ต้นยางพาราที่ดัดแปลงพันธุกรรมของ MRB อาจมีความสามารถด้านการต้านไข้เลือดออกในน้ำยางพารา


แทนที่จะจำกัดการใช้งานต้นยางพาราอยู่เพียงในการผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 หรือการผลิตยางล้อ แต่คณะกรรมการยางแห่งมาเลเซีย (Malaysian Rubber Board: MRB) หาแนวทางจะผลิตซีรั่มน้ำยางจากต้นยางพาราที่ถูกตัดต่อพันธุกรรมภายในประเทศ ซึ่งอาจจะพัฒนาไปเป็นวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกที่ราคาถูกได้ต่อไป ไข้เลือดออกเป็นโรคที่มีผู้ติดเชื้อเกือบ 400 ล้านคนทั่วโลกในแต่ละปี และเป็นโรคติดต่อที่แพร่หลายที่สุดของมาเลเซีย ในขณะที่วัคซีนในประเทศจะช่วยขจัดการติดเชื้อให้หายไปได้อย่างมาก แต่การค้นพบยังจะเป็นการ “ทำให้ MRB และมาเลเซีย มีจุดยืนที่โดดเด่นในภูมิทัศน์ด้านเภสัชกรรมของโลก”

คุณสมบัติการต่อต้านโรคไข้เลือดออกนี้ถูกค้นพบโดย ดร. E. Sunderasan นักวิทยาศาสตร์หลักของ MRB ผู้เคยทำงานเกี่ยวกับสารเคมีที่ต้านมะเร็งจากเซรั่มน้ำยางพาราที่สกัดจากต้นยางพาราแบบดั้งเดิม โดยเซรั่มน้ำยางพารานี้ แม้พบว่าไม่เป็นที่นิยมในการใช้เป็นยาต้านมะเร็ง แต่ ดร. Sunderasan คิดว่าจะใช้กับไวรัสอื่น ๆ โดยมองถึงความชุกชุมของโรคไข้เลือดออกในประเทศบ้านเกิดของตน

ดร. Sunderasan ได้ทำงานอย่างลงลึกเกี่ยวกับโปรตีนในน้ำยางพารา และอธิบายว่า “ผลการทดสอบแสดงให้เห็นว่า โปรตีนจากเซรั่มน้ำยางพาราสามารถขจัดประชากรไวรัสไข้เลือดออกออกไปได้ในระหว่างระยะก่อนการติดเชื้อ (pre-infection stage) นอกจากนี้ พวกเรายังค้นพบว่า เซรั่มนี้ป้องกันไวรัสไม่ให้แทรกสารพันธุกรรมลงไปในเซลล์ของเจ้าบ้าน (host) และไม่สามาระทำให้เซลล์เจ้าบ้านติดเชื้อได้ด้วย” เขากล่าว “นี้เป็นหมุดหมายที่สำคัญ ด้วยยังเหลือแต่ทำการทดสอบขั้นสุดท้ายในขั้นก่อนคลินิก (preclinical stage) ของการพัฒนายา เพื่อที่จะดูว่าส่วนของโปรตีนนี้สามารถทำลายไวรัสที่อยู่ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตที่ยังมีชีวิตได้”

ในตอนนี้ ดร. Sunderasan ได้สมัครขอรับทุน 300,000 ริงกิตมาเลเซีย (ประมาณ 68,700 เหรียญสหรัฐ) จาก MRB เพื่อทำการทดลองแบบ in-vivo ในสิ่งมีชีวิตที่ยังมีชีวิต

ดร. Amir Hashim Md. Yatim รองเลขาธิการของ MRB กล่าวว่า การพัฒนาวัคซีนภายในประเทศจะมีอิทธิพลอย่างมากต่อความสามารถของมาเลเซียในการต่อสู้กับโรคที่เฉพาะถิ่นในประเทศ “นี่จะหมายความว่า พวกเรามีห่านทองคำอยู่ในมือ พวกเรามีผลงานนวัตกรรมที่สำเร็จมากมายในระดับโลกที่ยังซุกซ่อนอยู่ แต่นี่จะเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของ MRB”

มาเลเซียปลูกต้นยางพาราที่ตัดต่อพันธุกรรมตั้งแต่ปี 2012 ต้นที่โตเต็มที่สามารถผลิตสารเคมี “มูลค่าสูง ปริมาณน้อย” ด้วยหน่วยงานด้านเภสัชกรรมชั้นนำ หน่วยงานด้าน R&D ของรัฐได้ประสบความสำเร็จในการสร้างต้นยางพาราที่ตัดต่อพันธุกรรมให้มียีนที่มีคุณสมบัติทางเภสัชกรรมที่สำคัญ 3 ยีน ในน้ำยางพารา คือ ฮอร์โมนเปปไทด์ที่สามารถลดความดันเลือด เปปไทด์ที่มีคุณสมบัติด้านการจับตัวของเลือด และแอนติบอดี้ที่มีการปรับแต่งซึ่งทำปฏิกิริยากับแบคทีเรียที่ทำให้เกิดฟันผุ

ดร. Amir กล่าวเสริมว่า ต้นยางพาราที่ปรับแต่งพันธุกรรม ซึ่งเค้าได้อธิบายว่าเป็นขุมทรัพย์ของ MRB กับพืชที่ปรับแต่งพันธุกรรมอื่น ๆ อยู่ภายใต้กฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพ อาทิ การให้สิทธิ 20 ปี จากคณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพแห่งชาติ ต้นไม้เหล่านั้นจะปลูกในแปลงที่มีการควบคุมและมีการรักษาความปลอดภัยสำหรับวัตถุประสงค์การวิจัยและพัฒนาของ MRB

 

ที่มา http://rubberjournalasia.com/mrbs-transgenic-rubber-trees-may-hold-anti-dengue-capabilities-in-its-latex/



















01/05/2020