กยท.ชงงบชดเชยยางเข้า ครม. 9 มิ.ย.นี้ เคาะจ่าย 2.7 หมื่นล้าน


นายประพันธ์ บุญยเกียรติ ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า กยท.เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 9 มิ.ย.นี้ เพื่อพิจารณาโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 ระยะเวลา 5 เดือน นับจากเดือน ส.ค.-ธ.ค.2563 วงเงินประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท ครอบคลุมการช่วยเหลือรายได้ให้กับชาวสวนยางจำนวน 1.8 ล้านราย ซึ่งมากกว่าโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 ที่มีอยู่ประมาณ 1.7 ล้านคน เพราะมีการลงทะเบียนเพิ่ม และรัฐบาลอนุมัติให้ชาวสวนที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ให้เข้าร่วมโครงการได้ จึงมีการลงทะเบียนเพิ่มจำนวนมาก

ทั้งนี้ จะนำโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 เสนอ ครม. เพื่อช่วยเหลือส่วนต่างราคายางพารา รายละไม่เกิน 25 ไร่กำหนดราคาอ้างอิง 6 เดือนย้อนหลัง เพื่อเป็นฐานในการจ่ายเงินส่วนต่างราคา โดยกำหนดราคาที่เกษตรกรชาวสวนยางพาราควรจะได้ ดังนี้ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาทต่อกิโลกรัม(ก.ก.) ,น้ำยางสด (DRC 100%) 57.00 บาทต่อก.ก. ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23.00 บาทต่อก.ก. แบ่งสัดส่วนรายได้ระหว่างเจ้าของสวน 60% และ คนกรีด 40% ของเงินที่ได้รับจาการชดเชยหรือการประกันรายได้ โดย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง

“วงเงินที่ขอชดเชยรายได้จะขอจากงบประมาณของรัฐบาล เพราะโครงการนี้เป็นโครงการตามนโยบายรัฐบาล ที่เคยประกาศไว้ว่าจะดูแลรายได้ให้ชาวสวน ให้ขายยางได้ในราคาไม่ต่ำกว่า 60 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนงบประมาณ ครั้งนี้ ไม่เกิน 3 หมื่นล้านบาท ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้โจทย์มา การใช้งบประมาณในเฟสที่ 2 ถือว่าใกล้เคียงเฟสที่ 1 เพราะ ขณะนี้ราคายางพาราปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้รัฐบาลจ่ายส่วนต่างน้อยลง”


รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ กยท.เตรียมทำโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 วงเงิน 42,000 ล้านบาท คณะกรรมการนโยบายยางแห่งชาติ (กนย.) หลังจากที่ผ่านมาตั้งไว้เบื้องต้นที่ 35,000 ล้านบาท แต่หลังเตรียมทำโครงการฯมีเกษตรกรแจ้งขึ้นทะเบียนในส่วนของเกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ หรือผู้ถือบัตรสีชมพูแจ้งขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับ กยท.เป็นจำนวนมากถึง 5.7 ล้านไร่ จากเดิมเมื่อรัฐบาลดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 มีเกษตรกรถือบัตรสีชมพูไม่ถึง 5 ล้านไร่

ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของจำนวนเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิและราคายางที่ตกต่ำลง จากราคาน้ำมันตกต่ำ และการระบาดของโควิด-19 ทำให้ตลาดไม่สามารถส่งออกได้ การผลิตจากทั่วโลกที่ต้องใช้ยางเป็นวัตถุดิบหยุดชะงัก ส่งผลให้ค่าธรรมเนียมในการส่งออก (เซส) 2 บาทต่อกิโลกรัม(ก.ก.) ในช่วงต.ค.2562-กลางเม.ย.2563 หรือประมาณ 7 เดือนเก็บได้วงเงิน 4,665 ล้านบาทซึ่งถือว่าใกล้เคียงปี 2562 ที่ทั้งปีเก็บเงินเซส 8,116 ล้านบาท



















05/06/2020