ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดโควิด-19 ซ้ำเติมราคายางพาราไทย มองกรอบปีนี้ 30-50 บ./กก. ชี้เป็นโจทย์ท้าทายภาครัฐ-เกษตรกรเร่งปรับตัว


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปี 2563 จะเป็นปัจจัยระยะสั้นที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างราคายางพาราในระยะยาว โดยเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของราคายางพาราในรูปแบบใหม่ที่อาจไม่มีวัฏจักรราคาอีกต่อไปในแง่ของความเป็นสินค้าโภคภัณฑ์เช่นในอดีต เนื่องจากจะเป็นการเคลื่อนไหวของราคาขึ้นลงในกรอบแคบๆ บนฐานของ New Normal ซึ่งเป็นช่วงราคาใหม่ที่ต่ำกว่าเดิมและยากแก่การที่จะมีราคากลับไปสูงขึ้นได้อีกเช่นในอดีต อันจะเป็นการซ้ำเติมราคายางพาราไทยให้ต้องเผชิญความยากลำบากและย่ำแย่ขึ้นไปอีก โดยคาดว่า การเคลื่อนไหวของราคายางพาราแผ่นดิบชั้น 3 ของไทยตั้งแต่ปี 2563 บนฐาน New Normal อาจเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบราว 30-50 บาทต่อกิโลกรัม

ทั้งนี้ แม้ไทยจะเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางพาราอันดับหนึ่งของโลก แต่ไทยก็ไม่สามารถกำหนดราคาเองได้ เนื่องจากยางพาราของไทยเป็นสินค้าที่ผลิตเพื่อส่งออกกว่าร้อยละ 80 และที่สำคัญคือยางพาราเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) จึงถูกกำหนดราคาจากอุปสงค์และอุปทานในตลาดโลก ทำให้ไทยต้องอยู่ในฐานะผู้ยอมรับราคา (Price Taker) อีกทั้งลักษณะสินค้าของยางพาราที่เป็นการแปรรูปอย่างง่ายและสินค้ามีความแตกต่างกันน้อย (Low Product Differentiation) ทำให้อุตสาหกรรมยางพาราของไทยเผชิญการแข่งขันสูง นับเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไทยได้เผชิญและต้องยอมรับความผันผวนของราคายางที่ถูกกำหนดมาจากตลาดโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากปัญหาเชิงโครงสร้างในการกำหนดราคายางพาราของไทยที่ต้องอิงกับตลาดโลก ทำให้สถานการณ์ราคายางพาราไทยที่เดิมก็ย่ำแย่อยู่แล้วจากการติดอยู่ในวัฎจักรราคาช่วงขาลง มองต่อมาในช่วงต้นปี 2563 ที่ไทยต้องมาเจอปัจจัยลบครั้งใหญ่ตอกย้ำให้สถานการณ์ราคายางพาราของไทยแย่ไปกว่าเดิมอีก จากการที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่แพร่กระจายเป็นวงกว้าง จนกระทั่งเมื่อ 11 มีนาคม 2563 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศเป็นภาวะการระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic) นับเป็น Shock ครั้งใหญ่ที่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกเป็นวงกว้าง และกระทบต่อเนื่องถึงอุตสาหกรรมยางพาราเป็น Double Shock ทั้งในฝั่งของอุปสงค์ (กำลังซื้อหาย โดยเฉพาะจีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป) และในฝั่งของอุปทาน (หยุดการผลิต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์) สะท้อนจาก ราคายางพาราแผ่นดิบชั้น 3 ของไทยในเดือนมีนาคม-เมษายน 2563 ที่ปรับตัวลดลงมาเฉลี่ยอยู่ที่ 36.8 และ 33.6 บาทต่อกิโลกรัม หรือลดลงร้อยละ 5.3 และ 8.7 (MoM) ตามลำดับ สวนทางกับปัจจัยด้านฤดูกาลที่ปกติราคาจะขึ้นในช่วงนี้ที่เป็นฤดูปิดกรีดยางซึ่งมีผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนน้อย (ราวร้อยละ 5.1 ของผลผลิตยางพาราทั้งปี) นับว่าวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ได้ส่งสัญญาณในการเริ่มต้นการเคลื่อนไหวของราคายางพารารูปแบบใหม่ในระยะต่อไป โดยที่วัฏจักรราคาขาลงรอบเก่าในช่วงปี 2555-2562 ได้สิ้นสุดลงไปด้วย

