ยัน "แผ่นยางธรรมชาติ" สร้างความปลอดภัยบนถนน เชื่อทำราคายางพาราดีขึ้น


อธิบดีกรมทางหลวงชนบท ยืนยัน "แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต" และ "หลักนำทางยางธรรมชาติ RGP" สร้างความปลอดภัยบนท้องถนน ยันมีปริมาณรับซื้อจำนวนหลายแสนตัน ขณะที่ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เชื่อสร้าง "เสถียรภาพ" ราคายางพาราประเทศดีขึ้นได้

เมื่อวันที่ 22 ส.ค.63 นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จะมาเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการนำร่องการนำยางพารา มาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน (Kick Off) ในวันที่ 25 ส.ค.นี้ ว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือจากกระทรวงคมนาคม กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ซึ่งได้มีการศึกษาและวิจัยพบว่า มี 2 ผลิตภัณฑ์ที่มีความเหมาะสม และมีปริมาณยางพาราเป็นส่วนผสมจำนวนมาก สามารถลดความรุนแรงของการชนปะทะได้คือ "แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต" (Rubber Fender Barrier : RFB) และ "หลักนำทางยางธรรมชาติ" (Rubber Guide Post : RGP)

นายปฐม กล่าวต่อว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้นำคณะไปทดสอบความมั่นใจในด้านความปลอดภัยก่อนนำมาใช้งานจริง โดยได้ทำการทดสอบทั้งในประเทศไทยและประเทศเกาหลีใต้ โดยใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์วิ่งเข้าชน เพื่อวัดแรงปะทะที่เกิดขึ้น ผลการทดสอบพบว่า ผู้ขับขี่ได้รับค่าแรงกระแทกน้อยกว่าค่ามาตรฐาน สามารถลดอัตราความรุนแรงที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตได้เป็นอย่างมาก กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท จึงได้นำ "แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต RFB" และ "หลักนำทางยางธรรมชาติ RGP" มาเริ่มการใช้งานจริง 

"เมื่อครบกำหนด 3 ปี วัสดุยางพาราในปีที่ 1 จะเสื่อมสภาพ ดังนั้นตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป จะต้องมีการรับซื้อน้ำยางพาราเพื่อมาผลิต "แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต RFB" และ "หลักนำทางยางธรรมชาติ RGP" อย่างต่อเนื่องในทุกปี เท่ากับจะมีการตั้งงบประมาณ เพื่อซื้อน้ำยางพารา ปีละประมาณ 3.5 แสนตันในทุกๆ ปี"

ด้าน นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ภายหลังจากที่ได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกระทรวงคมนาคม ในโครงการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.63 แล้ว กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์เตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ได้แก่ ในปีที่ผ่านมามีสหกรณ์ที่มีสมาชิกเป็นเกษตรกรชาวสวนยาง จำนวน 807 แห่ง สมาชิก 223,155 ราย พื้นที่ปลูกยางพาราของสมาชิก 3.46 ล้านไร่ ให้ผลผลิตประมาณ 820,647 ตัน

จากการคาดการณ์ในระยะที่ 1 นี้ จะสามารถรวบรวมน้ำยางสดจากเกษตรกรได้ 34,481 ตัน คิดเป็นเงินที่เกษตรกรได้รับประมาณ 952 ล้านบาท เมื่อคิดตลอดโครงการฯ ถึงปีงบประมาณ 2565 จะรวบรวมน้ำยางสดจากเกษตรกรได้ 1.007 ล้านตัน คิดเป็นเงินที่เกษตรกรได้รับ 30,108 ล้านบาท อีกทั้งยังจะสร้างเสถียรภาพด้านราคายางพารา และสร้างความเชื่อมั่นในอาชีพแก่ชาวสวนยางพาราได้เป็นอย่างดี



















22/08/2020