ยางผง...!! เติมฝันยางพาราไทย


แต่ไหนแต่ไรมา “ขี้ยางพารา” แทบไม่มีค่า ราคาต่ำเตี้ย ติดดิน เพราะแทบเอาไปใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ อย่างดีก็แค่เอาไปผสมสีดำขายเป็นวัตถุดิบทำเป็นยางคอมปาวด์ เอาไปแปรรูปเป็นรองแท่นเครื่องจักร

วันนี้ขี้ยางพาราจะไม่ขี้เหร่อีกต่อไปเพราะ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ค้นพบวิธีการนำขี้ยางมาแปรรูปเป็น “ยางผง” หรือที่เรียกว่า Para aktive ใช้เป็นส่วนผสมในการทำถนนแอสฟัลต์

“ก่อนหน้านี้การนำยางพาราไปทำถนนแอสฟัลต์ เราจะใช้น้ำยางสด หรือน้ำยางข้นไปผสม กับยางมะตอยในเครื่องผสมแล้วนำมาเทราดถนนก่อนจะบดอัด แต่มีปัญหาผสมต้องทำให้น้ำในยางพาราระเหยออกไป ใช้ระยะเวลานานเกิน บางครั้งการบดอัดระหว่างฝนตกยิ่งทำให้การระเหยของน้ำในยางล่าช้าออกไปอีก นอกจากนั้นการขนส่งน้ำยางไปยังพื้นที่ก่อสร้างยังยุ่งยาก และอาจจะเกิดการรั่วไหลเป็นอันตรายต่อผู้สัญจรไปมาบนถนน เลยทำให้ผู้รับเหมาไม่นิยมทำกัน”

างณพรัตน์ วิชิตชลชัย รองผู้ว่าการฯ กยท. ด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง เผยถึง ที่มาของนวัตกรรมใหม่อันก่อให้เกิด “ยางผงจากขี้ยาง”...ที่เริ่มจากทีมวิจัยคิดหาวัตถุดิบยางพาราตัวใหม่มาใช้แทนน้ำยางสด เพื่อสะดวกทั้งในการใช้งาน การขนส่ง รวมทั้งสามารถทำถนนได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะมีฝนตกลงมาก็ตาม

“โดยนำขี้ยาง หรือเศษยางเบอร์ 5 มาผสมกับยางมะตอย ในอัตราขี้ยาง 70% ยางมะตอย 25% และสารเคมีอีก 5% แล้วใช้เครื่องจักรแบบกวนผสม ให้เข้ากัน จากนั้นนำมารีดให้เป็นแผ่นๆ ใส่เครื่องบดละเอียด (ไกรดิ้ง) ให้กลายออกมาเป็นผง บรรจุถุงขนย้ายไปทำถนนแอสฟัลต์ในพื้นที่ได้ ถนนกว้าง 5 ม. ยาว 1 กม. จะใช้ขี้ยาง 3 ตัน ได้ถนนมีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานของกรมทางหลวงทุกประการ”

นางณพรัตน์ เผยถึงข้อดีของการใช้ยางผง...ในช่วงระหว่างการผสมไม่ต้องกลัวจะเกิดแรงดันสูง จนเกิดการระเบิดในเครื่องผสมเหมือนการใช้น้ำยางสด ไม่มีกลิ่นฉุน ใช้งานง่าย ลดค่าขนส่งเมื่อใช้ในปริมาณมาก ลดค่าใช้จ่ายในการผสม ซึ่งได้รับความสนใจจากหลายประเทศ

เห็นได้จาก มร.ยูซูฟ บิน อลาวีบิน อับดุลลาห์ รัฐมนตรีรับผิดชอบด้านการต่างประเทศรัฐสุลต่านโอมาน ให้ความสนใจได้เดินทางมาชมนวัตกรรมและเทคโนโลยีการนำยางผงมาทำถนนเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

เนื่องจากโอมานมีสภาพภูมิประเทศเป็นทะเลทราย มีอากาศร้อน ประสบปัญหาการเกิดร่องล้อบนถนนยางมะตอยเป็นจำนวนมาก

ในขณะที่ถนนแอสฟัลต์ผสมผงยางพารามีความโดดเด่นในเรื่องคุณสมบัติการทนความร้อนได้มากกว่าถนนยางมะตอยปกติ มีค่าความยืดหยุ่นและคืนตัวดีกว่า มีความฝืด ที่ช่วยลดการลื่นไถลของยานพาหนะ และอายุการใช้งานที่ยาวนานทำให้เหมาะสมกับประเทศในเขตร้อน เช่น โอมาน

นางณพรัตน์ เผยอีกว่า ขณะนี้ กยท.ได้เตรียมเจรจาเปิดตลาดยางผง และเทคโนโลยีการผสมผงยางพาราทำถนนให้กับประเทศในตะวันออกกลาง ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าและเพิ่มช่องทางการตลาดในการใช้ยางมากขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน

และนอกจากนี้ กยท.ยังเตรียมที่จะนำยางก้อนถ้วยมาแปรรูปเป็นยางผง เพื่อพัฒนาไปใช้ทำบาทวิถี, ลานอเนกประสงค์, เสาหลักกั้นถนน, เสาหลัก กม., เสาหลัก กม.ย่อย ที่มีความยืดหยุ่น ทนทานกว่าหลักซีเมนต์ และสามารถลดความรุนแรงของการเกิดอุบัติเหตุได้ดีกว่า.

ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/local/1551235



















24/04/2019