กยท. ขู่ ผู้ส่งออกยางต้องรายงานปริมาณซื้อ-ขายทุกเดือน ไม่งั้นเจอโทษอาญา


นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ กระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศให้ผู้ส่งออกยางพารา รายงานปริมาณการซื้อขายยางในแต่ละเดือน เนื่องจากยางพาราเป็นสินค้าและบริการควบคุม ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมีบทบัญญัติกำหนดห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการใดๆ โดยจงใจ ที่จะทำให้ราคาสินค้าและบริการต่ำเกินสมควร หรือทำให้เกิดความปั่นป่วน ซึ่งราคาสินค้าและบริการนั้น ผู้ใดฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามประกาศของคณะกรรมการฯ ต้องระวางโทษทางอาญา

ดังนั้น จึงขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบกิจการยางพารา ได้รับทราบและขอความร่วมมือให้ซื้อยางพาราจากเกษตรกรชาวสวนยางในราคาที่เป็นธรรม

“การรายงานของผู้ส่งออกนี้จะเป็นกลุ่มที่ซื้อขายยางตั้งแต่ 5,000 ตันต่อเดือน ซึ่งเป็นปริมาณมากพอจะนำมาวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของราคา ว่าขึ้นลงผิดปกติหรือไม่ ปริมาณออกสู่ตลาดเท่าไร เพื่อที่กยท. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะวางแผนรับมือสถานการณ์ได้อย่างทันถ่วงที โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือนก.พ. นี้ เป็นต้นไป”

รายงานจากกยท. แจ้งว่า ในช่วงนี้ราคายางในตลาดจีนหยุดการเคลื่อนไหวเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยราคายางของไทย ประเภทยางแผ่นดิบอยู่ที่ 44.13 บาทต่อกก. ยางแผ่นรมควันอยู่ที่ 47.15 บาทต่อก.ก. ส่วนราคาประมูล ณ ตลาดกลางยางพารา ราคายางแผ่นดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 43.52 บาทต่อก.ก. แผ่นรมควันเฉลี่ยอยู่ที่ 45.28 บาทต่อก.ก.

ราคายางปรับตัวตามตลาดล่วงหน้าต่างประเทศ โดยมีปัจจัยสนับสนุนราคายางจากราคาน้ำมัน มีเสถียรภาพมากขึ้นหลังจากมีแนวโน้มลดต่ำลงในช่วงก่อนหน้านี้ โดยมีสาเหตุมาจากมาตรการคว่ำบาตรประเทศเวเนซุเอลาโดยสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ราคายางได้รับปัจจัยกดดันปัญหาสงครามทางการค้า ระหว่างสหรัฐและจีนที่ยังคงมีความตึงเครียดอยู่ ถึงแม้ว่าจะลดลงบ้างแล้วก็ตาม ล่าสุดผลกระทบจากปัญหาสงครามทางการค้าได้ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต ทำให้กำไรการจากภาคอุตสาหกรรมการผลิต ของจีนลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน

อีกทั้งสหรัฐได้ตอบโต้ รัฐบาลจีนด้วยการตั้งข้อกล่าวหาบริษัท หัวเหว่ย เทคโนโลยี จำนวน 20 ข้อหา ทำให้นักลงทุนมีความกังวลจากปัญหาสงครามทางการค้าและมาตรการที่สหรัฐ ใช้ตอบโต้รัฐบาลจีนส่งผลให้ชะลอการซื้อยางพารา เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต อีกทั้งเงินบาทยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับดอลลาร์ และปริมาณยางเข้าสู่ตลาดมากทำให้ผู้ส่งออกไม่เร่งซื้อยางเพื่อการส่งออกในช่วงนี้

ที่มา : https://www.khaosod.co.th/economics/news_2173770



















06/02/2019