้กำหนดเงื่อนไขของยางล้อมือสองและยางล้อหล่อดอกสำหรับการขายครั้งต่อ ๆ ไป

ในทำนองเดียวกัน ในด้านมาตรฐาน ได้มีการกำหนดรายละเอียดของข้อมูลที่จะต้องแจ้งเกี่ยวกับยางล้อแก่ผู้บริโภค ซึ่งควรจะอยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์

มีการคาดว่าพระราชกฤษฎีกานี้จะส่งผลให้มีการควบคุมและการตรวจติดตามการบริหารจัดการยางล้อที่สิ้นอายุการใช้งานแล้วในวงกว้างขึ้น ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการเก็บสะสมยางล้อเก่า และในที่สุดจะช่วยทำให้การปกป้องสิ่งแวดล้อมดีขึ้น

มาตรฐานดังกล่าวระบุว่า ผู้ผลิตมีหน้าที่ที่ต้องบริหารจัดการยางล้อให้มากที่สุดเท่าที่จำเป็น จนกว่าจะนำมาเข้าสู่กระบวนการฟื้นสภาพอย่างสมบูรณ์ โดยรวมไปถึงการบริหารจัดการยางล้อในกรณีที่ขายเป็นยางล้อมือสองหรือผลิตภัณฑ์ยางล้อหล่อดอก อย่างไรก็ตาม พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวยังได้ขยายนิยามของผู้ผลิตยางล้อไปถึงผู้ผลิตที่ทำการหล่อดอกยางล้อในสเปนที่ใช้โครงยางที่นำเข้ามา และหมายรวมไปถึงผู้นำเข้ายางล้อมือสองหรือยางล้อรถ ซึ่งทำให้พวกเขาต้องขยายความรับผิดชอบเพื่อการบริหารจัดการยางล้อที่สิ้นสุดอายุการใช้งานด้วย

 ผู้ผลิตสามารถดำเนินการตามข้อกำหนดด้านการบริหารจัดการนี้ผ่านระบบการรับผิดชอบร่วม ซึ่งจะช่วยบริหารจัดการด้านการรวบรวมและการฟื้นสภาพยางล้อใช้งานแล้วในศูนย์การจัดการที่ได้รับอนุญาต (Authorised Treatment Centres (CAT)) หรือในสถานที่ลักษณะใกล้เคียง

ผู้ผลิตยางล้อทั้งหมดจะถูกบันทึกไว้ในระบบลงทะเบียนผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ (Product Producers Registry) ซึ่งผู้ผลิตยางล้อต้องระบุรายละเอียดของบริษัทเมื่อทำการลงทะเบียน และระบุข้อมูลที่ต้องรายงานในทุกปีในเรื่องปริมาณและประเภทของยางล้อที่บริษัทผู้ผลิตนำเข้าสู่ตลาดยางล้อทดแทนภายในประเทศ

นอกจากนี้ พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวยังบังคับถึง “กระบวนการสำหรับการเก็บรวบรวมยางล้อที่สิ้นอายุการใช้งานที่จุดรวบรวม” รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างจุดรวบรวมและผู้ผลิต ที่จะต้องจ่ายเงินเพื่อการรวบรวมและการจัดการยางล้อดังกล่าวเพื่อใช้ในการดำเนินงาน ข้อมูลทีได้จากการจัดการเศษยางล้อจะนำไปใช้เพื่อทำให้เกิดความโปร่งใสแก่ระบบบริหารจัดการสำหรับยางล้อที่สิ้นอายุการใช้งาน

ที่มา http://rubberjournalasia.com/spanish-decree-updated-to-recover-recycle-more-tyres-facilitate-circular-economy/



















13/11/2020