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปี 2563 จะเป็นปัจจัยระยะสั้นที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างราคายางพาราในระยะยาว โดยเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของราคายางพาราในรูปแบบใหม่ที่อาจไม่มีวัฏจักรราคาอีกต่อไปในแง่ของความเป็นสินค้าโภคภัณฑ์เช่นในอดีต เนื่องจากจะเป็นการเคลื่อนไหวของราคาขึ้นลงในกรอบแคบๆ บนฐานของ New Normal ซึ่งเป็นช่วงราคาใหม่ที่ต่ำกว่าเดิม และยากแก่การที่จะมีราคากลับไปสูงขึ้นได้อีกเช่นในอดีต อันจะเป็นการซ้ำเติมราคายางพาราไทยให้ต้องเผชิญความยากลำบากและย่ำแย่ขึ้นไปอีก

ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของราคายางพาราในรูปแบบใหม่ จะเป็นการเคลื่อนไหวขึ้นลงผันผวนในกรอบแคบ (ไม่ผันผวนมากดังเช่นวัฏจักรในอดีต) สอดคล้องไปกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่น่าจะเติบโตไปอย่างช้าๆ บนฐานของ New Normal ด้วยเหมือนกัน

สำหรับผลจากการที่สถานการณ์โควิด-19 (ปัจจัยระยะสั้น) มาเปลี่ยนโครงสร้างราคายางพาราไปสู่ New Normal (ปัจจัยระยะยาว) หรือสิ่งที่จะเห็นในระยะยาวหลังจบโควิด-19 ที่มีต่อโครงสร้างราคายางพารา คือ การทวนกระแสของโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) จะมีความเข้มข้นมากขึ้น ทำให้การค้าระหว่างประเทศลดลงเรื่อยๆ เพราะทุกประเทศจะเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจ (Policy Shift) จากส่งออกเป็นเติบโตในประเทศ ดังนั้น ประเทศต่างๆ จะอาศัยการบริโภคและการลงทุนในประเทศเป็นเครื่องจักรสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเห็นผลกระทบที่ชัดเจนต่อภาคการส่งออกจากผลของการปิดเมืองในหลายประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ท้ายที่สุด อาจกระทบต่อการส่งออกยางพาราของไทยให้ลดลงในระยะยาว และจากการทวนกระแสของโลกาภิวัตน์นี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเคลื่อนไหวของราคายางพาราขึ้นลงในกรอบแคบๆ เศรษฐกิจโลกซบเซา คาดว่า โดวิด-19 จะฉุดภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปี 2563 ให้เข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรงที่สุดในรอบศตวรรษ สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้างทั่วโลก จนทำให้หลายฝ่ายคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเกิด New Normal ในระยะยาว ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจโลกอาจได้รับผลพวงจากโควิด-19 อย่างหนักในช่วงปี 2563-2565 และหลังจากนั้น เศรษฐกิจโลกอาจฟื้นตัวขึ้นและสามารถเดินเครื่องต่อได้โดยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้าๆ ส่งผลต่อความต้องการบริโภคสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีแนวโน้มลดลง ซึ่งอาจกระทบการส่งออกยางพาราไทย และกดดันราคายางให้เคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำในกรอบแคบๆ บนฐาน New Normal ที่คาดการณ์นี้ ตลาดรถยนต์โลกหดตัว โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญของโลก โดยคาดว่า จำนวนยอดขายรถยนต์ของจีน ปี 2563 อาจหดตัวราวร้อยละ 5.0 จากวิกฤติโควิด-19 ที่มีการจำกัดการเดินทางของผู้คน รวมถึงมาตรการกักกันโรค นอกจากนี้ จากแนวโน้มเศรษฐกิจจีนที่จะเกิด New Normal ขึ้นในระยะยาว จะส่งผลต่อความต้องการใช้ยางพาราเพื่อผลิตยางล้อให้ลดลงด้วย ประกอบกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีของยางล้ออย่างต่อเนื่องจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการใช้ยางธรรมชาติที่ลดลงในระยะยาว เช่น ยางไร้ลม