จีนเลื่อนอันดับจากการเป็นคู่ค้ายางล้อของสหรัฐฯ ลงมาเป็นอันดับสอง


กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.  — เมื่อปีที่แล้ว แคนาดาเลื่อนขึ้นมาเป็นประเทศคู่ค้ายางล้ออันดับหนึ่งของสหรัฐฯ แทนจีน เนื่องจากมูลค่าการนำเข้ามายังสหรัฐฯ จากจีน ดิ่งลงเกือบร้อยละ 43 มูลค่า 1.52 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพราะผลกระทบจากการลดการนำเข้ายางล้อสำหรับผู้บริโภคมายังสหรัฐฯ สืบเนื่องจากการที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้ายางล้อสำหรับรถยนต์นั่งและรถบรรทุกขนาดเล็กจากจีน 

จากการวิเคราะห์ยางล้อปี 2016 ของ Tire Business ซึ่งได้ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ มูลค่าการนำเข้าจากแคนาดาก็ลดลงเช่นกัน แต่ลดลงเพียงร้อยละ 1.9 มูลค่า 1.59 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งปริมาณมีมากพอที่แคนาดาจะเลื่อนขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง  

โดยรวม มูลค่าการนำเข้าของสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปี 2015 ซึ่งสาเหตุหลัก เป็นเพราะการนำเข้ายางล้อรถยนต์นั่งและรถบรรทุกลดลง

มูลค่าการนำเข้าของสหรัฐฯ จากเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 มูลค่า 1.43 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเกาหลีใต้เป็นคู่ค้าอันดับสาม ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.2 มูลค่า 1.37 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการพุ่งสูงขึ้นร้อยละ 24.2 สำหรับยางล้อรถยนต์นั่ง และการนำเข้ายางล้อรถบรรทุก/รถประจำทางที่สูงขึ้นเกือบเท่าตัว เพราะผู้ผลิตจีนย้ายฐานการผลิตมายังไทย

มูลค่าการนำเข้าจากญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 18.6 มูลค่า 1.18 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้าเลื่อนลงมาเป็นอันดับห้าจากอันดับสามเมื่อปี 2015

อินโดนีเซีย เม็กซิโก และไต้หวัน เป็นตลาดนำเข้ายางล้อของสหรัฐฯ ที่สำคัญในอันดับต่อมา โดยมีมูลค่า 781.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 722.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 378.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ

ผลกระทบของการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ สำหรับยางล้อสำหรับผู้บริโภคของจีนเห็นได้อย่างชัดเจน โดยการส่งออกยางล้อรถยนต์และรถบรรทุกขนาดเล็กของจีนมายังสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 30.7 และ 22.5 ตามลำดับ เมื่อปีที่แล้ว เทียบกับปี 2015

ผลก็คือ จีนเลื่อนอันดับจากประเทศที่ส่งออกยางล้อรถยนต์มายังสหรัฐฯ เป็นอันดับสามจากอันดับหนึ่ง และยางล้อรถบรรทุกขนาดเล็ก ลงมาเป็นอันดับห้าจากอันดับสาม

ไทยครองอันดับต้นๆ ของประเทศที่ส่งออกยางล้อรถยนต์นั่งมายังสหรัฐฯ โดยแซงเกาหลีใต้ ไทยส่งออกยางล้อรถยนต์นั่งมายังสหรัฐฯ 23.8 ล้านเส้น เมื่อปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.2 จากปี 2015 และเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจาก 11.4 ล้านเส้น เมื่อปี 2014

บทบาทของไทยในฐานะเป็นแหล่งยางล้อของสหรัฐฯ จะสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากจำนวนโรงงานผลิตยางล้อในไทยที่เปิดเมื่อเร็วๆ นี้ และกำลังอยู่ในระหว่างก่อสร้าง ทั้งนี้ ในจำนวนโรงงานที่เปิดใหม่ มีโรงงานของบริษัท  Qindao Sentury Tire Co. Ltd. บริษัท Shandong Linglong Tire Co. Ltd. และบริษัท Zhongce Rubber Group Co. Ltd. ของจีนรวมอยู่ด้วย และเมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท Continental A.G. ของเยอรมนี และบริษัท  Shandong Yinbao Tyre Group Co. Ltd. ของจีน ได้เปิดเผยแผนที่จะสร้างโรงงานยางล้อในไทย และทั้งบริษัท Bridgestone Corp. และบริษัท Goodyear ได้ประกาศที่จะเพิ่มกำลังการผลิตยางล้อเครื่องบินในไทย ในขณะที่บริษัท Sumitomo Rubber Industries Ltd. และบริษัท Vee Rubber Co. Ltd. ก็กำลังขยายกำลังการผลิตเช่นกัน

ราคาเฉลี่ยของยางล้อรถยนต์จากไทย เมื่อปีที่แล้ว คือ 37.57 เหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2015 แต่ต่ำกว่าราคาเฉลี่ย 49.12 เหรียญสหรัฐฯ ของการนำเข้าทั้งหมดเกือบร้อยละ 24

