น้ำยาง ParaFIT เพิ่มมูลค่ายางพาราไทย


นวัตกรรมน้ำยาง ParaFIT (พาราฟิต) จากนักวิจัยเอ็มเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทำให้ได้วัตถุดิบหลักในการแปรรูปสู่ผลิตภัณฑ์ทั้งผลิตหมอนและที่นอนยางพาราที่มีคุณภาพ โดยสามารถทดแทนการใช้น้ำยางพาราข้น ส่งผลดีต่อการบ่มน้ำยางก่อนนำไปใช้งานเหลือเพียง 3 วัน ส่วนยางพาราข้นต้องใช้เวลาบ่มนานถึง 21 วัน ถือเป็นนวัตกรรมที่ช่วยตอบโจทย์ผู้ผลิตสินค้าแปรรูปจากยางพาราและเป็นนวัตกรรมระดับประเทศ

“ปิยะดา สุวรรณดิษฐากุล” ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. เปิดเผยว่า กลุ่มทำยางเอ็มเทค สวทช. ได้มีการทำวิจัยยางและการรักษาสภาพน้ำยางมาเป็นระยะเวลาร่วม 20 ปีแล้ว และล่าสุดได้พัฒนานวัตกรรม “น้ำยาง ParaFIT (พาราฟิต)” น้ำยางพาราข้นชนิดใหม่สำหรับการผลิตหมอนและที่นอนยางพาราโดยเฉพาะ ถือเป็นนวัตกรรมที่ยังไม่เคยมีมาก่อนในไทย

ที่ผ่านมาเกษตรกรไทยเมื่อมีการกรีดน้ำยางพาราสดสู่น้ำยางข้นจะต้องใช้ระยะเวลาในการบ่มนานร่วม 21 วันกว่าจะได้น้ำยางข้น แต่เมื่อมีงานวิจัยของเอ็มเทค สวทช. ทำให้ภาคเกษตรสามารถได้น้ำยางข้นในเวลาเพียง 3 วัน หรือ “น้ำยาง ParaFIT” พร้อมนำไปพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ได้อย่างสะดวก ทั้งโฟมยางและหมอนยางพารา พร้อมกับทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีทั้งความเหนียวและความนุ่มมากกว่ายางทั่วไป รวมถึงมีกลิ่นแอมโมเนียต่ำ

ขณะเดียวกันการทำให้ได้น้ำยางข้นในวลาที่รวดเร็วและพร้อมนำไปแปรรูปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ ทำให้ช่วยลดความเสี่ยงในการผลิตสินค้าและช่วยป้องกันปัญหาน้ำยางเน่าเสียหายได้ พร้อมกับช่วยเหลือเกษตรกรในการลดต้นทุน การสต๊อกสินค้าได้อย่างมาก ถือว่างานวิจัยจะเข้ามาร่วมส่งเสริมภาคเกษตรในขั้นตอนการผลิตที่เป็นกลางน้ำ

สำหรับการพัฒนา “น้ำยาง ParaFIT” เกิดขึ้นมาจากการที่ก่อนหน้านี้ นักวิจัยเอ็มเทคได้ลงพื้นที่สหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหา อ.ควนขนุน จ.พัทลุง โดยเป็นสหกรณ์ผลิตหมอนและที่นอนยางพารา โดยใช้ชื่อสินค้าว่า “หมอนและที่นอนเปี่ยมสุข” ซึ่งพบปัญหาของสกรณ์ในการผลิตทั้งน้ำยางข้นและขั้นตอนที่ต้องสต๊อกวัตถุดิบการเตรียมน้ำยางข้น ทำให้ได้เข้าไปทำงานวิจัยและพัฒนาสู่น้ำยาง พาราฟิต

ในช่วงที่ผ่านมาได้ร่วมทดสอบกับสหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหามาเป็นระยะเวลา 1 ปีแล้ว พร้อมกันนี้กำลังพิจารณาแผนที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่สหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหา ถือว่าเป็นสหกรณ์ที่มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่งและมีการสร้างผลิตภัณฑ์ อีกทั้งที่ผ่านมาได้มีการลงทุนในการทำเครื่องจักรในการผลิตสินค้าเอง พร้อมกับขยายตลาดและสร้างหากลุ่มลูกค้าใหม่อย่างต่อเนื่อง

สหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหาเตรียมนำผลิตภัณฑ์มาร่วมนำเสนอ ที่ใช้น้ำยาง ParaFIT ผลิตหมอนและที่นอนยางพารา โดยใช้ชื่อสินค้าว่า “หมอนและที่นอนเปี่ยมสุข” ได้แก่ หมอนหนุนนุ่มสบาย หมอนข้างเพื่อนกายคุณ และหมอนรองคอสุขใจ เป็นต้น ในงานประชุมวิชาการประจำปี ครั้งที่ 15 (NAC2019) กำหนดจัดระหว่างวันที่ 25-28 มี.ค. 2562 ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จัดโดย สวทช. พร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์ในราคาพิเศษ

“ปิยะดา” กล่าวว่า ทีมวิจัยเอ็มเทค สวทช. มีแผนจะพัฒนางานวิจัยน้ำยาง อย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมส่งเสริมภาคเกษตรกรไทยผู้ผลิตยางพารา โดยเฉพาะการผลิตกลางน้ำ พร้อมกับร่วมผลักดันเกษตรกรไทย ภาคเอกชน ขยายสู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์ใหม่จากยางพาราที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นและมีความแตกต่าง เห็นได้จากการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่หมอนยางพารา สามารถสร้างราคาผลิตภัณฑ์ได้ตั้งแต่ 300-400 บาท จนถึงราคาระดับบน (พรีเมียม) 700 บาท เป็นต้น

ยางพาราไทยถือว่ามีคุณภาพสูงระดับโลก ทำให้หลายแบรนด์เลือกใช้ยางพาราจากไทย อีกทั้งเอ็มเทคพร้อมร่วมถ่ายทอดงานวิจัยดังกล่าวไปให้แก่วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร กลุ่มบุคคล และบุคคลทั่วไป ที่มีความสนใจต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในอนาคต

ที่มา : https://www.posttoday.com/market/news/583217?fbclid=IwAR1Hv2OiVK7O4j6cb8NteztBkgfkAh5H7AuAsGmbxb-dIYxUlQ27_7z1WRQ



















14/03/2019