ที่ไม่ต้องเติมลมตลอดอายุการใช้งาน ไม่รั่ว ไม่แตก รวมถึงเทคโนโลยียางล้อเพื่อรถยนต์ระบบไฟฟ้า ที่มีการสึกหรอน้อยกว่ายางล้อรถยนต์ทั่วไป ล้วนเป็นปัจจัยทำให้ไม่ต้องมีการเปลี่ยนยางบ่อย ท้ายที่สุด การพัฒนาด้านเทคโนโลยี/นวัตกรรมยางล้อ (สอดคล้องไปกับการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ของจีนที่จะทำให้เกิดการลงทุนและพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีในประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในระยะยาว) จะทำให้ความต้องการใช้ยางพาราลดลง และกดดันการส่งออกยางพาราไทยให้ลดลงตามไปด้วยในระยะยาว ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทรงตัวในระดับต่ำ จากทิศทางราคาน้ำมันดิบโลกที่ร่วงลงมาอยู่ในระดับ 20-30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในเดือนมีนาคม 2563 จากเดิมที่เคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 50-75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปี 2562 เนื่องจากการปรับลดราคาน้ำมันดิบของซาอุดีอาระเบีย และอุปสงค์การใช้น้ำมันโลกที่ลดลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับความไม่แน่นอนของการทำสงครามราคาน้ำมันระหว่างซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย ทำให้คาดว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในระยะยาว น่าจะยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ท้ายที่สุด อาจกระทบต่อมูลค่าการส่งออกสินค้า ที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันดิบอย่างยางพาราให้มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำเช่นกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้น นับเป็นโจทย์ท้าทายของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในส่วนของภาครัฐในการประคับประคองราคายางพาราผ่านมาตรการต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วยเหลือชาวสวนยางทั้งในระยะสั้น เช่น โครงการประกันรายได้ยางพาราที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ รวมถึงเงินให้เปล่าเพื่อเยียวยาเกษตรกรจากผลกระทบของโควิด-19 และระยะยาว เช่น การควบคุมอุปทานยางพาราในประเทศเพื่อให้สมดุลกับความต้องการใช้ เน้นเพิ่มผลผลิตต่อไร่ การลดต้นทุนการผลิต การส่งเสริมการใช้ยางในประเทศเพื่อลดการส่งออกในสัดส่วนที่สูง

นอกจากนี้ ภาครัฐคงต้องมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงที่ยังไม่มีรายได้จากการเปลี่ยนไปปลูกพืชใหม่ที่ให้ผลตอบแทนสูงแล้วผลผลิตยังไม่ออก ผ่านเงินให้เปล่าที่มากกว่าเดิมจากที่รัฐบาลเคยดำเนินการมาแล้วเพื่อจูงใจให้เลิกปลูกยาง โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีนี้ ที่น่าจะเห็นภาพของการทยอยโค่นต้นยางมากขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ต้นยางสามารถโค่นได้แล้วเพราะมีอายุมากกว่า 15 ปี ประกอบกับน่าจะเป็นช่วงที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างรุนแรง แม้เกษตรกรจะมีรายได้ส่วนหนึ่งมาจากการขายไม้ยางเพื่อใช้ในการดำรงชีพบ้างแล้วก็ตาม จึงนับเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการลดพื้นที่ปลูกยางโดยที่ภาครัฐอาจไม่ต้องใช้งบประมาณมากนัก (ต้นทุนค่าแรงงานคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 56 ของต้นทุนการผลิตรวม) รวมถึงสนับสนุนการดำเนินการในรูปแบบสหกรณ์ที่เข้มแข็งอย่างจริงจัง อีกทั้งในแง่ของการระดมทุนจากภาคเอกชนในรูปแบบของเงินกองทุนหรือมูลนิธิต่างๆ ก็นับเป็นตัวช่วยที่ดีในการเร่งเปลี่ยนผ่านให้เกษตรกรไปปลูกพืชอื่นทดแทนยางพาราเร็วขึ้น