ราคาเฉลี่ยของการนำเข้ายางล้อรถยนต์จากจีน เมื่อปีที่แล้ว ก็ลดลงเช่นกัน คือ ลดลงร้อยละ 17.3 ราคา 26.37 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำที่สุดในจำนวนประเทศที่นำเข้ามายังสหรัฐฯ 10 อันดับแรก

โดยรวม การนำเข้ายางล้อรถยนต์ของสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 2 เมื่อปีที่แล้ว เป็น 146.5 ล้านเส้น โดยสหรัฐฯ นำเข้าจาก 6 ใน 10 ประเทศหลักลดลง และเมื่อปีที่แล้ว ประเทศที่ไต่อันดับอย่างรวดเร็ว คือ เวียดนาม โดยส่งออกยางล้อมายังสหรัฐฯ มากกว่าปี 2015 ร้อยละ 41.9 (4.29 ล้านเส้น)

แคนาดายังเป็นประเทศที่ส่งออกยางล้อรถบรรทุกขนาดเล็กมายังสหรัฐฯ มากเป็นอันดับหนึ่ง เมื่อปีที่แล้ว แต่ไทยแซงหน้าเกาหลีใต้ โดยเพิ่มการส่งออกยางล้อรถบรรทุกขนาดเล็กมายังสหรัฐฯ เท่าตัว เมื่อปีที่แล้ว และอินโดนีเซียกระโดดมาเป็นอันดับสี่โดยเพิ่มการส่งออกเกือบสามเท่าเป็น 2.45 ล้านเส้น

โดยรวม การนำเข้ายางล้อรถบรรทุกของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 เมื่อปีที่แล้ว เป็น 27.9 ล้านเส้น ทั้งนี้ ยางล้อรถบรรทุกขนาดเล็กขยายตัวสูงสุดในสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว โดยเติบโตในตลาดหลังการขายและในการผลิตประเภท OE ร้อยละ 9.4 และ 12.3 ตามลำดับ

ในขณะที่ปริมาณการนำเข้ามายังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น แต่ราคาโดยเฉลี่ยลดลงร้อยละ 4.8 เป็นราคา 68.91 เหรียญสหรัฐฯ โดยราคามีความหลากหลายตั้งแต่ 51.04 เหรียญสหรัฐฯ (เวียดนาม) จนถึง 94.31 เหรียญสหรัฐฯ (ไต้หวัน)

จีนยังคงเป็นประเทศนำเข้ายางล้อรถบรรทุก/รถประจำทางของสหรัฐฯ มากป็นอันดับหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว ถึงแม้จะลดลงร้อยละ 14.4 เป็น 7.63 ล้านเส้นก็ตาม การนำเข้าโดยรวมลดลงเช่นกัน โดยลดลงร้อยละ 3.8 เป็น 13.9 ล้านเส้น

ตามที่ได้กล่าวแล้ว ไทยส่งออกยางล้อรถบรรทุก/รถประจำทางมายังสหรัฐฯ พุ่งขึ้นร้อยละ 98.7 เป็น 1.82 ล้านเส้น ส่วนแคนาดา ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ อยู่อันดับสามจนถึงอันดับห้า โดยเกาหลีใต้ส่งออกมายังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 85.1 ปริมาณ 421,239 เส้น

ราคาเฉลี่ยของยางล้อรถบรรทุก/รถประจำทาง ปีที่แล้ว คือ 141.87 เหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 12.1 จาก 161.36 เหรียญสหรัฐฯ เมื่อปี 2015 ซึ่งราคามีความหลากหลาย ตั้งแต่ 96.12 เหรียญสหรัฐฯ (ไทย) จนถึง 306.98 เหรียญสหรัฐฯ (อิตาลี)

ปีที่แล้ว สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ายางล้อมูลค่า 10 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับ 9.69 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อปี 2015 โดยส่งออกมูลค่า 2.54 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และนำเข้ามูลค่า 12.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

แคนาดา เม็กซิโก และออสเตรเลียเป็นประเทศสามอันดับแรกที่สหรัฐฯ ส่งออกยางล้อ โดยทั้งสามประเทศรวมกันมีสัดส่วนเกือบสามในสี่ของการส่งออกของสหรัฐฯ

ในจำนวนคู่ค้าหลักของสหรัฐฯ สหรัฐฯ เกินดุลการค้ากับประเทศเดียว คือ เม็กซิโก โดยเม็กซิโกนำเข้ายางล้อจากสหรัฐฯ มูลค่า 887.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว และส่งออกยางล้อมายังสหรัฐฯ มูลค่า 781.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนออสเตรเลียเป็นประเทศที่สหรัฐฯ ส่งออกยางล้อเป็นอันดับสอง มูลค่า 261.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ที่มา: http://www.tirebusiness.com/article/20170314/NEWS/170319970/-china-slides-to-no-2-u-s-tire-trading-partner วันที่ 14 มีนาคม 2017



















21/03/2017