รายงานของสหภาพยุโรปพบความเสี่ยงที่ต่ำมากในการใช้ยางรีไซเคิลสำหรับสนามเล่นกีฬา


กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์  - เมื่อเดือนมิถุนายน 2016 คณะกรรมาธิการยุโรปได้ขอให้องค์การจัดการสารเคมีแห่งสหภาพยุโรป (European Chemical Agency หรือ ECHA) ประเมินความเสี่ยงที่มีต่อสาธารณชน ซี่งรวมเด็ก นักกีฬาอาชีพ และคนงานที่ติดตั้งหรือบำรุงรักษาสนามเล่นกีฬา องค์การ ECHA ได้ประเมินความเสี่ยงของสารในยางรีไซเคิลที่ใช้สำหรับสนามเล่นกีฬา ซึ่งจากหลักฐานที่ได้รับ องค์การ ECHA สรุปว่า ความกังวลสำหรับผู้เล่นในสนามดังกล่าว ซึ่งรวมเด็กและคนงานที่ติดตั้งและบำรุงรักษาสนามมีน้อยมาก อย่างไรก็ตาม องค์การ ECHA จะทบทวนการประเมินหากได้รับข้อมูลใหม่ๆ ทั้งนี้ ในเม็ดยางรีไซเคิล (recycled rubber granules) มีสารอันตรายบางชนิด เช่น โพลิไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (PAHs) โลหะ พทาเลท สารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) และสารอินทรีย์ระเหยง่ายปานกลาง (SVOCs) ดังนั้น องค์การ ECHA จึงได้พิจารณาการสัมผัสกับสารดังกล่าวผ่านทางผิวหนัง การได้รับสาร และการหายใจเอาสารเข้าไป อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่มีอยู่ องค์การ ECHA มีข้อสรุปดังนี้

-          มีความกังวลในระดับที่ต่ำมากสำหรับการสัมผัสเม็ดยางรีไซเคิล

-          ความกังวลเกี่ยวกับการเกิดมะเร็งในช่วงชีวิตมีความเป็นไปได้ต่ำมาก จากความเข้มข้นของ PAHs ซึ่งโดยปกติจะวัดในสนามแข่งกีฬาในยุโรป

-          ความกังวลเกี่ยวกับโลหะก็ต่ำ จากข้อมูลของระดับที่ต่ำกว่าข้อกำหนดที่อนุญาตในกฎหมายเกี่ยวกับของเล่นเด็กในปัจจุบัน

-          ไม่มีความกังวลเกี่ยวกับความเข้มข้นของพทาเลท เบนโซไทอาโซล และเมทธิล ไอโซบิวทิล คีโตน เพราะมีระดับความเข้มข้นต่ำเกินไปกว่าที่จะก่อปัญหาด้านสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม มีรายงานออกมาว่า สารอินทรีย์ระเหยง่ายที่ระเหยจากเม็ดยางในสนามกีฬาในร่ม อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อตาและ

ผิวหนัง ซึ่งในรายงานการประเมินขององค์การ ECHA นั้น ความเข้มข้นของ PAHs ในเม็ดยางรีไซเคิลต่ำกว่าข้อกำหนดสำหรับสารก่อมะเร็ง สารก่อการกลายพันธุ์ และสารที่เป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ (CMR) มาก ตามกฎระเบียบ REACH ถึงกระนั้น องค์การ ECHA ยังเน้นความไม่แน่ใจหลายประการในการประเมินของตน จึงได้เสนอให้มีการดำเนินการดังต่อไปนี้

-          พิจารณาปรับกฎระเบียบ REACH เพื่อเป็นหลักประกันว่า เม็ดยางมีความเข้มข้นของ PAHs และสารอันตรายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องน้อยมาก

-          เจ้าของและผู้บริหารสนาม (ทั้งภายนอกและภายในอาคาร) ควรวัดความเข้มข้นของ PAHs และสารอื่นๆ ในเม็ดยางที่ใช้ในสนามของตน และสื่อสารข้อมูลดังกล่าวไปยังผู้เกี่ยวข้องให้เข้าใจ

-          ผู้ผลิตเม็ดยางหรือองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ควรจัดทำคู่มือเพื่อช่วยให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าสนามทำจากยางรีไซเคิลทุกราย ทำการทดสอบวัสดุของตน

-          สมาคมกีฬาและสมาคมฟุตบอลของยุโรปควรร่วมมือกับผู้ผลิตสนามหญ้าที่ทำจากเม็ดยาง เพื่อสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยของเม็ดยางในสนามหญ้าเทียมไปยังผู้เล่นกีฬาและสาธารณชนให้เข้าใจ

-          เจ้าของและผู้บริหารสนามหญ้าเทียมที่ทำจากเม็ดยางรีไซเคิลภายในอาคาร ต้องจัดให้มีการถ่ายเทอากาศอย่างเพียงพอ

-          นอกจากนี้ องค์การ ECHA ยังเสนอให้ผู้ที่เล่นกีฬาบนสนามหญ้าเทียมที่ทำจากเม็ดยางรีไซเคิล ใช้มาตรการสุขอนามัยขั้นพื้นฐานหลังการเล่น

การประเมินขององค์การ ECHA ได้ถูกส่งไปยังคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวเป็นผลเบื้องต้นและจะมีการปรับเมื่อมี

ข้อมูลใหม่ๆ ออกมา

 

ที่มา: http://www.rubberworld.com/ วันที่ 2 มีนาคม 2017



















03/03/2017