นอกจากนี้ ภาครัฐต้องมุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ จนสามารถเลือกทำการเกษตรที่มีผลิตภาพและผลตอบแทนสูงมากขึ้น ด้วยการส่งเสริมการใช้ข้อมูล เทคโนโลยี และการตลาดที่ยั่งยืน เช่น Sharing Economy ผ่านการส่งเสริมตลาดเช่าซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร การส่งเสริมตลาดประกันภัยพืชผล/ตลาดซื้อขายผลผลิตล่วงหน้าที่ยั่งยืน เพื่อให้เกษตรกรได้มีเครื่องมือบริหารความเสี่ยงมากขึ้น อีกทั้งการรณรงค์ให้ปลูกยางพาราแบบผสมผสานอย่างจริงจัง การส่งเสริมให้เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์ที่ดินมากขึ้น และการเข้าถึงทรัพยากรน้ำที่เพิ่มขึ้น จะช่วยให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงต่างๆ ได้เองอย่างมีประสิทธิภาพ


สำหรับในส่วนของเกษตรกรชาวสวนยางอาจต้องปรับตัวด้วยการปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าหรือปลูกพืชแซมในสวนยาง และควรหารายได้เสริมอื่นควบคู่ไปด้วย นอกจากนี้ การสร้างนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพารานับเป็นสิ่งสำคัญ โดยสอดคล้องไปกับการผลักดันศูนย์กลางการผลิตสินค้านวัตกรรมเกี่ยวกับยางพาราครบวงจร (Rubber Valley) เช่น แผ่นยางปูพื้น ถุงมือผ้าเคลือบยาง ชุดวัสดุป้องกันการเซาะตลิ่งจากธรรมชาติ ที่นอนและหมอนยางพารา เครื่องขึ้นรูปแผ่นเสริมรองเท้าเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากยางพารา เป็นต้น จะช่วยให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงทดแทนการส่งออกยางพาราขั้นต้น อันจะช่วยให้ราคายางพาราไทยมีเสถียรภาพมากขึ้นในระยะยาว

อย่างไรก็ดี แม้วิกฤติโควิด-19 จะส่งผลเชิงลบต่อราคายางพาราไทย แต่หากมองในแง่ของผลกระทบเชิงบวกก็มีอยู่บ้าง โดยเฉพาะหลังโควิด-19 สิ้นสุดลง จะทำให้พฤติกรรมของคนส่วนใหญ่เปลี่ยนแปลงไป ด้วยการหันมาตระหนักต่อโรคระบาดมากขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อความต้องการใช้ถุงมือยางที่ใช้ยางธรรมชาติเป็นวัตถุดิบมากขึ้นในอนาคต สำหรับถุงมือยางใช้ทางการแพทย์ รวมถึงใช้ในอุตสาหกรรมที่ต้องการความปลอดภัยเพราะเป็นเรื่องสุขอนามัย เช่น โรงแรม ร้านอาหาร สายการบิน หรือบริษัททั่วไป โดยคาดว่า ในปี 2568 มูลค่าตลาดถุงมือยางพาราของโลกจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 8,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยต่อปีในช่วงปี 2562-2568 อยู่ที่ร้อยละ 8.2 (YoY) นับเป็นโอกาสของน้ำยางข้นไทย เพื่อส่งออกไปยังตลาดโลกโดยเฉพาะจีน และมาเลเซีย เพื่อผลิตถุงมือยาง ขณะเดียวกันในส่วนของอุตสาหกรรมถุงมือยางของไทยเอง ก็คงต้องเร่งยกระดับประสิทธิภาพการผลิตถุงมือยางไทยให้มีศักยภาพแข่งขันกับมาเลเซียได้

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/iq03/3121000



















05/05/2020