มาตรการใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้นของรัฐ ดันราคา “ยางพารา” ขยับขึ้นวันละบาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (18 ธันวาคม 2561) นายเรืองยศ เพ็งสกุล ประธานกลุ่มวิสาหกิจผู้แปรรูปยางพารารมควันภาคใต้ ซึ่งมีเครือข่ายประมาณ 200 โรง เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์ราคายางพาราได้ขยับขึ้นมาวันละ 1 บาท/กิโลกรัม (กก.) ซึ่งในกลุ่มมีการรับซื้อน้ำยางสดอยู่ที่ 36 บาท/กก. ซึ่งเดิมเคยประมาณการไว้ว่าราคาจะไหลลงมาอยู่ที่ 25 บาท/กก.

ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่ดันราคาขึ้น มาจากการที่รัฐบาลมีโครงการใช้ยางพาราภายในประเทศเพิ่มขึ้น เช่น โครงการนำน้ำยางสดมาทำถนนถนนยางพาราซอยล์ซีเมนต์ หรือถนนดินซีเมนต์ผสมยางพารา 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร กว่า 84,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ ประกอบกับภาคใต้มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถกรีดยางพาราได้ และอีก 3 เดือนข้างหน้าจะถึงฤดูกาลปิดหน้ายาง ซึ่งจะทำให้ยางพาราหดหายไปจากตลาดเป็นจำนวนมาก

“ทิศทางในปีถัดๆ ไป จึงมีแนวโน้มราคายางพาราจะขยับขึ้น จากนโยบายการเพิ่มใช้ยางพาราภายในประเทศ หากราคาได้ขยับขึ้นไปเท่ากับต้นทุนการผลิตที่ 63 บาท/กก.ตามที่ทางการกำหนด จะเป็นการดีมากต่อเศรษฐกิจไทย”


นายเรืองยศกล่าวอีกว่า ขณะนี้ทางกลุ่มชาวสวนยางพารากำลังดำเนินการ กรณีที่รัฐบาลให้การสนับสนุนช่วยเหลือ 1,800 บาท/ไร่ ปรากฏว่ากรณีสวนยางพาราที่โดนเป็นมรดกกับบุตร โดยบุตรไม่ได้ขึ้นทะเบียนสวนยางพาราไว้กับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ส่งผลให้จะไม่ได้สิทธิ์รับการสนับสนุนช่วยเหลือ 1,800 บาท/ไร่ โดยจะทำอุทธรณ์ให้ผู้ได้รับมรดกได้รับสิทธิ์ตรงนี้

ด้านนายดรีน ช่วยพริก เกษตรกรชาวสวนยางพารา บ้านด่านโลด ต.แม่ขรี อ.ตะโหมด จ.พัทลุง เปิดเผยว่า ขอเสนอแนะต่อทางการและพรรคการเมือง ทำแผนการเกษตรโดยการจัดโซนนิ่งแต่ละภาค โดยภาคเหนือทำการเกษตร เช่น ปลูกองุ่นและลำไยเป็นหลักสำคัญ สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือปลูกข้าว และภาคใต้ทำสวนยางพาราเป็นหลักสำคัญ ทั้งนี้โดยศึกษายึดรูปแบบการจัดทำผังเมือง

ที่มา : https://www.prachachat.net/local-economy/news-266400?fbclid=IwAR3fHvwVFDs8JS6lmLwbLuAGpdJL-cRM0C3mytcfue9Sw3LLk2EQl1emuks



















18/12/2018